นี่คือสถิติที่อธิบายได้ชัดว่าทำไมช่องฮิตทั้งไทยและต่างประเทศจึงเพ่งโฟกัสให้ความสำคัญทุกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ "หมูเด้ง" เพราะล่าสุดข้อมูลจาก "แมนเดล่า เอไอ" (Mandala AI) ชี้ว่าคำค้นหา “หมูเด้ง” มียอด Engagement หรือการมีส่วนร่วมจากผู้คนบนโลกโซเชียลทั้งการแชร์ส่งต่อ การพูดถึง และการแสดงความรู้สึกสูงถึง 137,292,228 ครั้งในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน ซึ่งทุกช่องที่ติดคำว่าหมูเด้งลงในเนื้อหา ล้วนต่างได้อานิสงส์ไปถ้วนหน้า
นอกจากคำว่าหมูเด้ง ข้อมูลจาก Mandala AI พบว่าคำภาษาอังกฤษอย่าง “Moo Deng” ก็มี Engagement ไม่เบาคือ 25,938,378 ครั้ง ขณะที่ "Moodeng" พบการมีส่วนร่วม 14,592,284 ครั้ง รวมถึงคำว่า "Baby Hippo" ที่มี Engagement สูง 6,246,833 และ "Bouncy Pig" ที่ชาวออนไลน์มีส่วนร่วมมากกว่า 283,689 ครั้ง แน่นอนว่าสถิติเหล่านี้สามารถบอกเล่าถึงกระแสและความนิยมของหมูเด้งบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ บนแพลตฟอร์มโซเชียลยอดนิยมทั้ง Facebook, X (Twitter), Instagram, TikTok และ YouTube ในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 8-28 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา
สำหรับ Mandala AI นั้นเป็นบริการเครื่องมือรับฟังเสียงบนโลกโซเชียล หรือ Social Listening Tool โดยเป็นระบบวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นตัวขับเคลื่อน ก่อนหน้านี้ ต้นสังกัด Mandala AI อย่าง "โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค" บริษัทเผยว่าข้อมูลที่อยู่ในระบบ Mandala AI Ecosystem ล้วนเป็นข้อมูลที่ได้รับการรับรองจาก Meta (Facebook, Instagram, WhatsApp), Google และ YouTube, Twitter, Pantip และ Reddit ซึ่งระบบของบริษัทมีข้อมูลมากกว่า 20 พันล้านเซ็ต และสามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้มากกว่า 100 ล้านเมนชันส์ (Mentions) ต่อวัน
***ไลก์-แชร์ไม่หยุด กระแสหมูเด้งผงาดโลกออนไลน์
จากการดึงข้อมูลด้วยคำค้นหา (Keyword) คำว่า “หมูเด้ง” “Moo Deng” “Moodeng” “Bouncy Pig” และ “Baby Hippo” เพื่อดูกระแส/ความนิยมของหมูเด้งบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในไทยและต่างประเทศบน 5 แพลตฟอร์ม Facebook, X (Twitter), Instagram, TikTok และ YouTube ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 8-28 ก.ย.2567 พบว่าคำ “หมูเด้ง” มี Engagement มากที่สุดถึง 137,292,228 รองลงมาคือคำว่า “Moo Deng” “Moodeng” “Baby Hippo” และ “Bouncy Pig” ตามลำดับ
และเมื่อแยกตามแพลตฟอร์ม พบว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่มี Engagement สูงสุดที่ 80,992,581 ครั้ง รองลงมาคือ TikTok (10,445,565 ครั้ง) Facebook (8,158,097 ครั้ง) Instagram (7,843,621) และ X (Twitter) ที่มีส่วนร่วมมากกว่า 5,689,955 ครั้ง
***ภาษาไทยฮอตที่สุด
เพื่อวัดกระแสแบบแยกตามคำไทยและต่างประเทศ โดยพิจารณาตามคำค้นหาแยกเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านการแยกตามแพลตฟอร์มและพิจารณาจากช่อง (Channels) ที่มี Engagement มากที่สุด พบว่า การค้นหาภาษาไทยในกลุ่มช่องยอดนิยมหรือ Top Channel บน Facebook คิดเป็น Engagement มากกว่า 3,976,456 ครั้ง โดยช่องที่มี Engagement ฮอตที่สุดบน Facebook ในรอบ 1 เดือนคือช่อง "ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง"
นอกจากช่อง "ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง" ที่ได้ Engagement อันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 22% ปรากฏว่า Engagement อันดับ 2 ไหลไปที่ช่อง "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" ที่โกย Engagement กว่า 17% ขณะที่อันดับ 3 คือช่อง "เรื่องเล่าเช้านี้" ที่หอบ Engagement กลับบ้านได้ 10% ของ Engagement กว่า 3.9 ล้านครั้งในเดือนที่ผ่านมา คิดเป็นราว 3 แสนครั้ง รวมเลขกลมๆ ที่ช่องในมือของ "สรยุทธ" ได้ไปจากหมูเด้งคือ Engagement กว่า 27% ที่เกิดขึ้นบน Facebook
สำหรับกลุ่ม Top Channel บน X (Twitter) พบว่ามี Engagement สูง 2,123,442 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "สวนสัตว์เปิดเขาเขียว" รองลงมาคือช่อง "GIFFY" และ "Why so serious?" รวมถึงอีกหลายช่องที่ได้ Engagement ไปเพิ่มพลังให้บัญชีของตัวเอง
ขณะที่กลุ่ม Top Channel บน Instagram พบว่ามี Engagement สูง 2,676,990 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "Khaokhow zoo" รองลงมาคือ "bao.smong" อันดับที่ 3 คือ "thairath"
ด้านกลุ่ม Top Channel บน TikTok พบว่ามี Engagement สูง 6,428,036 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "Khamoo.andthegang" สุดท้ายคือกลุ่ม Top Channel บน YouTube พบว่ามี Engagement สูง 41,109,842 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุด Khao Kheow Zoo แต่เป็น "เรื่องเล่าเช้านี้" ที่ครองส่วนแบ่ง Engagement กว่า 13%
***ค้นหาภาษาอังกฤษ แชมป์คือ YouTube
ในส่วนการค้นหาด้วยภาษาอังกฤษ พบว่ากลุ่มช่องยอดนิยม หรือ Top Channel บน Facebook ได้ Engagement สูง 598,907 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "Bangkok Post" รองลงมาคือ "TIME" ที่ครองส่วนแบ่ง Engagement กว่า 15% และ 14% โดยอันดับ 3 ยังคงเป็นช่อง "สรยุทธ สุทัศนจินดา กรรมกรข่าว" ที่ได้ไป 10%
สำหรับกลุ่ม Top Channel บน X (Twitter) ได้ Engagement สูง 191,004 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "Finding Who Asked" ขณะที่กลุ่ม Top Channel บน Instagram ได้ Engagement สูง 2,964,834 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "memezar" รองลงมาคือช่องกีฬา "espn" และ "Khaokheow.zoo"
ด้านกลุ่ม Top Channels บน TikTok ได้ Engagement รวม 712,798 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "nbcnews" รองลงมาคือ "fnatic" อันดับ 3 คือ dizzy.oops ถือเป็นสื่อต่างชาติที่เล่นเรื่องหมูเด้งแล้วได้รับ Engagement เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
สุดท้ายคือกลุ่ม Top Channel บน YouTube ที่ได้ Engagement สูง 16,324,661 ครั้ง ช่องที่มี Engagement สูงสุดคือ "BANK SIRAPHOP" รองลงมาคือ "เรื่องเล่าเช้านี้" และ "Khao Kheow Open Zoo"