xs
xsm
sm
md
lg

'ETDA' ประกาศคู่มือดูแลโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้มโฆษณาลวง-ผิดกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ETDA' ประกาศคู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ตามกฎหมาย DPS เพิ่มมาตรการตรวจสอบเข้มแข็ง เพื่อป้องกันโฆษณาหลอกลวง

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ความสำคัญกับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงมีนโยบายเชิงรุกในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม ตามมาตรา 32 แห่งพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 หรือที่เรียกว่ากฎหมาย DPS

จึงได้จัดทำ "คู่มือการดูแลโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล" เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลตนเองของผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้การโฆษณาบนแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ และลดปัญหาการฉ้อโกงและหลอกลวงออนไลน์ เช่น การหลอกลวงลงทุน การปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่น การขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และการโฆษณาชักชวนให้ทำกิจกรรมผิดกฎหมาย คู่มือนี้ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ การตรวจสอบและเก็บข้อมูลผู้ทำการโฆษณารวมถึงการตรวจสอบโฆษณาก่อนเผยแพร่ และการตรวจสอบผู้ทำการโฆษณาและโฆษณาหลังเผยแพร่

การตรวจสอบและเก็บข้อมูลของผู้ทำการโฆษณา รวมถึงการตรวจสอบโฆษณาก่อนเผยแพร่ (Screening) ครอบคลุมตั้งแต่การพิสูจน์ตัวตนของผู้ทำการโฆษณาที่ต้องมีการลงทะเบียนก่อนในวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ่านแอปพลิเคชัน ThaID หรือในกรณีผ่านระบบของผู้ประกอบธุรกิจเองต้องเป็นไปตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนตามที่มาตรฐานกำหนด ทั้งนี้ กรณีไม่มีระบบรองรับจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างน้อย ได้แก่ ชื่อ-สกุล หรือชื่อนิติบุคคลของผู้ทำการโฆษณา เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง (Passport) มีช่องทางการติดต่อที่ชัดเจน

หลังจากนั้นจะต้องมีการเก็บข้อมูลของผู้ที่ทำการโฆษณา รวมถึงจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับการตรวจสอบโฆษณาที่พึงระวัง (Watchlist) การทำความผิดตามกฎหมายหรือข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Blacklist) และผู้ทำการโฆษณาที่น่าเชื่อถือ (Whitelist) นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบโฆษณาก่อนเผยแพร่ตามแนวทางที่กำหนด เช่น กำหนดลักษณะของโฆษณาที่ต้องห้ามหรือที่เผยแพร่ได้แบบมีข้อจำกัด และโฆษณาที่ต้องมีการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการ

การตรวจสอบผู้ทำการโฆษณาและโฆษณาภายหลังเผยแพร่ (Monitoring) จะครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพของผู้ทำการโฆษณา จากจำนวนและประเภทของการแจ้งรายงาน (Report/Flagging) รวมถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ โดยการตรวจสอบโฆษณาที่มีการเผยแพร่จะดำเนินการโดยการใช้ระบบอัตโนมัติ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลำดับความสำคัญของการตรวจสอบประเภทของโฆษณา ที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบนอกเหนือจากการใช้ระบบ พร้อมกันนี้ ยังให้มีการกำหนดช่องทางการแจ้งรายงานโฆษณา (Report/Flagging) เช่น การแอบอ้างรูปภาพ วิดีโอ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการชักชวนให้ลงทุนหรือระดมทุนโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น

คู่มือฉบับนี้ถือเป็นแนวทางสำหรับธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดูแลการทำโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดูแลการทำโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแต่ละประเภทได้ตามความเหมาะสม

ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ ประชาชนที่สนใจ สามารถดาวน์โหลด "คู่มือการดูแลโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล" ฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/4edonVr หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรศัพท์ 0-2123-1234 (ติดต่อทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS) ในช่วงวัน และเวลาราชการ (9.00-17.00 น.) หรือที่เว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx




กำลังโหลดความคิดเห็น