รู้จัก "โอนลีแฟนส์" (OnlyFans) มากขึ้นในวันที่ "เบียร์ เดอะวอยซ์" ประกาศเตรียมทำ OnlyFans ใครสนใจสามารถเรียนรู้ขั้นตอนเป็นครีเอเตอร์ได้ในไม่กี่ขั้นตอน ส่วนผู้ติดตามนั้นอาจไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิกยาว เพราะสามารถเลือกซื้อคอนเทนต์แบบครั้งเดียวก็ได้
***OnlyFans ใครใช้บ้าง?
OnlyFans คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้จากคอนเทนต์โดยตรง ก่อตั้งในปี 2016 โดยทิโมธี สโตเคลีย์ (Timothy Stokely) ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 240 ล้านคน และครีเอเตอร์กว่า 3.2 ล้านคนทั่วโลก
สำหรับผู้ที่สนใจเป็นครีเอเตอร์ ขั้นตอนการสมัครนั้นง่ายมาก เพียงมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีบัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐบาล เมื่อเข้าสู่กระบวนการสมัคร จะต้องถ่ายภาพเซลฟี่เพื่อยืนยันตัวตน และตั้งค่าบัญชีธนาคารสำหรับรับเงิน
รูปแบบการสร้างรายได้บน OnlyFans นั้นไม่ซับซ้อน สามารถแบ่งกลุ่มได้ 3 ส่วนแบบหลวมๆ ได้แก่ 1.ค่าสมาชิกรายเดือน ซึ่งเจ้าของช่องสามารถกำหนดราคาได้ตั้งแต่ $4.99 ถึง $49.99 (ราว 173-1,735 บาท) ซึ่งครีเอเตอร์จะได้รับส่วนแบ่ง 80% จากค่าสมาชิก
2.การขายคอนเทนต์แบบครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นการขายวิดีโอ รูปภาพ หรือคอนเทนต์พิเศษ เจ้าของมีอิสระในการกำหนดราคาเต็มที่ รูปแบบนี้ถือเป็นกลุ่มรายได้ที่มีอนาคตมาก เพราะรายงานล่าสุดชี้ว่ารายได้ 60% ของผู้สร้าง OnlyFans มาจากการซื้อครั้งเดียว ไม่ใช่จากการสมัครสมาชิก
3.ข้อความส่วนตัวและทิป โดยครีเอเตอร์จะสามารถรับทิปจากผู้ติดตามได้สูงถึง $200 (ราว 6,944 บาท) และคิดค่าข้อความพิเศษได้ถึง $100 (ราว 3,472 บาท)
สิ่งที่ถูกส่งต่อในฐานะเคล็ดลับสำหรับครีเอเตอร์ที่ต้องการสร้างรายได้บน OnlyFans คือการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และต้องเน้นเรื่องความสม่ำเสมอในการโพสต์ ซึ่งนอกจากจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ครีเอเตอร์จะต้องใส่ใจคุณภาพของภาพและวิดีโออยู่เสมอ
ในอีกด้าน ครีเอเตอร์จะต้องบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งการวางแผนการสร้างคอนเทนต์ล่วงหน้า พร้อมกับตั้งราคาที่เหมาะสมกับตลาด และต้องไม่ลืมรักษาความสัมพันธ์กับผู้ติดตามให้เหนียวแน่น
***อยากซัปต้องเตรียมเงิน
สำหรับผู้ที่สนใจเป็นผู้ติดตาม วิธีการสมัครสมาชิกคือการลงทะเบียนและยืนยันอายุ จากนั้นจะมีช่องทางเลือกครีเอเตอร์ที่สนใจ เลือกแพกเกจสมาชิก และตั้งค่าการชำระเงิน
รูปแบบการติดตาม OnlyFans สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มเหมือนรูปแบบการสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ ได้แก่ 1.สมาชิกรายเดือน สมาชิกจะสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ทั้งหมดของครีเอเตอร์ สนนราคาแตกต่างกันตามแต่ละครีเอเตอร์ ทั้งหมดจะต่ออายุอัตโนมัติทุกเดือน
2.การซื้อคอนเทนต์แบบครั้งเดียว สามารถเลือกซื้อเฉพาะคอนเทนต์ที่สนใจ ไม่ต้องผูกมัดรายเดือนในราคาตามที่ครีเอเตอร์กำหนด
3.การให้ทิปและส่งข้อความ แฟนจะสามารถสนับสนุนครีเอเตอร์ผ่านระบบทิป และซื้อข้อความพิเศษได้
การซื้อขายบน OnlyFans เกิดขึ้นอย่างสบายใจบนระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็ง ในส่วนของการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ OnlyFans มีระบบป้องกันการบันทึกภาพหน้าจอ และมีทีม DMCA ดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะเดียวกันก็มีโทษแบนผู้ใช้ที่ละเมิดกฎอย่างจริงจัง
ในมุมของการปกป้องข้อมูลส่วนตัว OnlyFans พยายามชูเรื่องระบบการยืนยันตัวตนที่ปลอดภัย และมีการเข้ารหัสข้อมูลการชำระเงิน พร้อมกับมีการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งมีปุ่มให้ลบประวัติการซื้อคอนเทนต์ออกแบบหมดจด ทำให้ไม่หลงเหลือรอยเท้าไว้ให้ใครจับได้
*** OnlyFans เงินสะพัดพันล้าน
สถิติที่น่าสนใจของ OnlyFans คือรายได้รวมปี 2023 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 6.3 พันล้านดอลลาร์ โดย OnlyFans จ่ายส่วนแบ่งให้ครีเอเตอร์รวมกว่า 5.3 พันล้านดอลลาร์
ที่สำคัญ อัตราการเติบโตของการขายแบบครั้งเดียวบน OnlyFans นั้นคิดเป็น 70% (เปรียบเทียบปี 2021-2023 โดยสัดส่วนรายได้จากการขายครั้งเดียว vs ค่าสมาชิกนั้นอยู่ที่ 59/41
แม้ทุกอย่างจะดูสวยหรู แต่สิ่งที่ควรพิจารณาในมุมครีเอเตอร์ คือการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การสร้างคอนเทนต์ที่โดนใจนั้นยังมีความท้าทาย นอกจากนี้ OnlyFans ยังต้องการแผนสร้างคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ และการบริหารจัดการภาพลักษณ์ที่ดีด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครบางคน
ถามว่าผู้ติดตามต้องระวังอะไร? สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการพิจารณางบประมาณในกระเป๋า และต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลให้ดี นอกนั้นคือปัญหาเล็กๆ อย่างการเลือกครีเอเตอร์ให้ตรงกับความสนใจ ซึ่งถ้าเลือกถูก ก็จะสบายใจ สบายตา และสบายตัว
ทั้งหมดนี้ OnlyFans จึงไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้สำหรับครีเอเตอร์ แต่ยังมอบประสบการณ์ที่คุ้มค่าสำหรับผู้ติดตามด้วย ดังนั้น อย่าลืมทำความเข้าใจระบบและวิธีการใช้งานอย่างละเอียด เพราะจะช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มได้อย่างเต็มที่
ขอให้โชคดีกับ OnlyFans นะจ๊ะ