xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาคดี "ซิงซิง" ลวงออนไลน์ปี 68 ยิ่งหลอกยิ่งโหด (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อาชญากรรมออนไลน์ก็พัฒนาตามไปด้วยความซับซ้อนที่น่าตกใจ กรณีล่าสุดคือ ดาราจีน “ซิงซิง” (Mr.XingXing หรือ WangXing) ที่ถูกหลอกมาประเทศไทยและถูกนำตัวข้ามแดนไปพม่าจนเป็นข่าวใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่แก๊งมิจฉาชีพใช้หลอกลวงเหยื่อ

เทคโนโลยีที่มิจฉาชีพใช้ในปัจจุบันมีความซับซ้อนหลายระดับ ตั้งแต่การปลอมแปลงตัวตนดิจิทัล การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลจากแหล่งต่างๆ มาสร้างความน่าเชื่อถือ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยี AI และ Deep Learning ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกลวงให้เหมาะกับแต่ละคน ซึ่งสาเหตุที่ผู้คนยังตกเป็นเหยื่อแม้จะมีการเตือนภัย คือการใช้จิตวิทยาชั้นสูง ความสมจริงของการหลอกลวง และการเล็งเป้าหมายที่แม่นยำ

สำหรับกรณีของซิงซิง เราสามารถวิเคราะห์และเรียนรู้เรื่องการหลอกลวงออนไลน์ในเชิงเทคโนโลยีได้หลายประเด็น โดยเฉพาะรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระบุว่าพม่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีเครือข่ายหลอกลวงทางออนไลน์ แปลว่าพม่าเป็นร้านลับที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ดีแบบซ่อนไว้ เนื่องจากแก๊งมิจฉาชีพต้องการพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตที่ดีพอสมควร ต้องมีระบบไฟฟ้าที่เสถียร ต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่รองรับการทำงานพร้อมกันหลายคน และ “ฝ่ายไอที” ของแก๊งนั้นเก่งกาจมากเรื่องความสามารถในการซ่อนที่อยู่ IP หรือปลอมแปลงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (IP Spoofing)

ในส่วนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายงานจากศูนย์ AOC 1441 หรือ Anti Online Scam Operation Center พบว่าภัยจากเสียงโทรศัพท์ที่แอบอ้างล่อลวงผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนั้นเป็น 1 ใน 5 เคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากคดีลวงออนไลน์ล่าสุด (6-12 มกราคม 2568) ซึ่งมีความเสียหายรวมกว่า 20 ล้านบาท



***ปี 68 ยิ่งก้าวหน้า ยิ่งซับซ้อน

การจะไล่ตามภัยคอลเซ็นเตอร์ปี 2568 ให้ทัน อาจจะต้องเริ่มที่การเรียนรู้วิธีการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งจากกรณีของซิงซิง การล่อลวงเหยื่อของแก๊งนี้ทำผ่านเทคโนโลยีข้ามพรมแดนที่สามารถส่งข้อมูล ทำธุรกรรมข้ามประเทศ และมีระบบการโอนเงินที่ซับซ้อนผ่านหลายประเทศ มีการใช้เครือข่าย VPN และ proxy servers เพื่อปกปิดตัวตน แถมยังมีการใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสในการสื่อสารด้วย

“ซิงซิง” นักแสดงหนุ่มชาวจีนผู้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกจากสนามบินสุวรรณภูมิไป จ.ตาก และข้ามเข้าพม่าเมื่อ 2-7 มกราคม 2568
สิ่งที่เรารู้คือแก๊งมิจฉาชีพมีระบบการทำงานแบบองค์กร โดยไม่เพียงมีระบบ CRM หรือฐานข้อมูลเหยื่อที่ซับซ้อน แต่ยังมีซอฟต์แวร์จัดการทีมและติดตามผลงาน มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารภายในองค์กรที่ปลอดภัย ไม่แน่อาจจะมีระบบสำรองข้อมูลและกู้คืนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพด้วย

นอกจากเทคโนโลยี แก๊งใจร้ายยังใช้ประโยชน์จากความแตกต่างของกฎหมายในแต่ละประเทศ คู่ไปกับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ยากต่อการติดตามและตรวจสอบ ทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายไซเบอร์ที่อ่อนแอ

มาถึงปี 68 พัฒนาการเทคโนโลยีหลอกลวงมีตั้งแต่การใช้ AI ในการสร้างบทสนทนาที่น่าเชื่อถือ การใช้ Deep Learning ในการวิเคราะห์พฤติกรรมเหยื่อ การสร้างเว็บไซต์และแอปพลิเคชันปลอมที่ดูเหมือนของจริง และการใช้เทคโนโลยี Social Engineering ขั้นสูง

ความรู้เหล่านี้สำคัญต่อการพัฒนามาตรการป้องกัน รวมถึงการออกแบบระบบตรวจจับภัยคุกคาม ทั้งการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้ และการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันตัวเอง

***หลอกออนไลน์อาละวาดไทย



จากรายงานของศูนย์ AOC 1441 พบว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็น 1 ใน 5 คดีหลอกลวงออนไลน์ที่ได้รับแจ้งในไทยช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2568 โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อ้างเป็นตำรวจ ข่มขู่เรื่องขายบัญชีม้า และมีการหลอกให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ พร้อมอ้างว่าจะคืนให้พร้อมค่าชดเชยนั้นสร้างความเสียหาย 1.7 ล้านบาท ในขณะที่ความเสียหายรวม 5 ภัยนั้นทะลุหลัก 20 ล้านบาทไปเรียบร้อย 



ภัยออนไลน์อื่นที่มีการรับแจ้งในสัปดาห์นี้ คือ ภัยหลอกทำงานผ่าน Facebook และ Line โดยหลอกให้มีการกดไลก์เพจแลกค่าตอบแทน ซึ่งจากช่วงแรกที่ถอนเงินได้จริง แต่ต่อมาอาจถูกหลอกให้โอนเงินเพิ่มโดยอ้างว่าจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ภัยนี้เสียหาย 10.6 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีภัยหลอกลงทุนหุ้นผ่าน Facebook และ Line โดยเมื่อเหยื่อติดตั้งแอปเทรดหุ้นแล้วช่วงแรกจะถอนเงินได้ แต่เมื่อลงทุนเพิ่มกลับถอนไม่ได้ บนข้ออ้างว่ายังเทรดไม่ครบตามเงื่อนไข ภัยนี้เสียหายรวม 6.4 ล้านบาท 

อีกภัยที่น่าสนใจคือการหลอกรับค่าชดเชยพัสดุเสียหาย โดยอ้างเป็น Flash Express ให้เหยื่อสแกน QR Code และสแกนใบหน้า ทำให้เงินในบัญชีถูกโอนออกทั้งหมด เสียหายรวม 1.4 ล้านบาท




ที่สุดแล้ว ศูนย์ AOC 1441 แนะนำว่าประชาชนควรยึดหลัก “4 ไม่” คือ ไม่กดลิงก์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ และไม่โอน โดยควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของธุรกิจก่อนลงทุน และควรสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสายด่วน AOC 1441 ทั้งหมดนี้ต้องระวังการให้ข้อมูลส่วนตัวกับคนแปลกหน้าในโซเชียลมีเดีย และไม่ดาวน์โหลดแอปหรืออัปโหลดข้อมูลจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

หากทำไม่ได้ คดี "ซิงซิง" อาจเป็นเพียงคดีกลางแถว เพราะจะมีอีกหลายคดีเกิดขึ้นใหม่เพิ่มอีกไม่รู้จบ ท่ามกลางพัฒนาการไม่หยุดยั้งของภัยหลอกลวงออนไลน์ปี 68


กำลังโหลดความคิดเห็น