AIS Business ประกาศแผนธุรกิจ 2024-2025 ตั้งศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล AIS EEC กลาง Thailand Digital Valley ปูทางองค์กรภาคธุรกิจ สู่ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี ยกระดับเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ AIS ได้เปิดตัว AIS EEC-Evolution Experience Center หรือศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจ AIS EEC ใน Thailand Digital Valley ภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยนายภูผา เอกะวิภาต รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวว่า ศูนย์นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เทคโนโลยีโครงสร้างดิจิทัล 5G และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่สำคัญ ผู้ใช้สามารถทดลองใช้งานและทดสอบการใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้เสมือนจริง
ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยีให้บุคลากรและตลาดแรงงาน ด้วยการร่วมมือกับสำนักงานคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ทั้ง 8 ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย 1.ศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Automation 2.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยว 3.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้า 4.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านพาณิชยนาวี 5.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านแมคคาทรอนิกส์ 6.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอากาศยาน 7.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และ 8.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี Digital AI & 5G ภายใต้ 6 เครือมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และสถาบันไทย-เยอรมัน พร้อมเปิดให้เยี่ยมชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
"จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มั่นใจว่าจะสามารถใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนและเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเครื่องมือ และโซลูชันที่ตอบโจทย์ ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายการทำงานครั้งนี้ไม่เพียงขับเคลื่อนการเติบโตเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้มีขีดความสามารถใหม่ๆ สร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต" นายภูผา กล่าว
นายภูผา กล่าวว่า ปี 2024 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโลกและไทย โดยเฉพาะผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ AIS จึงได้ริเริ่มโครงการ AIS Business Digital Evolution: Sustainable Business for a Sustainable Nation เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง รวมถึงรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย
1.5G Ecosystem: พัฒนาโครงข่าย 5G ด้วยความสามารถที่หลากหลาย เช่น Network Slicing และ Private Network ใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงาน Midea Smart Factory 2.Intelligent Network and Infrastructure: สร้างโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ สนับสนุนการบริหารและการประมวลผลข้อมูล ได้รับการยอมรับจาก Microsoft, VMware และ Oracle 3.AI and Data Analytics: วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกผ่านบริการ Analytic X ช่วยให้องค์กรสามารถปรับใช้ข้อมูลในกลยุทธ์ธุรกิจ 4.Digital Platform and APIs: ให้บริการเชื่อมต่อที่รวดเร็วผ่าน AIS Open APIs และ CPaaS ซึ่งมีลูกค้าอย่างไปรษณีย์ไทยใช้ในการสื่อสาร และ 5.Industry Transformation: ยกระดับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การผลิต ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ และ SMEs
ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า สำหรับ Thailand Digital Valley จำนวน 5 อาคาร เสร็จสิ้นล่าช้ากว่ากำหนด 270 วัน เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วม การขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน แต่เพื่อช่วยลดผลกระทบคาดว่าภายในเดือน ก.ย.-พ.ย.67 จะอนุญาตให้ผู้เช่าพื้นที่เริ่มต้นการตกแต่งได้ทันที นอกจากนี้ จะเดินหน้าเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และโรงงานจากญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มลูกค้าจากไต้หวันแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในซัปพลายเชน เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลดีต่อการพัฒนานวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในประเทศไทย ตลาดในอนาคตของโรงงานเหล่านี้คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาด้าน AI และเทคโนโลยีขั้นสูงกำลังเป็นจุดสนใจหลักในการดึงดูดการลงทุน และหากมีผู้เช่าครบทั้ง 5 อาคาร จะสามารถก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนได้ 15,000 ล้านบาท
สำหรับนักลงทุนที่สนใจเช่าใช้พื้นที่ Thailand Digital Valley นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้ว หากมีการซื้อสินค้าหรือบริการที่ขึ้นทะเบียนใน 'บัญชีบริการดิจิทัล' เอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการลดหย่อนภาษีสูงถึง 200% รวมถึงการพัฒนากำลงคน หากเอกชนส่งบุคลากรมาเรียนในหลักสูตรด้านดิจิทัลที่ดีป้าให้การรับรองสามารถนำค่าใช้จ่ายนั้นไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 250% อีกด้วย