แพลตฟอร์มออนไลน์ OnlyFans กำลังเผชิญกับประเด็นทางกฎหมาย โดยตกเป็นจำเลยในคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มด้วยข้อหาหลอกลวงทางอารมณ์ เนื่องจากผู้ใช้บริการค้นพบว่าผู้สร้างคอนเทนต์ที่พูดคุยด้วยอาจไม่ใช่บุคคลนั้นจริง เล็งเรียกร้องค่าเสียหายทั้งทางอารมณ์และการเงิน
ชาย 2 คนจากรัฐอิลลินอยส์ ได้แก่ M. Brunner และ J. Fry ได้ยื่นฟ้องบริษัทแม่ของ OnlyFans คือ Fenix International Limited และ Fenix Internet LLC โดยกล่าวหาว่าทั้ง 2 ถูกหลอกให้เชื่อว่ากำลังพูดคุยกับผู้สร้างคอนเทนต์โดยตรง แต่ภายหลังพบว่าเป็นเพียง "แชตเตอร์" หรือนักแชตผู้พูดคุยแทน ที่ถูกจ้างโดยบริษัทตัวแทนภายนอก
โจทก์ทั้ง 2 อ้างว่าได้สมัครสมาชิกภายใต้ความเข้าใจผิด ทำให้ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งทางอารมณ์และการเงิน เนื่องจากเชื่อมั่นว่ากำลังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้สร้างคอนเทนต์ จนกระทั่งพบความไม่สอดคล้องในข้อความที่ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมา
ประเด็นสำคัญของคดีนี้ไม่ใช่การใช้แชตเตอร์นักพูดคุยแทน ซึ่งเป็นเรื่องปกติบนแพลตฟอร์มที่ผู้สร้างคอนเทนต์จ้างผู้อื่นมาช่วยจัดการปริมาณข้อความจำนวนมาก แต่คดีนี้จะเป็นสปอตไลท์เรื่องการขาดความโปร่งใสที่กำลังถูกตรวจสอบ ซึ่งฝั่งโจทก์อ้างว่ายอมแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวและจ่ายเงินซื้อคอนเทนต์เฉพาะบุคคลโดยเข้าใจผิดว่าผู้ที่อยู่ปลายทางเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ทำให้คดีนี้ระบุว่าเป็นการดำเนินธุรกิจที่หลอกลวงและละเมิดความไว้วางใจของผู้บริโภค
นี่ไม่ใช่การฟ้องร้องทางกฎหมายครั้งแรกของบริษัท ย้อนไปในเดือนกรกฎาคม 2024 ผู้ใช้ OnlyFans อีก 5 คนได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มในลักษณะคล้ายกันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกขานว่า "การหลอกลวงของแชตเตอร์" คดีเหล่านั้นคาดว่าจะขึ้นศาลภายในปี 2027 และผลกระทบของคดีฟ้องร้องเหล่านี้อาจมีแรงกระเพื่อมในระยะยาวต่อวิธีที่แพลตฟอร์มสมาชิก จะต้องจัดการกับการเปิดเผยข้อมูลและความคาดหวังของผู้ใช้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางดิจิทัล
ฝ่าย OnlyFans ได้ชี้แจงว่าผู้สร้างคอนเทนต์ได้รับอนุญาตให้ทำงานร่วมกับบริการภายนอกได้หากต้องการ และแพลตฟอร์มเองไม่ได้จัดการหรือรับรองความสัมพันธ์เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยกประเด็นคำถามที่ใหญ่กว่าเกี่ยวกับเส้นแบ่งที่บางมากระหว่างจินตนาการกับความตั้งใจฉ้อโกงบนแพลตฟอร์ม ที่จะยิ่งมีรายได้มากขึ้นจากความเหนียวแน่นของกลุ่มแฟนคลับ
สำหรับ OnlyFans นั้นเป็นชื่อที่อาจทำให้บางคนนึกถึงคอนเทนต์วาบหวิว แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มเท่านั้น ก่อนหน้านี้ นักร้องนักแสดงอย่าง "เบียร์ เดอะวอยซ์" เคยประกาศเตรียมเข้าร่วมแพลตฟอร์มนี้ จนทำให้คนไทยตื่นตัว และหันมาทำความรู้จัก OnlyFans ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถสร้างรายได้จากคอนเทนต์ของตัวเองได้ในไม่กี่ขั้นตอน และมีระบบยืนยันตัวตนที่ปลอดภัย มาพร้อมเครื่องมือรับเงินที่ใช้งานง่ายไม่แพ้แอปธนาคาร
ในฝั่งของผู้ติดตาม นั้นสามารถสมัครเป็นสมาชิกรายเดือน หรือเลือกซื้อคอนเทนต์แบบครั้งเดียวก็ได้ตามงบในกระเป๋า พร้อมระบบความปลอดภัยแน่นหนา ทั้งการเข้ารหัสข้อมูล การห้ามแคปหน้าจอ รวมถึงฟีเจอร์ลบประวัติการชมแบบไม่ทิ้งร่องรอย
ปัจจุบัน OnlyFans เป็นเวทีสร้างตัว และเป็นพื้นที่ส่องคอนเทนต์ที่ใช่ของผู้ใช้งานมากกว่า 240 ล้านคนทั่วโลก และสร้างรายได้สะพัดกว่า 6.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023-2024 ที่ผ่านมา.