HUAWEI มองการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย จะช่วยผลักดันให้เกิดการนำ AI ไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มการใช้งานจะเจาะลึกลงไปตอบโจทย์ในแต่ละภาคธุรกิจแบบเฉพาะทางมากขึ้น ชี้ไทยยังขาดบุคลากรที่จะมาช่วยเสริมอีโคซิสเต็มเพื่อรองรับการเติบโตของคลาวด์ และ AI
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวย้อนไปถึงในปี 2015 ที่ธุรกิจคลาวด์เริ่มเข้ามาให้บริการในไทย ในลักษณะของเวอร์ชวลคลาวด์ ได้เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
“หัวเว่ย เชื่อว่าการมีเพียงเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้แข่งขันได้ แต่ยังต้องพึ่งพาทักษะของบุคลากรในประเทศที่จะประยุกต์ใช้งานเพื่อสร้างความแตกต่างตามเป้าหมายของแต่ละองค์กรได้ ซึ่งหัวเว่ย จะเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปใช้งานต่อยอด”
ที่ผ่านมา หัวเว่ยนับเป็นบริษัทที่มีการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนาอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยการแบ่งสัดส่วนรายได้ราว 20-25% ไปใช้ในส่วนนี้ และมั่นใจว่าการวิจัยและพัฒนาจะช่วยให้เกิดนวัตกรรม เพื่อตอบรับกับอัตราเร่งในการใช้งานหลังยุคของการแพร่ระบาดนี้
สำหรับเทคโนโลยีสำคัญที่จะมาช่วยเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมในเวลานี้ หนีไม่พ้นคลาวด์ และ AI ที่จะกลายเป็นองค์ประกอบเบื้องหลังเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในการเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เทคโนโลยียุคเก่าไม่สามารถทำได้ และยิ่งมีการใช้งาน AI มากเท่าไหร่ ธุรกิจคลาวด์จะเติบโตมากขึ้นเท่านั้น
ส่วนสำคัญที่สุดคือ การที่ HUAWEI ให้ความสำคัญกับการลงทุนให้ไทยเป็น Tech Enabler ช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ประเทศต่างๆ โดยเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของอีโคซิสเต็มในประเทศ ด้วยการอัปสกิลบุคลากรและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กลุ่มต่างๆ เช่น System Integrator (SI), Startup และองค์กรขนาดใหญ่
“การวัดความสำเร็จของหัวเว่ยในไทย ไม่ได้พิจารณาจากยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตระยะยาว”
โดยที่ผ่านมา HUAWEI ได้เริ่มโครงการอย่าง HUAWEI Academy เพื่อสนับสนุนการอัปสกิลของนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะเพิ่มปริมาณนักศึกษาเพื่อที่จะเพิ่มแรงงานดิจิทัลออกสู่ตลาดในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน หัวเว่ย มีธุรกิจที่ให้บริการเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) คลาวด์ (Cloud) องค์กร (Enterprise) พลังงานดิจิทัล (Digital Power) และในฝั่งของคอนซูเมอร์ ซึ่งกลายเป็นว่ารายได้ของหัวเว่ย ไม่ได้มาจาก S Curve เดียว แต่มีการขยายโซลูชันในหลากหลายภาคส่วน