xs
xsm
sm
md
lg

ส่องรีวิวสับเละแอป Fineasy สรุปต้นตอและวิธีป้องกันไม่ให้แอปดาวน์โหลดเองในมือถือ Android

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งตื่นตัวจากเคสของ Oppo และ Realme ที่ออกแถลงการณ์ขออภัยต่อกรณีการแอบติดตั้งแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินอย่าง "ฟินอีซี" (Fineasy) ไว้ในโทรศัพท์มือถือโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว แต่บนร้านแอปสโตร์นั้นมีการรีวิวแอปให้คะแนน 1 ดาวจำนวนมากเพื่อเตือนภัยผู้ใช้ทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2023

Fineasy ระบุว่าตัวเองเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดเงินได้ผ่านบริการคูปองและการเงิน ผู้ใช้สามารถรับโบนัสและคูปองที่มีราคาสุดเหมาะจากตลาดออนไลน์ และใช้บริการการเติมเงินที่รวดเร็วและปลอดภัย สะดวกสบายด้วยการชำระเงินและการเติมเงินผ่านการใช้บัตร NFC
รีวิว 1 ดาวข้อความแรกที่บรรยายความไม่ดีของ Fineasy แบบฉ่ำๆ มาจากผู้ใช้ชื่อ L.ZH ซึ่งเล่าไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม 2023 ว่าแอป Fineasy ปรากฏขึ้นในรายการแอปของโทรศัพท์มือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ใช้ไม่สามารถถอนการติดตั้งได้ และเมื่อเป็นแอปเกี่ยวข้องกับการเงินและการกู้ยืม ก็ยิ่งทำให้ดูเหมือนเป็นแอปฟิชชิ่งหลอกลวง ทำให้รู้สึกกลัวและกังวลว่าแอปนี้กำลังเก็บข้อมูลส่วนตัวไป

ผู้ใช้รายนี้เชื่อว่าแอปพลิเคชันควรติดตั้งด้วยการอนุญาตจากผู้ใช้เท่านั้น และจากความตั้งใจเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งหมดไปใช้ Oppo แต่ในที่สุด L.ZH ได้เปลี่ยนใจ โดยปิดการใช้งานแอปนี้แล้ว และต้องการให้แอป Fineasy ถูกปิดการใช้งานและลบออกจากอุปกรณ์ เบ็ดเสร็จแล้วความเห็นของ L.ZH ได้รับการโหวตว่ามีประโยชน์จากผู้คน 980 คน

รีวิว 1 ดาวข้อความแรกที่บรรยายความไม่ดีของ Fineasy แบบฉ่ำๆ จากผู้ใช้ชื่อ L.ZH วันที่ 4 ธันวาคม 2023
จากนั้น รีวิว 1 ดาวจำนวนมากก็ปรากฏขึ้น ตัวอย่างเช่นผู้ใช้ชื่อ Ronald Brian Omandam ที่เล่าว่าไม่ได้ใช้แอป Fineasy และได้รีเซ็ตโทรศัพท์รวมถึงลบแอปนี้ออกไปแล้ว แต่ยังได้รับการแจ้งเตือนอยู่ ทำให้รู้สึกรำคาญมาก และเมื่อขอให้ลบบัญชีแต่เรื่องถูกส่งไปที่บัญชีบริการ HeyTap Cloud ทำให้ภาพความเสี่ยงต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวชัดขึ้น

ขณะที่ผู้ใช้ชื่อ FAZLI YUSOFF ระบุว่าแอป Fineasy น่าสงสัยมาก โดยแอปถูกติดตั้งมาแต่แรกบนโทรศัพท์ Realme ผ่านการอัปเดตซอฟต์แวร์ล่าสุด ผู้ใช้รายนี้จึงเตือนภัยผู้ที่ใช้รุ่น Realme 7 Pro หรือต่ำกว่า จงอย่าอัปเดตโทรศัพท์ถ้าไม่อยากให้แอป Fineasy มาอยู่ในโทรศัพท์


ด้านผู้ใช้ชื่อ Mel L ระบุว่าสิ่งที่น่ารำคาญที่สุดคือ Fineasy ไม่ยอมถูกปิดการใช้งาน และเปิดขึ้นมาเองเมื่อมีการเปิดหน้าจอ และผู้ใช้ชื่อ Gerry Flynn เชื่อว่า Fineasy มีความสามารถในการคัดลอกรายละเอียดบัตรที่ใช้สำหรับการชำระเงินด้วยเทคโนโลยี NFC หรือ Near field communication ที่เป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายระยะสั้น

***"เงิน" ทำให้ Fineasy ติดตั้งอัตโนมัติ?

หนึ่งในคำถามที่ผู้รีวิว Fineasy สงสัย คือทำไม Fineasy จึงติดตั้งได้เอง เรื่องนี้ "มริดุล มาฮาจัน" (Mridul Mahajan) วิศวกรพัฒนาซอฟต์แวร์ในอินเดีย เคย โพสต์บทความไว้บนเครือข่ายสังคม LinkedIn ตั้งแต่ปี 2020 ว่าเหตุผลที่บางแอปพลิเคชันมีอิทธิฤทธิ์ดาวน์โหลดหรือติดตั้งตัวเองบนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) คือเพราะ "คนทำ" จะได้รับเงินรายได้จากสถานการณ์นี้

มาฮาจันขยายความว่า ในทุกนาทีที่มีการออนไลน์ รวมถึงในทุกแอปที่มีการติดตั้ง รวมถึงในทุกโฆษณาที่มีการมองเห็น จะล้วนมีคนได้เงินจากสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าใครจะใช้โซเชียลมีเดีย ท่องเว็บ อ่านบทความ หรือแม้แต่เข้าเว็บ "แปลกๆ" เพื่อ "ค้นคว้า" เราอาจไม่ได้จ่ายเงินโดยตรง แต่จะมีคนได้เงินทุกครั้งที่มีการใช้งาน

บล็อกการติดตั้งแอปจากแหล่งที่ไม่รู้จัก (Unknown Sources)
"ดังนั้น นักพัฒนาบางคนจึงเขียนสคริปต์เล็กๆ ไว้ในเว็บไซต์ของพวกเขา เพื่อให้มือถือคุณดาวน์โหลดแอปหรือไฟล์ .apk โดยอัตโนมัติทันทีที่คุณเข้าเว็บ แน่นอนว่าคุณสามารถถอนการติดตั้งได้ในภายหลัง แต่มันก็น่ารำคาญแน่นอน"

***7 วิธีป้องกันได้

มาฮาจันบอกว่ามีวิธีป้องกันถึง 7 วิธี วิธีแรกคือบล็อกการติดตั้งแอปจากแหล่งที่ไม่รู้จัก (Unknown Sources) โดยเข้าไปที่การตั้งค่า แล้วเลือกความปลอดภัย ก่อนจะปิดการตั้งค่า ไม่อนุญาตติดตั้งแอปจากแหล่งที่ไม่รู้จัก โดยกดตกลงเพื่อยืนยัน

เลือก ไม่อัปเดตแอปอัตโนมัติ
วิธีที่ 2 คือการหมั่นลบแอปที่ไม่ต้องการ เนื่องจากหลายแอปที่เป็นมัลแวร์หรือสแปมมักแฝงตัวมากับแอปชื่อดังที่ปลอดภัย โดยทางที่ดีให้ลบแอปที่ไม่จำเป็นออก ร่วมกับการปิดการอัปเดตอัตโนมัติ (Delete Unwanted Apps) โดยวิธีที่ 3 นี้เริ่มที่การเปิดที่ Play Store > เมนู > การตั้งค่า เมื่อเลือก "อัปเดตแอปอัตโนมัติ" ให้เลือก "ไม่อัปเดตแอปอัตโนมัติ"

วิธีที่ 4 คือการกลับไปใช้ Stock ROM หรือรอมศูนย์ที่ทางผู้ผลิตโทรศัพท์เป็นผู้พัฒนา โดยหากใครใช้ Custom ROM อยู่ การกลับไปใช้ Stock ROM ที่มากับเครื่องจะช่วยจำกัดการติดตั้งแอปจากบุคคลที่สามได้

การออกจากระบบและเปลี่ยนรหัสผ่านกูเกิลหรือ Google Account
วิธีที่ 5 คือการออกจากระบบและเปลี่ยนรหัสผ่านกูเกิลหรือ Google Account โดยบัญชี Google อาจถูกแฮก ดังนั้นให้ออกจากระบบและเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่

บนโลกออนไลน์นั้นมีความเชื่อว่าการที่มือถือ Android เชื่อมต่อกับบัญชี Google ตลอดเวลา ซึ่งนำมาสู่ความเสี่ยงไม่ต่ำกว่า 2 ด้าน คือ 1. การติดตั้งแอประยะไกล เพราะหากใครรู้รหัสผ่าน Gmail ก็สามารถติดตั้งแอปในมือถือได้โดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว เมื่อมือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แอปจะถูกติดตั้งโดยอัตโนมัติ ดังนั้น วิธีการของผู้ไม่ประสงค์ดี คือแอบเข้าสู่ระบบ Gmail จากคอมพิวเตอร์ แล้วเปิด Play Store จากเว็บบราวเซอร์ ทำให้เลือกติดตั้งแอปใดก็ได้ และแอปจะถูกส่งไปยังมือถือโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อมือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แอปจะถูกติดตั้งทันที

2. ความเสี่ยงจากโฆษณา เพราะการคลิกโฆษณาขณะท่องเว็บอาจนำไปสู่การติดตั้งแอปโดยไม่ตั้งใจ โฆษณาจากบุคคลที่สาม เช่น แบนเนอร์หรือวิดีโอในเกม สามารถทำให้แอปติดตั้งในมือถือได้

วิธีป้องกันจึงอยู่ที่การจัดการบัญชี Google นั่นคือการเปลี่ยนรหัสผ่าน Gmail ที่เชื่อมกับมือถือทันทีที่สงสัยว่ามีการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต และพิจารณาใช้บัญชี Google แยกสำหรับมือถือโดยเฉพาะ เพื่อแยกการใช้งานและเพิ่มความปลอดภัย

วิธีที่ 6 คือจำกัดการใช้ข้อมูลพื้นหลังหรือ Restrict Background Data โดยเข้าไปที่ การตั้งค่า > การใช้ข้อมูล เมื่อเลือกแต่ละแอป ให้เปิด "จำกัดข้อมูลพื้นหลัง"

การเปิด จำกัดข้อมูลพื้นหลัง
วิธีที่ 7 คือปิดการกู้คืนอัตโนมัติ (Disable Automatic Restore) โดยเข้าไปที่การตั้งค่า > สำรองข้อมูลและรีเซ็ต เมื่อปิดการสำรองข้อมูล ให้ทำการรีเซ็ตเครื่องตาม

สำหรับใครที่ไม่อยากยุ่งยาก สามารถใช้วิธีที่ 8 นั่นคือการมองหา iPhone สักเครื่องมาแทน เท่านี้ แอปก็จะไม่ดาวน์โหลดอัตโนมัติ หรือติดตั้งเองอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น