Meta (เมต้า) บริษัทแม่เฟซบุ๊กประกาศอัปเดต AI เวอร์ชันล่าสุดตระกูลลาม่า “Llama 3.1” ระบุเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้โมเดลประมวลผลด้วยภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) แบบโอเพ่นซอร์สที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรม ชี้การรองรับภาษาไทยเกิดได้เพราะวิสัยทัศน์ให้ Llama 3.1 โมเดล AI ที่รองรับทุกภาษาสำหรับโลกนี้ หยอดยาหอมไทยเป็นตลาดแข่งขันสูงและมีชุมชนนักพัฒนาและอีโคซิสเต็มภาคสร้างสรรค์แข็งแกร่ง ชวนคนไทยประกวดรับทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants มูลค่า 5 แสนดอลล์ ซึ่งเป็นการอัดฉีดครั้งใหญ่ที่สุดจาก Meta ในแวดวงชุมชน AI โลก
นายราฟาเอล แฟรงเคิล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Meta กล่าวถึงการเปิดตัว Llama 3.1 ว่าการขยายการรองรับภาษาไทยของ Llama 3.1 ไม่เพียงเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการให้ Llama 3.1 เป็นโมเดล LLM ที่รองรับทุกภาษาเพื่อให้ทุกคนใช้ได้งาน แต่ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่แข่งขันสูงและแข็งแกร่งทั้งด้านชุมชนนักพัฒนา อีโคซิสเต็มภาคการสร้างสรรค์งาน เชื่อว่าการรองรับภาษาไทยของ Llama 3.1 จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนไทยโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และขยายผลจากอุตสาหกรรม ส่งต่อประโยชน์ไปชุมชนต่างๆ ได้
“การขยายการรองรับภาษาไทยของ Llama 3.1 จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นสำหรับธุรกิจ ประเทศไทยมีความเหมาะสมและพร้อมนำเอา LLM ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับประชาชนคนไทย ตัวอย่างเช่น ร้านแฟชั่นจะสามารถสร้างแชตบอต AI ภาษาไทย เพื่อให้ลูกค้าได้รับคำตอบเฉพาะคนอย่างรวดเร็ว มีศักยภาพมากในการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ไทยมีชุมชนครีเอเตอร์ที่แข็งแกร่งมาก ครีเอเตอร์อาจต้องการติดต่อกับผู้ติดตามบนเฟซบุ๊ก โดยสามารถพัฒนาแชตบอตของตัวเอง เพื่อให้แฟนคลับสามารถสนทนาหรือสอบถามครีเอเตอร์ได้ว่าชอบนักดนตรีคนใด ครีเอเตอร์อาจไม่ต้องวุ่นตอบคำถามเอง แต่ฝึกให้ AI ตอบแทนได้ตามข้อมูลที่เทรนด์ไว้ ถือเป็นโอกาสทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี ภาคท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ การออกแบบ ภาคสร้างสรรค์ รวมถึงนักพัฒนาไทย”
สำหรับ Llama 3.1 โมเดลแบบโอเพ่นซอร์สที่ Meta เคลมว่าใหญ่และทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์นั้นมาพร้อมกับโมเดล 405B, 70B และ 8B จุดเด่นคือการขยายการรองรับความยาวเนื้อหามากถึง 128k ช่วยให้การโต้ตอบมีความหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถให้เหตุผลได้น่าเชื่อถือมากขึ้น โดยรองรับการสร้างข้อมูลสังเคราะห์และการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโมเดล (Model distillation) แถมยังเป็น AI ที่มีความรับผิดชอบ นำไปสู่การคว้าใจพันธมิตรมากกว่า 30 รายมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนา Llama 3.1 ตั้งแต่เริ่มต้น
สถิติล่าสุดระบุว่า Meta ได้เปิดตัวโมเดล Llama รุ่นแรกเมื่อปีที่แล้ว มียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 300 ล้านครั้ง และมีการพัฒนาโมเดลต่อยอดกว่า 20,000 โมเดลสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ Meta AI ที่มีจุดเด่นที่ฟีเจอร์ “Imagine Yourself” จะช่วยให้ผู้ใช้สร้างรูปภาพตนเองขึ้นมาใหม่ โดยสามารถเพิ่ม ลบ หรือเปลี่ยนองค์ประกอบในรูปได้ตามที่ต้องการ ขณะเดียวกัน ก็มอบผลลัพธ์หรือคำตอบที่แม่นยำให้ผู้ใช้ที่ถามปัญหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ หรือการเขียนโค้ด เป็นต้น
ปัจจุบัน Meta กำลังนำ Meta AI เข้าไปใช้ในผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มต่างๆ ของ Meta เช่น WhatsApp, Facebook และอีกมากมาย เบื้องต้น Meta AI ยังไม่เปิดทดสอบให้บุคคลทั่วไปในประเทศไทยได้ลองใช้งาน มีเพียงนักพัฒนาที่สามารถปรับแต่งและฝึกฝนโมเดลของตนเองผ่านการเพิ่มภาษาที่ Meta AI จะช่วยให้เข้าถึงผู้ใช้ได้มากขึ้น
“โมเดลแบบโอเพ่นซอร์สของ Llama จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถปรับแต่งและฝึกฝนโมเดลของตนเอง รวมถึงรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และช่วยพัฒนาระบบให้แข็งแกร่งได้ ทั้งนี้ ทีม Meta กำลังเร่งการทำงานขยายฟีเจอร์ให้ใช้ในหลากหลายภูมิภาคต่อไป”
สำหรับ Llama 3 405B รวมถึงการอัปเดตโมเดล 8B และ 70B ซึ่งขณะนี้รองรับภาษาไทยแล้ว Meta เชื่อว่าโมเดลโอเพ่นซอร์สนี้จะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยได้มากขึ้น โดยนักพัฒนาสามารถเข้าถึงการใช้งานโมเดล Llama ได้ที่ https://llama.meta.com/
นอกจาก Llama AI จะเพิ่มการรองรับภาษาไทยแล้ว Meta ยังจะจัดการอบรมและโครงการต่างๆ เพิ่มเติมและให้ทุนสนับสนุนมูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนักพัฒนาและองค์กรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย โครงการแรกคือทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants จาก Meta ซึ่งจะเปิดรับข้อเสนอโครงการต่างๆ ที่ใช้ Llama AI และฟีเจอร์อื่นๆ ในโมเดล เพื่อเสริมสร้างผลกระทบทางสังคมและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)
กติกาคือ Meta จะเปิดรับสมัครสำหรับทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป องค์กรที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์สามารถส่งข้อเสนอโครงการที่เล่าถึงการใช้ Llama 3.1 ในการแก้ไขปัญหาสังคมในชุมชน ผู้ชนะที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงการสูงสุดถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ การประกาศผู้ชนะคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ.2568
นอกจากนี้ Meta ยังทำโครงการ AI Accelerator Program สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสในการสร้างเครือข่ายสำหรับนักพัฒนา AI ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้ชนะที่ส่งข้อเสนอโครงการที่แสดงให้เห็นว่า Llama AI สามารถใช้แก้ไขปัญหาสังคมในประเทศได้ดีที่สุด จะได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน Hackathon ออนไลน์ในสิงคโปร์ เพื่อชิงทุนพิเศษสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยโครงการที่มีศักยภาพสูงสุดจะได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลพิเศษมูลค่าถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน
ในประเทศไทย Meta ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)AI Governance Clinic และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) เพื่อจัดการแข่งขันและคัดเลือกผู้ชนะระดับประเทศจำนวนหนึ่งรายเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคในสิงคโปร์ ทั้งหมดนี้ทำคู่ไปกับการอบรมหลักสูตร AI สำหรับ SME ในประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะมีการเรียนรู้เครื่องมือและบริการด้าน AI ของ Meta อย่างจริงจังทั่วประเทศ