xs
xsm
sm
md
lg

ระอุศึกไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยปี 67 “เช็ค พอยท์” ชูทีมใหม่รอขึ้นท็อป 2
 (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาสมรภูมิป้องกันภัยไซเบอร์แข่งเดือดเลือดกระเซ็นปี 2567 สัญญาณล่าสุดคือ เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ (Check Point) จัดงานใหญ่เปิดตัวเทคโนโลยีและทีมงานใหม่เพื่อดันบริษัทขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของตลาดไทยให้ได้ในสิ้นปี 68 รอบนี้ปรับโปรแกรมพันธมิตรใหม่หวังรับการเติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะตลาดภาครัฐที่เป็นโฟกัสหลักแห่งปี

การโฟกัสที่ตลาดภาครัฐของ Check Point ถือเป็นสัญญาณน่าตื่นเต้น เพราะก่อนหน้านี้ Check Point ปักหลักทำธุรกิจในลูกค้ากลุ่มสถาบันการเงิน และไม่ได้วางหมากขยายข้ามธุรกิจสู่กลุ่มอื่นอย่างจริงจัง จนกระทั่งมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อบุกตลาดอาเซียนและเกาหลีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด มีการตั้งกลุ่มทีมงานในไทยเพื่อดูลูกค้ากลุ่มภาครัฐโดยเฉพาะ ร่วมกับการขยายผลไปยังกลุ่มโทรคมนาคมและรีเทล คาดว่าจะต่อยอดจากปีที่แล้วที่สร้างทีมใหม่ เพื่อลุยตลาดเต็มที่ในปีนี้

การขยายโฟกัสด้วยทีมงานใหม่มีความสนุกซ่อนอยู่ เพราะ Check Point ได้ตัว 2 มือดีในวงการไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยไปร่วมฟอร์มทีม หนึ่งในนั้นคือ “ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ” ที่เคยมีตำแหน่งสำคัญในบริษัท ไซแมนเทค, ไอบีเอ็ม, บลูโค้ดซิสเต็มส์ และฟอร์ติเน็ต ขณะที่อีกคนคือ “คงศักดิ์ ก่อตระกูล” ผู้เคยร่วมงานกับพาโล อัลโต้ เน็กเวิร์กส์ รวมถึงเทรนด์ ไมโคร และเดลล์ อีเอ็มซี โดยทั้งคู่มั่นใจมากว่าแบรนด์ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 30 ปีอย่าง Check Point จะสามารถเข้าถึงตลาดที่แบรนด์อื่นเจาะไม่เข้าในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา



***รัฐบาลใหม่มีส่วน

ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ กล่าวในงาน CPX 2024 ว่าแนวโน้มการลงทุนเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตีนั้นสูงขึ้นต่อเนื่อง โอกาสเติบโตที่ไม่มีแววลดลงนั้นเป็นเหตุผลที่ Check Point เทเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในภูมิภาครวมถึงประเทศไทย โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บริษัทวางเป้าหมายที่กลุ่มภาครัฐ คือทิศทางรัฐบาลใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์อย่างจริงจัง

“ไฟร์วอลล์ก่อนนี้มียี่ห้อเดียว แต่ตอนนี้บางองค์กรกลัวล่มถ้าต้องเอาออก Check Point จะรองรับตรงนี้ ลูกค้ากลุ่มสถาบันการเงินและธนาคารเป็นลูกค้า Check Point เกือบทั้งหมด ใช้งานมานาน” ชาญวิทย์กล่าว

“สำหรับองค์กรภาครัฐ Check Point ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีการลงทุนแต่เรายังไม่ได้เข้าไป นอกจากนี้ ทิศทางของรัฐบาลใหม่ที่ให้ความสำคัญกับซิเคียวริตีก็ตรงกันกับเรา ต้องยอมรับว่าการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของแต่ละโซลูชันไม่ต่างกันมาก แต่เป็นเรื่องของความมั่นใจ ซึ่ง Check Point ไม่เคยเดินหนีลูกค้า โดยปีที่แล้วได้รับการตอบสนองจากตลาดดีมาก และภาครัฐเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ Check Point ในปีนี้”

ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Check Point เห็นแนวโน้มที่ดีของตลาดไทย คือการสำรวจที่พบว่าองค์กรไทยกำลังเผชิญการโจมตีทางไซเบอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยหากคำนวณเป็นรายสัปดาห์ พบว่า ตัวเลขของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกกว่า 800 ครั้งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (กรกฎาคม-ธันวาคม 2566) เบื้องต้น Check Point เคลมสถิติประเทศไทยถูกโจมตี 1,892 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานด้านการทหารเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกโจมตีเป็นหลัก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ 1,040 ครั้ง

Check Point ระบุในรายงานชื่อ Threat Intelligence Report ว่า มัลแวร์แบบคริปโตไมเนอร์ (Cryptominer) และบอตเน็ต (Botnet) เป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นแพร่หลายมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการโจมตีแบบฟิชชิ่ง (Phishing) การหลอกลวงรูปแบบต่างๆ และการปล้นทรัพยากร (Resource Hijacking) นอกจากนี้ ยังพบว่าการโจมตีเกิดขึ้นสูงสุดกับหน่วยงานภาครัฐ/ทหาร อุตสาหกรรมการผลิต และการเงิน/การธนาคาร ซึ่งมีการโจมตีมากถึง 5,789 ครั้งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

คงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลีใต้ บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์
สถานการณ์นี้ทำให้การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงความถี่ของการโจมตีและลักษณะที่เปราะบางของอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่การโจมตีเหล่านี้อาจมุ่งเน้นไปที่การขโมยข้อมูลอ่อนไหว แถมยังเสี่ยงรบกวนการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (CII) และอาจมีการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของ IoT รวมถึงการหลอกดูดเงินเป็นจำนวนมหาศาล

ชาญวิทย์ชี้ว่าทุกองค์กรจะต้องระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขี้น โดยควรมีแพลตฟอร์มแบบบูรณาการที่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างครอบคลุมเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทย

***นิยามบริษัทใหม่-งัด AI สู้

คงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลีใต้ กล่าวถึงโซลูชันใหม่สำหรับปี 2567 ที่ Check Point เปิดตัวจึงอยู่ในรูปของแพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และคลาวด์ โดยการันตีว่าจะป้องกันได้ครบทั้งระบบศูนย์ข้อมูล ระบบเครือข่าย ระบบคลาวด์ อุปกรณ์ปลายทาง อุปกรณ์เคลื่อนที่ และ IoT โดยจากที่เคยมี 30 เอนจิ้น ปัจจุบัน Check Point มี 90 เอนจิ้นที่เป็น AI

“ธีมปีนี้คือการใช้พลัง AI และเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์ เรานิยามบริษัทใหม่โดยใช้ 3C ที่ผสมเรื่องการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ที่หลากหลายไม่ต้องมีสกิลเซ็ตเฉพาะทาง ใช้เครื่องมือน้อยแต่ได้ประโยชน์มากที่สุดและอยู่บนหน้าจอเดียว”

หลักการ 3C ที่ Check Point พูดถึงคือแนวทางการพัฒนาของบริษัทซึ่งได้แก่ ความครอบคลุมรอบด้าน (Comprehensive coverage) สถาปัตยกรรมแบบรวมศูนย์ (Consolidated architecture) และการใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ที่แท้จริง เพื่อนำเสนอโซลูชันการป้องกันภัยคุกคามที่ดีที่สุดเพื่อหยุดการโจมตีที่เกิดจากการผสมผสานหลายเทคนิคเข้าด้วยกัน

ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ (ซ้าย) ผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย และคงศักดิ์ ก่อตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลีใต้ บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์
1 ใน 3 โซลูชันใหม่ที่ Check Point มุ่งมั่นทำตลาดในปีนี้คือ Check Point Infinity AI Copilot โซลูชันรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยี Generative AI ที่จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้องค์กรธุรกิจสามารถรักษาความปลอดภัยได้ในรูปแบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยี AI นอกจากนี้ ยังเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพให้ ThreatCloudAI ของ Check Point พร้อมด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI มากกว่า 50 รายการ เป็นการทำงานในรูปแบบอัตโนมัติที่ลดเวลาและควบคุมการป้องกันภัยคุกคามแบบเรียลไทม์ได้

“โซลูชันนี้สามารถป้องกันการโจมตีที่ไม่รู้จักได้ถึง 99.8% ทำให้เป็นแพลตฟอร์มการจัดการความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ AI Copilot ยังสามารถฝึกอบรมผู้ใช้ให้สามารถป้องกันเทคนิคล่าสุดของแฮกเกอร์ รวมถึงฟิชชิ่งและแรนซัมแวร์ สามารถจัดการความเสี่ยงและตอบสนองต่อเหตุการณ์โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการค้นหาภัยคุกคาม การวิเคราะห์ และการแก้ไข”

อีก 2 โซลูชันที่ถูกนำมาเปิดตัวในงาน CPX 2024 คือ Check Point Quantum Spark 1900 และ 2000 ไฟร์วอลล์ยุคใหม่สำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMB)

ในอีกด้าน Check Point ยังประกาศโปรแกรม Business Partner Program ที่ปรับปรุงใหม่ให้มีแนวทางสอดคล้องกับแพลตฟอร์มที่ครอบคลุม เป็นโปรแกรมที่ช่วยให้พันธมิตรธุรกิจของ Check Point สามารถเพิ่มยอดขายพ่วงและยอดขายต่อยอดสำหรับโซลูชันความปลอดภัยขั้นสูง รวมถึงสามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ เช่น SASE ความปลอดภัยด้านอีเมล สภาพแวดล้อมระบบคลาวด์ เครือข่าย SD-WAN และความปลอดภัยบนมือถือ

“Check Point เป็นรายแรกที่เอา AI เข้ามาอยู่ในโซลูชันจริงและจับต้องได้” คงศักดิ์ทิ้งท้าย “บทสรุปปี 2024 คือเราเป็นแพลตฟอร์มคัมพานี ที่นำเอา AI เอนจิ้นมาใช้ และเชื่อมกับทุกสินค้าที่มีอยู่ เป็นการทำงานร่วมกันทำให้ปัญหาถูกแก้ได้ทุกจุด อิมแพกต์ที่เกิดขึ้นจะไม่มีผลกับราคา เพราะจุดประสงค์ของการนำ AI มาใช้คือการทำให้รับมือภัยได้ดีขึ้น เพิ่มความฉลาดให้ระบบ ไฟร์วอลล์คืออุปกรณ์ เก่งไม่เก่งคือความฉลาดที่จะใส่เข้าไป ซึ่ง AI จะช่วยเรื่องการดำเนินการได้” และ AI ยังทำให้ศึกไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยปี 67 ระอุขึ้นอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น