'ดีป้า' เปิดดัชนีชี้วัดความสามารถการแข่งขันเมืองอัจฉริยะไทย ปี 66 วังจันทร์วัลเลย์ และ จ.ภูเก็ต ครองแชมป์ คงเป้าปั้นเมืองอัจฉริยะ 105 เมือง เกิดมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจ 200,000 ล้านบาท ในปี 70
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.67 ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ในการกำกับดูแล รายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ปี 66 (Thailand Smart City Competitiveness Index (TSCCI) 2023) ประเมินความสามารถ 30 เมืองใน 23 จังหวัด ตาม 5 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์เมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล การบริการระบบเมือง การพัฒนาระบบข้อมูล และความปลอดภัย รวมทั้งแนวทางการลงทุนและการบริหารจัดการยั่งยืน โดยแบ่งการจัดอันดับเป็น 2 กลุ่ม คือ ตามเมืองและตามจังหวัด เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เข้ากับทิศทางการพัฒนาของประเทศ
ซึ่งพบว่าเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ (City-based) ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง 83.55% สามย่านสมาร์ทซิตี้ กทม. 79.02% และคลองผดุงกรุงเกษม กทม. 74.55% ขณะที่เมืองอัจฉริยะตามจังหวัด (Province-based) ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ จ.ภูเก็ต 83.60% จ.ฉะเชิงเทรา 76.78% และ จ.ขอนแก่น 53.81%
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่ดำเนินโครงการได้ประสบผลสำเร็จ และบรรลุเป้าหมายตามระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน โดยเมืองยะลา จ.ยะลา โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอัจฉริยะ ขณะที่เมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง ส่งเสริมพลังงานอัจฉริยะ ส่วนเมืองขอนแก่น นำร่องด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ คลองผดุงกรุงเกษม กทม. พัฒนาการดำรงชีวิตอัจฉริยะ โดยสามย่านสมาร์ทซิตี้ กทม. เน้นการเดินทางและขนส่ง ส่วน จ.ภูเก็ต เด่นด้านพลเมืองอัจฉริยะ
สำหรับเมืองที่ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาไปสู่การเป็นเมืองอัจริยะจะได้รับสิทธิประโยชน์จากที่ดีป้า ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อดึงดูดการลงทุน ด้วยมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้นักลงทุนในเมืองอัจฉริยะสูงสุดถึง 100% ของเงินลงทุนและไม่จำกัดวงเงิน ในระยะเวลาสูงสุด 3 ปี ทั้งนี้ จากเดิมนักลงทุนจะสามารถขอลดหย่อนภาษี กรณีลงทุนด้านดิจิทัลในเมืองอัจริยะสูงสุด 50% และดีป้า และ BOI ให้นักลงทุนในเมืองอัจริยะ ที่ซื้อสินค้าและบริการบัญชีบริการดิจิทัล ให้ได้รับการลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 50% ซึ่งบัญชีบริการดิจิทัลนี้จะเชื่อมต่อสินค้าและบริการดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้เมืองอัจฉริยะแต่ละเมือง สามารถเลือกสินค้าและบริการด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ และได้รับราคาที่เป็นธรรม โดยหน่วยงานภาครัฐสามารถเลือกใช้สินค้าและบริการในบัญชีบริการดิจิทัลได้ด้วยระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างกรณีพิเศษ และหน่วยงานภาคเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการลดหย่อนภาษีสูงถึง 200%
"ด้วยภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะของไทย ปี 66 ผลประเมินออกมาไม่ดีเท่าที่ควร โดยปี 66 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท จากเป้าให้เกิดเมืองอัจฉริยะให้ได้ 105 เมือง ระหว่างปี 67-70 เกิดมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจที่ 200,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 14-15%" ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
สำหรับดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประเมินจากผลการดำเนินงานตามแผนของเมือง มีวัตถุประสงค์เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความก้าวหน้า และเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน รายงานยังสนับสนุนการเชื่อมโยงร่วมมือกับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งพัฒนา Mega Program ภายใต้แผน 'The Growth Engine of Thailand' โดยเน้นการใช้ City Data Platform ในการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลและสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันให้ประเทศ