xs
xsm
sm
md
lg

ซอฟต์แวร์ไทยยืนหนึ่ง! ดันอุตสาหกรรมดิจิทัลปี 66 โตเกินต้าน 3.88%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 66 แรงไม่ไหว! ดีป้า-ไอเอ็มซี เผยซอฟต์แวร์โตแรงสุดที่ 12% มูลค่ารวมดิจิทัลทะลุ 2.024 ล้านล้านบาท คาดการณ์อีก 3 ปี โตไม่หยุดทุกสาย

เมื่อวันที่ 10 ก.ย.67 ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า ร่วมกับสถาบันไอเอ็มซี เปิดเผยการสำรวจและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ประจำปี 2566 โดยครอบคลุม 4 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content)

ผลสำรวจชี้ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลโดยรวมเติบโตขึ้นจากปี 2565 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 3.88% คิดเป็นมูลค่ารวม 2,024,173 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เติบโต 12.80% มีมูลค่า 215,191 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล เติบโต 9.28% มูลค่า 307,630 ล้านบาท อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ เติบโต 1.75% มูลค่า 1,457,116 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เติบโตเล็กน้อยเพียง 0.01% มูลค่า 44,236 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2567-2569) คาดว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเติบโตต่อเนื่องที่อัตรา 9-10% อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจะเติบโต 11-16% อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลจะขยายตัว 13-14% ในช่วงปี 2567-2568 แต่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2569 ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ คาดว่าจะเติบโต 3-5%

โดยคาดว่าในปี 2569 มูลค่ารวมของทั้ง 4 อุตสาหกรรมจะสูงถึง 2,940,377 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการในตลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ดีป้า' เผยผลสำรวจดิจิทัลคอนเทนต์ไทยปี 66 ปังไม่หยุด กระแส Art Toy มาแรง พาคาแร็กเตอร์แจ้งเกิด แต่เกม-แอนิเมชันยังแป้ก 2 ปีซ้อน
'ดีป้า' เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล Q2/67 ร่วงแรง ผลพวงกำลังซื้อ-การเมืองฉุด เอกชนกดดันรัฐหนุนทุน-ปลดล็อกงบช้า ดันลงทุนดิจิทัลฝ่าราคาน้ำมันพุ่ง


รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ปี 2566 ขยายตัวสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.80% มีมูลค่ารวม 215,191 ล้านบาท โดยการเติบโตนี้เกิดจากการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ระบบคลาวด์ (Cloud) และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์ความยั่งยืน แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

การสำรวจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ปี 2566 แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ซอฟต์แวร์ โตเฉลี่ย 4.31% มูลค่า 81,405 ล้านบาท และ 2.บริการซอฟต์แวร์ โตเฉลี่ย 18.68% มูลค่า 133,785 ล้านบาท

ผลสำรวจยังพบว่า ซอฟต์แวร์ที่ผลิตใช้ในประเทศมีมูลค่า 159,466 ล้านบาท เติบโตถึง 14.93% ในขณะที่การส่งออกซอฟต์แวร์กลับหดตัวลง 1.63% มูลค่าอยู่ที่ 2,413 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าเติบโต 7.55% มูลค่า 53,312 ล้านบาท

อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะในปี 2566 มีมูลค่ารวม 1,457,116 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อยที่ 1.76% โดยแบ่งเป็นการนำเข้า 464,376 ล้านบาท เติบโต 5.90% และการส่งออกมูลค่า 992,740 ล้านบาท หดตัวลงเล็กน้อย 0.07% โดยเฉพาะการนำเข้าอุปกรณ์อัจฉริยะที่เติบโตอย่างโดดเด่นถึง 52.68% มูลค่ารวม 176,464 ล้านบาท

รศ.ดร.ธนชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะปี 2566 เติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่ม Consumer Electronics ที่ได้รับผลกระทบหนัก ความต้องการคอมพิวเตอร์ลดลงเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ในปีก่อนกระตุ้นให้เกิดรอบการซื้อที่กระจุกตัว ขณะที่ตลาด Hard Disk Drive หดตัวจากการถูกแทนที่ด้วย SSD ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลปี 2566 มีมูลค่ารวม 307,630 ล้านบาท ขยายตัว 9.28% จากปีก่อนหน้า ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสุขภาพ (Health Tech) และการศึกษา (EdTech) ที่มีการเติบโตโดดเด่น


การสำรวจแยกบริการดิจิทัลออกเป็น 8 ประเภทหลัก ได้แก่

1.e-Retail มูลค่า 80,054 ล้านบาท โต 2.25%
2.e-Logistics มูลค่า 92,429 ล้านบาท โต 10.73%
3.e-Tourism มูลค่า 15,881 ล้านบาท โต 55.1%
4.Online Media มูลค่า 43,036 ล้านบาท โต 0.29%
5.e-Advertise มูลค่า 24,974 ล้านบาท โต 12.91%
6.FinTech มูลค่า 47,690 ล้านบาท โต 12.10%
7.Health Tech มูลค่า 1,378 ล้านบาท โต 85.71%
8.EdTech มูลค่า 2,189 ล้านบาท โต 82.26%

บุคลากรในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นเกือบ 10% โดยเฉพาะในกลุ่ม e-Logistics ที่มีจำนวน 41,963 คน สะท้อนการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับบริการอื่น ขณะที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจ้างงาน สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องคุมการจ้างงานให้รัดกุม










กำลังโหลดความคิดเห็น