xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันกลโกงออนไลน์ ผ่านมุมมอง ‘แจ็คกี้ หวาง’ หัวเรือใหญ่ Google ประเทศไทย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘แจ็คกี้ หวาง’ หัวเรือใหญ่ Google ประเทศไทย
ในช่วง 2-3 ปีนี้ คนไทยตื่นตัวเรื่องภัยออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2566 นี้ ผู้คนในไทยค้นหาเกี่ยวกับ “กลโกง” (Scam) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึง “การหลอกลวงทางข้อความ” (SMS Phishing) ที่กลายเป็นหัวข้อด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่ถูกค้นหามากเป็นอันดับ 1 ในปี 2565

ขณะเดียวกัน มิจฉาชีพมีการอัปเดตกลโกงด้วยวิธีใหม่ๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการซื้อสินค้าหรือการจองที่พักสามารถทำได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพียงไม่กี่คลิก ทำให้กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งของมิจฉาชีพ

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีผู้เสียหายจากการถูกหลอกให้โอนเงินค่าห้องพักในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง โดยมิจฉาชีพมีการปลอมเพจที่พักให้เหมือนกับที่พักจริง ทำให้มีผู้หลงเชื่อทันทีโดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวที่ผู้คนต่างพากันเดินทางทำให้ความต้องการในการจองโรงแรมและที่พักสูงขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มิจฉาชีพใช้โอกาสเหล่านี้ในการทำเพจปลอม เลียนแบบโรงแรมและที่พักที่ได้รับความนิยม มาจำหน่ายราคาห้องในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง โดยอ้างว่าเป็นโปรโมชันพิเศษสำหรับผู้ที่สามารถโอนชำระได้ทันที ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมากที่หลงเชื่อตกหลุมพรางนี้ และเมื่อกว่าจะรู้ว่าถูกหลอก ก็ไม่สามารถติดต่อเพื่อขอเงินคืนได้แล้ว

***ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลลวงมิจฉาชีพ

มิจฉาชีพมักใช้กลยุทธ์ยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ ซึ่ง “ดูดีเกินจริง” เพื่อหลอกล่อให้คุณคลิกลิงก์ที่เป็นอันตรายซึ่งอาจนำคุณไปสู่เว็บไซต์ปลอม หรือคำขอให้ดาวน์โหลดแอปที่เป็นอันตรายซึ่งอาจเข้าถึงอุปกรณ์ของคุณหรือข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน มิจฉาชีพอาจเข้าไปขโมยข้อมูลส่วนบุคคล รหัสผ่านบัญชีออนไลน์ หรือหมายเลขบัตรเครดิตของคุณได้


แนวโน้มที่น่ากังวลนี้สะท้อนให้เห็นถึงกลลวงของผู้ไม่ประสงค์ดีที่มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยมุ่งใช้ประโยชน์จากความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมการเงินและชอปปิ้งออนไลน์ มิจฉาชีพมักสร้างความรู้สึกความเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งทำให้เหยื่อไม่มีเวลามากพอที่จะไตร่ตรองสถานการณ์อย่างละเอียดรอบคอบ แค่คลิกเดียวก็ทำให้สูญเสียข้อมูลสำคัญต่างๆ หรือแม้แต่เงินออมทั้งหมดในบัญชีได้

***วิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

เมื่อเห็นโปรโมชันที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะทางโซเชียลมีเดีย หรือแอปแชตต่างๆ แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนที่จะคลิกลิงก์ URL หรือเว็บไซต์ใดๆ ควรติดต่อหรือเข้าไปที่เว็บไซต์ทางการเพื่อตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวมาจากองค์กรหรือหน่วยงานที่แอบอ้างจริงหรือไม่

บางครั้งมิจฉาชีพอาจจะสร้างกลลวงให้เราโหลดแอปปลอมที่เลียนแบบแอปจริง ดังนั้น ก่อนที่จะดาวน์โหลดแอปใดๆ ไม่ว่าจะโหลดจากแอปสโตร์อย่างเป็นทางการหรือเว็บไซต์ของนักพัฒนาแอป ควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน รวมถึงรีวิวจากผู้ใช้ สิทธิของแอป จำนวนการดาวน์โหลด หรือแม้กระทั่งประวัติของนักพัฒนาแอป ตัวอย่างเช่น หากคุณพบแอปแชตที่ได้รับความนิยมทั่วโลก แต่มีการดาวน์โหลดที่ดูน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าแอปนั้นเข้าข่ายต้องสงสัย

ในจุดนี้ ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในระบบ Android จะมีการรักษาความปลอดภัยในตัว รวมถึงการแจ้งเตือนเมื่อมีการไซด์โหลดแอป หรือการติดตั้งแอปพลิเคชันจากภายนอกที่ไม่ได้มาจากแอปสโตร์ที่ได้รับอนุญาต อย่าเพิ่งรีบปิดการแจ้งเตือน อ่านรายละเอียดให้ดีก่อนที่จะกด “ตกลง”

ในกรณีอื่นๆ แอปปลอมมักจะขอการให้สิทธิเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น แอปเครื่องคิดเลขไม่ควรขอสิทธิการเข้าถึง รายชื่อติดต่อ หรือรูปภาพ โดยสามารถดำเนินการตรวจสอบโดยละเอียดเพื่อตรวจสอบการมีสิทธิของแอป ตลอดจนหลักปฏิบัติด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เช่น การตรวจสอบส่วนความปลอดภัยของข้อมูลในแอปสโตร์


นอกจากการมีความระมัดระวังและตื่นตัวอยู่เสมอแล้ว การรักษาความปลอดภัยในตัวและเครื่องมือความปลอดภัยต่างๆ ก็สามารถช่วยปกป้องเราจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น Google Play Protect ที่ช่วยบล็อกและแจ้งเตือนเกี่ยวกับแอปที่อาจเป็นอันตรายบน Android ด้วยการสแกนแอปแบบเรียลไทม์เมื่อติดตั้งแอปที่ไม่เคยผ่านการสแกนมาก่อนเพื่อช่วยตรวจหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ

ในขณะที่ฟีเจอร์ Google Safe Browsing ใน Chrome จะสแกนหาเว็บไซต์และไฟล์ที่เป็นอันตรายโดยอัตโนมัติ เนื่องจากในปัจจุบันโดเมนฟิชชิงมีความซับซ้อนมากขึ้น โดย 60% ของโดเมนเหล่านี้จะมีตัวตนอยู่ไม่ถึง 10 นาที ซึ่งทำให้ยากต่อการบล็อก การพัฒนานวัตกรรมและการปรับปรุงด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การลดระยะเวลาในการระบุและป้องกันภัยคุกคาม เป็นต้น

***การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของตนเอง

ผู้บริโภคทั่วไปอาจจะคิดว่ากลโกงต่างๆ เกิดจากข้อความหลอกลวง และข้อมูลที่ได้รับทางออนไลน์ แต่บางครั้งกลโกงก็เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราแชร์บนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เราอาจแชร์รายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนของเราในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย


เมื่อผู้ไม่ประสงค์ดีที่เข้ามาเห็นอาจใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้เพื่อสร้างข้อความหลอกลวงที่มีความซับซ้อนโดยแอบอ้างเป็นบุคคลที่คุณรู้จัก ซึ่งจะทำให้ข้อความหลอกลวงดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น โปรดจำไว้ว่าทุกสิ่งที่คุณแชร์บนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดีย กลุ่มสนทนา หรือแอปแชตต่างๆ อาจมีผู้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้มากกว่าที่คุณคิดหากส่งหรือแชร์ให้ผิดคนและนี่คือ 3 หลักปฏิบัติสำหรับทุกคน 

1.พิจารณาอย่างรอบคอบ: กลโกงมักออกแบบมาเพื่อสร้างความรู้สึกเร่งด่วน ควรใช้เวลาตั้งข้อสงสัยและพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

2.ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน: หากมีการแอบอ้างว่ามาจากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรใดก็ตาม ควรหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบรายละเอียดที่ได้รับซ้ำอีกครั้ง

3.หยุด! อย่าส่ง/จ่าย: กรณีถูกขอให้ชำระเงินทันทีเพื่อรับส่วนลดพิเศษหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมอยู่หรือเปล่า หากคุณคิดว่าการชำระเงินนั้นมีพิรุธ ก็อย่าจ่าย และให้รายงานกลโกงดังกล่าวตามเห็นสมควร

ที่สำคัญก่อนที่จะโอนชำระเงินในทุกๆ ครั้ง ให้ทำการเช็กข้อมูลของเพจนั้นๆ ให้มั่นใจ เช่น มีการเปลี่ยนประวัติชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ วันที่สร้างเพจ เพราะมิจฉาชีพทั้งหมดจะทำการสร้างเพจนั้นเพียงไม่กี่เดือน รวมถึงลักษณะการโพสต์ที่อาจจะไม่ต่อเนื่อง

หากต้องการความมั่นใจ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน Search เพื่อติดต่อกับที่พักโดยตรงอีกครั้งและยืนยันข้อมูลก่อนการชำระเงินทั้งราคาและหมายเลขบัญชีเพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางมิจฉาชีพ


กำลังโหลดความคิดเห็น