xs
xsm
sm
md
lg

Kaspersky พบ-บล็อกเว็บโฉด 12.9 ล้านครั้งในไทย ปี 2023

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) ระบุพบและบล็อกการโจมตีบนเว็บกว่า 12.9 ล้านครั้งในประเทศไทยตลอดปี 2023 เฉลี่ย 35,400 ครั้งต่อวัน ชู 8 ข้อแนะนำไทยรับมือภัยคุกคามออนไลน์ในประเทศไทย

นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า การหลอกลวงทางออนไลน์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มและขยายตัวมากขึ้น ยิ่งมีผู้ใช้มากขึ้นเท่าใด โอกาสที่มิจฉาชีพและผู้หลอกลวงจะไล่ล่าและโจมตีก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ มีผู้ใช้หลายคนที่ยังไม่สามารถสังเกตและเห็นภัยกลโกง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะการหลอกลวงและกลโกงต่างๆ นั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น สิ่งสำคัญคือผู้ใช้ต้องระมัดระวังและเรียนรู้ที่จะจำแนกและจดจำสัญญาณที่บ่งบอกถึงภัยร้าย

"การตระหนักรู้และการเรียนรู้วิธีป้องกันภัยคุกคามเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญ ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือและโซลูชันที่เหมาะสม ผู้ใช้จะรู้เท่าทันและมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นในการปกป้องข้อมูลและทรัพย์สินของตน"

เซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้
Kaspersky วิเคราะห์สถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ว่าประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก (63.21 ล้านคนจากประชากร 71.85 ล้านคน) โดยพบว่าการเชื่อมต่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโมบายดีไวซ์มีอยู่ถึง 97.81 ล้านรายการ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้หนึ่งคนมีโมบายดีไวซ์มากกว่าหนึ่งเครื่อง 

เบื้องต้น Kaspersky ตรวจพบและบล็อกการโจมตีบนเว็บกว่า 12.9 ล้านครั้งในปี 2023 (เฉลี่ย 35,400 ครั้งต่อวัน) พบการหลอกลวงหลายรูปแบบ เช่น เว็บไซต์ปลอม การฟิชชิง และการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ


ภัยคุกคามไซเบอร์ในไทยอาจจะเป็นอีเมล หรือไม่ก็ไฟล์เอกสาร ไฟล์แนบ โฆษณา ลิงก์ คิวอาร์โค้ด SMS เว็บไซต์ แบบฟอร์มลงทะเบียนออนไลน์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์ และช่องทางการสื่อสารอื่นๆ อีกมากมาย โดยเหตุการณ์ล่าสุดในประเทศไทย ได้แก่ เพจโซเชียลมีเดียปลอมของกระทรวง เว็บไซต์และหน้าลงทะเบียนปลอมเพื่อขอรับเงินจากรัฐบาล และการฟิชชิงทาง SMS ที่นำไปสู่เว็บไซต์ล็อกอินปลอม โดเมน go.th ที่แอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ การแอบอ้างว่าเป็นคนดังหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ในโซเชียลมีเดีย คอลเซ็นเตอร์ปลอมที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานจากไปรษณีย์ หน่วยงานราชการ สายด่วนตำรวจ 191 ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ การไฟฟ้า และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับ 8 คำแนะนำเพื่อตรวจจับกลโกงออนไลน์ ได้แก่ 1.ตรวจสอบอีเมลแอดเดรสอย่างละเอียด 2.ระวังลิงก์และ QR Code ที่น่าสงสัย 3.ตรวจสอบใบรับรองความปลอดภัยของเว็บไซต์ 4.ค้นหาข้อมูลการจดทะเบียนโดเมน


5.อ่านและตรวจสอบเนื้อหาในเว็บไซต์อย่างละเอียด 6.บุ๊กมาร์กเว็บไซต์สำคัญที่ใช้บ่อย 7.ระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อทำธุรกรรมการเงิน และ 8.ใช้โซลูชันความปลอดภัยระดับมืออาชีพ

ขั้นตอนเมื่อตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง ควรเริ่มที่ 1.หยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที 2.ยกเลิกการชำระเงินและบัตรเครดิตที่เกี่ยวข้อง 3.เปลี่ยนรหัสผ่านสำคัญทั้งหมด 4.อายัดเครดิตเพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลในทางที่ผิด และ 5.แจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ www.thaipoliceonline.go.th หรือโทร.1441


กำลังโหลดความคิดเห็น