xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ หนุนเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ย้ำเสริมเกราะความปลอดภัย รู้เท่าทันภัยออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผลักดันการใช้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เดินหน้าพัฒนาระบบการทำธุรกรรมทางออนไลน์ เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมการใช้งานในทุกภาคส่วน มีความปลอดภัย ได้มาตรฐานในระดับสากล พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนรวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเสริมเกราะความปลอดภัย มีความรู้เท่าทันภัยออนไลน์ สามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย

โดยที่รัฐบาลส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์ เช่น การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐใช้ระบบคลาวด์ (Cloud) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงการทำธุรกรรมออนไลน์อื่นๆ จึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางเทคโนโลยีออนไลน์ด้วย ดังนั้น รัฐบาลพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินมาตรการการรับมือเพื่อความปลอดภัย เช่น การตรวจและป้องปรามการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล การใช้แอปพลิเคชันแจ้งเตือนหมายเลขโทรศัพท์เสี่ยงภัยออนไลน์ การแก้ปัญหาซื้อของออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก เพิ่มมาตรฐานบริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery: COD) การนำเทคโนโลยี AI มาใช้วิเคราะห์ประมวลผลเพื่อสนับสนุนการรับมือกับปัญหาทางออนไลน์

นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ภัยออนไลน์ พัฒนาทักษะเตรียมความพร้อม โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการรับมือภัยทางออนไลน์ ผ่านการจัดโครงการสร้างภูมิคนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA) "รู้ทันเกมโกง หยุดกลคนลวง" ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ผ่านแผนการดำเนินงานบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ โดยมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ภัยออนไลน์ให้กับคนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกือบ 5,000 คน จากกว่า 22 จังหวัด โดยในปี 2567 จะขยายเพิ่มอีก 10 จังหวัด เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป


นายชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีดิจิทัลเท่าทันนานาชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค โดยคำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่กัน รวมทั้งส่งเสริมภูมิคุ้มกันออนไลน์ เพิ่มการตระหนักรู้ให้ประชาชนไม่กลัวการใช้ประโยชน์จากออนไลน์ แต่ก้าวทันภัยออนไลน์ดำเนินธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย