xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเป็นเป้าหมายหลักภัยไซเบอร์! Kaspersky ขยับลงทุนเพิ่ม-เปิดแฟลกชิปใหม่ไม่สนปมสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยักษ์ใหญ่ไซเบอร์ซิเคียวริตีรัสเซีย “แคสเปอร์สกี้” (Kaspersky) ประกาศลงทุนเพิ่มรับความต้องการโซลูชันรักษาความปลอดภัยไซเบอร์โตแรงทั่วอาเซียน เดินหน้าเปิดแฟลกชิปใหม่ชิงเค้กองค์กรทุกขนาดท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลเล็กน้อยต่อบริษัท ชี้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักสำหรับผู้ก่อภัยคุกคามทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ล่าสุดขึ้นแชมป์ถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์สูงสุดอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยสถิติ 109,315 รายการตลอดปี 2566

น.ส.ไล เหล่ง โชว หัวหน้าฝ่ายลูกค้าองค์กร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจจำหน่ายระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับองค์กรในปี 2567 ว่าจะลงทุนเพิ่มต่อเนื่องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านบุคลากร ทีมการตลาด และช่องทางจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วภูมิภาค ซึ่งทุกส่วนมีการประสานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าตลอดช่วงที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังดำเนินอยู่ เบื้องต้น คาดหวังว่าตลาดองค์กรอาเซียนจะมีการเติบโตเป็นเลข 2 หลักเช่นเดียวกับตลาดไทย

“อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสถานการณ์ตึงเครียดจากสงครามที่ยังดำเนินอยู่ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจ เรามีการทำงานใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้ยังคงมีแผนลงทุนเพิ่มเพื่อขยายตลาดองค์กรทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะการลงทุนด้านการขยายทีมงานที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างการเติบโตได้ต่อไป”



แคสเปอร์สกี้นั้นเป็นบริษัทด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 ดีกรีความเป็นบริษัทสัญชาติรัสเซียทำให้แคสเปอร์สกี้ถูกจับตาในฐานะบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นชนวนให้สหรัฐฯ และพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งมีการยกระดับขึ้นจนเกิดการแบ่งขั้วในการทำธุรกรรมการค้าและการลงทุนตามมา

ไล เหล่ง โชว หัวหน้าฝ่ายลูกค้าองค์กร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้
อย่างไรก็ตาม แคสเปอร์สกี้แสดงความมั่นใจว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มีผลกระทบเล็กน้อยต่อตลาดภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทย สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่าไทยและหลายประเทศในอาเซียนต่างใช้กลยุทธ์ผูกมิตรกับทุกประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้ ซึ่งเมื่อรวมกับหลายปัจจัย จึงมีผลทำให้อาเซียนเป็นตลาดดาวรุ่งที่มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจสูงต่อเนื่องในปีนี้

หนึ่งในปัจจัยที่แคสเปอร์สกี้เห็นคือภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ทำให้ทุกบริษัทเห็นความจำเป็นต้องมีโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ครอบคลุมและไว้วางใจได้ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งในปี 2566 โซลูชัน B2B ของแคสเปอร์สกี้ได้พบและปิดกั้นความพยายามโจมตีด้วยฟิชชิงทางการเงินได้จำนวน 25,227 รายการ


เบ็ดเสร็จแล้ว ไทยมีจำนวนเหตุการณ์ภัยคุกคามมากเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบภัยคุกคามออฟไลน์ จำนวน 4,700,000 รายการ และการโจมตี RDP หรือการเดาสุ่มรหัสผ่านจำนวน 10,205,819 รายการ นอกจากนี้ ยังมีแรนซัมแวร์หรือภัยเรียกค่าไถ่ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคามที่เป็นปรากฏเป็นข่าวใหญ่บ่อยครั้ง โดยประเทศไทยมีเหตุการณ์โจมตีด้วยแรนซัมแวร์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคถึง 109,315 รายการ

***เปิด Kaspersky Next แฟลกชิปใหม่ลุยตลาดองค์กร

นอกจากการลงทุนเพิ่ม ก้าวใหม่ล่าสุดของแคสเปอร์สกี้ในการรับความต้องการที่โตแรงทั่วไทยและอาเซียน คือการเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์เรือธงใหม่ Kaspersky Next จุดขายหลักคือการผสมผสานการปกป้องอุปกรณ์เอ็นด์พ้อยต์ที่แข็งแกร่ง เข้ากับความโปร่งใสและความรวดเร็วของ EDR (Endpoint Detection and Response) ควบคู่ไปกับการมองเห็นและเครื่องมืออันทรงพลังของ XDR (Extended Detection and Response) โดยเปิดให้ลูกค้าเลือกใช้งานตามความเข้มข้นของระบบรวม 3 ระดับ ทั้งระดับเริ่มต้น ระดับกลาง และระดับท็อปตามความต้องการและความซับซ้อนของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และทรัพยากรที่มี

น.ส.เบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แคสเปอร์สกี้
น ส.เบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า อิมแพกต์ของการเปิดแฟลกชิปใหม่ Kaspersky Next คือการเกิดภาพบวกต่อทั้งรายได้ของแคสเปอร์สกี้ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น และมุมมองของตลาดที่จะได้เห็นเทคโนโลยีจากแบรนด์แคสเปอร์สกี้ โดยยอมรับว่าแม้กลุ่มผลิตภัณฑ์เรือธงใหม่จะดันราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นจากเรือธงรุ่นเดิมราว 20% แต่คุ้มค่ากับฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ระบบสามารถรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่ตรวจจับภัยคุกคามขั้นสูงได้ทันเวลา

“ประเทศไทยกลายเป็นเป้าหมายหลักสำหรับผู้ก่อภัยคุกคาม ซึ่งมีการใช้กลยุทธ์หลากหลายเพื่อสร้างการโจมตีองค์กรธุรกิจอย่างช่ำชอง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลปรากฏเป็นข่าวหลายครั้ง แพลตฟอร์มบริการเชิงพาณิชย์และภาครัฐถูกโจมตี ตัวอย่างข้อมูลที่รั่วไหลจะถูกโพสต์ในตลาดมืด ตามด้วยการขู่กรรโชกขั้นสองและขั้นสามเพื่อเรียกค่าไถ่ ภัยคุกคามที่พบได้ทั่วไปในประเทศยังรวมถึงการหลอกลวงแบบฟิชชิงและสมิชชิงเพื่อให้ดาวน์โหลดและติดตั้งมัลแวร์บนอุปกรณ์ส่วนตัวและอุปกรณ์ขององค์กร เชื่อว่า Kaspersky Next จะสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้ทีม SOC รับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อน ด้วยการตรวจจับและการตอบสนองต่อยอดที่ไม่เหมือนใคร เพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยต่อไป”

ฟีเจอร์ใหม่ใน Kaspersky Next คือการลดความซับซ้อนของ EDR และ XDR สำหรับธุรกิจและองค์กรในประเทศไทยทุกขนาด ความสามารถเด่นคือปิดกั้นการทำงานหรือโปรเซสของแรนซัมแวร์ โดยที่ไฟล์ซึ่งถูกเรียกค่าไถ่จะยังคงอยู่และสามารถใช้การได้ปกติ ทำให้ผู้ใช้อาจไม่ทราบถึงกระบวนการปิดกั้นที่เกิดขึ้น ถือเป็นการนำระบบแอนติไวรัสดั้งเดิมมาผสมเทคโนโลยีการตรวจจับภัยที่เพิ่มการป้องกันด้วยรายงานการโจมตี เพื่อปูทางสู่การทำ EDR ที่ระบบจะสามารถรายงานการโจมตีและตอบสนองป้องกันแบบอัตโนมัติได้


กำลังโหลดความคิดเห็น