xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแซงอินโดฯ ขึ้นแชมป์แรนซัมแวร์คุกคามธุรกิจมากสุดในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยยืนหนึ่งเรื่องจำนวนซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ข้อมูล หรือแรนซัมแวร์ ล่าสุดแคสเปอร์สกี้พบแรนซัมแวร์ในไทยมากกว่าประเทศที่มีประชากรมากกว่าอย่างอินโดนีเซีย โดยขึ้นแชมป์แรนซัมแวร์คุกคามธุรกิจมากสุดในอาเซียนด้วยยอดรวมเกิน 100,000 รายการ

นายเซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า ผู้ก่อภัยคุกคามที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์มุ่งเป้าไปที่ทุกภาคส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเทศไทย ที่พบว่ามีแรนซัมแวร์คุกคามธุรกิจในประเทศสูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน

"แม้จำนวนความพยายามโจมตีทั้งหมดอาจน้อยลง แต่องค์กรจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบที่แท้จริงของแรนซัมแวร์ที่ประสบความสำเร็จแต่ละครั้ง ทั้งด้านการเงินและชื่อเสียง ธุรกิจในภูมิภาคจำเป็นต้องพิจารณาเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ให้ประสิทธิภาพการป้องกันแรนซัมแวร์ที่สมบูรณ์แบบในการทดสอบโดยองค์กรเธิร์ดปาร์ตี้ เพราะโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากันทั้งหมด"


แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) เผยว่าโซลูชันความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับองค์กรธุรกิจของแคสเปอร์สกี้ได้ตรวจพบและบล็อกเหตุการณ์การโจมตีด้วยแรนซัมแวร์รวม 287,413 รายการที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญจากแคสเปอร์สกี้แนะนำให้องค์กรต่างๆ ทุกรูปแบบและทุกขนาดเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านไอทีของตน เนื่องจากแรนซัมแวร์เป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายสำหรับองค์กรในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรนซัมแวร์ประเภทที่กำหนดเป้าหมายการโจมตี


นายเฟเดอร์ ซินิตซิน หัวหน้านักวิเคราะห์มัลแวร์ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า สถิติแรนซัมแวร์ที่มุ่งเป้าโจมตีองค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้วสูงที่สุดในประเทศไทย โดยแคสเปอร์สกี้สามารถบล็อกเหตุการณ์โจมตีในไทยได้มากถึง 109,315 รายการ รองลงมาคืออินโดนีเซีย 97,226 รายการ เวียดนาม 59,837 รายการ ฟิลิปปินส์ 15,312 รายการ มาเลเซีย 4,982 รายการ และสิงคโปร์ 741 รายการ

“ยุคของการโจมตีเหยื่อจำนวนมากในวงกว้างโดยการเข้ารหัส ทั้งต่อบุคคลและองค์กรธุรกิจกำลังค่อยๆ หายไป และเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ที่มีระเบียบแบบแผน ทำการแฮกที่เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมข้อมูลและการเข้ารหัส ซึ่งโดยทั่วไปเรียกว่าการขู่กรรโชกซ้ำซ้อน เบื้องหลังพัฒนาการนี้เป็นเพราะผู้ก่อภัยคุกคามมีความสามารถที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถเรียกค่าไถ่ที่สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ”

จากจำนวนแรนซัมแวร์ที่พุ่งเป้าโจมตีธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2566 ที่รวมแล้วมีเกิน 2 แสนรายการ ทำให้แรนซัมแวร์กลายเป็นหัวข้อข่าวใหญ่อย่างต่อเนื่องทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา เหตุการณ์โจมตีที่โด่งดังมีทั้งธนาคารในอินโดนีเซีย บริษัทประกันสุขภาพในฟิลิปปินส์ ระบบขนส่งมวลชนในมาเลเซีย โรงแรมและกาสิโนชื่อดังในสิงคโปร์ กลุ่มบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดในไทย และบริษัทพลังงานในเวียดนาม


ภาวะนี้ทำให้ตลาดโซลูชัน Kaspersky Endpoint Security for Business, Kaspersky Small Office Security และ Kaspersky Standard มีการขยายตัว โดยสามารถป้องกันอย่างสมบูรณ์จากภัยแรนซัมแวร์ในสถานการณ์การโจมตีในชีวิตจริงที่แตกต่างกัน 10 รูปแบบ ในอีกด้าน แคสเปอร์สกี้ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจสากล (Europol) สำนักงานตำรวจแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ และหน่วยงานอื่นๆ ก่อตั้งโครงการ No More Ransom เพื่อต่อสู้กับแรนซัมแวร์และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยโครงการนี้เปิดตัวบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการในปี 2559 โดยหน่วยงานที่ร่วมโครงการจะให้ข้อมูลต่างๆ ทั้งเครื่องมือถอดรหัส แนวปฏิบัติ และคำแนะนำในการรายงานอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยไม่จำกัดสถานที่เกิดเหตุ

ผลจากการเป็นผู้สนับสนุนหลักโครงการ No More Ransom ครบ 7 ปี ในช่วง 7 ปีนี้ แคสเปอร์สกี้ย้ำว่าได้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเหยื่อเกือบ 2 ล้านรายทั่วโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น