xs
xsm
sm
md
lg

“ทรู ดิจิทัล” ทุบราคาไซเบอร์ซิเคียวริตี ขอ 2 ปีโกยลูกค้าเอสเอ็มอีทะลุพันราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทรู ดิจิทัล” ขยับก้าวใหญ่กระตุ้นธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี เดินหน้าย่อโซลูชันกันภัยไอทีบุกตลาดธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม ทุบราคาเริ่มต้นเหลือ 5 หมื่นบาทต่อเดือน เพิ่มทางเลือก SME ไทยเข้าถึงระบบไซเบอร์ซิเคียวริตีครบวงจร มั่นใจอิมแพกต์แรงเพราะเป็นเซกเมนต์ตลาดที่ไม่มีผู้เล่น วางเป้าเพิ่มฐานลูกค้าองค์กรรายย่อยจากหลัก 10 รายเป็น 1,000 รายให้ได้ในปี 2568 ปูพรมขยายพันธมิตรอีก 30% ดันบริษัทเติบโต 50% ปีนี้



นางฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงแผนดำเนินธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตีในช่วงปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของการต่อยอดแผนกอินเฮาส์ในบริษัทออกมาให้บริการลูกค้าภายนอกอย่างจริงจัง ว่าบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 50% โดยจะมุ่งที่กลุ่มองค์กรขนาดกลาง-ย่อมที่มีพนักงานจำนวน 50-200 ราย ด้วยการให้บริการโซลูชันครบวงจรที่ออกแบบเพื่อ SME โดยเฉพาะ ให้องค์กรสามารถลดความเสี่ยงได้ในราคาที่เอื้อมถึง



“ตลาดซิเคียวริตีเติบโตต่อเนื่อง แต่ผู้ให้บริการในธุรกิจนี้จะเน้นบริษัทขนาดใหญ่ เราถือเป็นรายแรกที่อยากให้เทคโนโลยีไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ทุกองค์กร จึงพัฒนาโซลูชันสำหรับเอสเอ็มอีขึ้นมา ตลาดนี้ไม่มีผู้เล่นเพราะรายได้ไม่มาก ใช้ต้นทุนสูง แต่เราต้องการทำให้เกิดความเท่าเทียม จึงให้บริการในราคาที่เข้าถึงได้”

 นางฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด
ตัวเลขการเติบโต 50% ที่ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตีหวังไว้นั้นสูงกว่ามูลค่ารวมตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีไทย ที่มีแนวโน้มโต 12% ต่อปีต่อเนื่องถึงปี 2570 จากว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 500 ล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ปี 

มูลค่ารวมตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยมีแนวโน้มเติบโต 12% ต่อปีต่อเนื่องถึงปี 2570
เบื้องต้น ทรู ดิจิทัล เชื่อว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มีความสมเหตุสมผล เนื่องจากบริษัทถือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่มีลูกค้าใน 10 ประเทศทั้งกลุ่มอาเซียนและนอกอาเซียนมากกว่า 100 ราย ทั้งบริษัทด้านการเกษตร พลังงาน และภาคการเงิน ในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นท็อป 3 ตลาดต่างประเทศของทรู ดิจิทัล โดยยังมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย อินเดีย รวมถึงอีกหลายประเทศที่เป็นฐานที่ตั้งของธุรกิจบริษัทแม่อย่างซีพี และธุรกิจต่างชาติอื่นๆ ที่มาให้บริการในประเทศไทย


ปัจจุบัน ทรู ดิจิทัล ซิเคียวริตีมีรายได้ 5% จาก SME และอีก 95% เป็นรายได้จากองค์กรขนาดใหญ่ โดย 20% ของรายได้รวมมาจากตลาดต่างชาติ ที่เหลือ 80% เป็นสัดส่วนรายได้จากลูกค้าไทย คาดว่าในอนาคตรายได้ 5%จาก SME จะเพิ่มเป็น 20% ทั้งหมดเป็นผลงานของบริษัทที่เริ่มให้บริการไซเบอร์ซิเคียวริตีมานานกว่า 4 ปี ในฐานะธุรกิจที่ออนท็อปบริการลิงก์เชื่อมต่อและซิมการ์ดสำหรับองค์กร จนล่าสุดบริษัทมุ่งขยายออกมาให้บริการลูกค้าภายนอก โดยใช้จุดแข็งจากการเป็นผู้ใช้บริการ ซึ่งทำให้ทรู ดิจิทัลได้ราคาโซลูชันแบบเหมาล็อตใหญ่ จึงนำมาให้บริการกับลูกค้าต่อด้วยราคาที่อาจต่ำสุดในอาเซียน



***เพื่อเอสเอ็มอี 24 ชั่วโมง


โซลูชันเพื่อเอสเอ็มอีที่ทรู ดิจิทัล ออกแบบใหม่ จะมีระบบบริหารจัดการความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี ML (Machine Learning) และ AI สามารถตรวจจับและตอบสนองภัยคุกคามได้อัตโนมัติแบบเรียลไทม์ โดยกระบวนการด้านความปลอดภัยล้วนได้รับการรับรองมาตรฐานสากล และทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

“เรากำลังทำราคา ปรับแต่ง 5 บริการหลักของเราเพื่อให้เข้าถึงง่าย จากไซส์แพกใหญ่ข้อมูล 100 กิกะไบต์ มีการปรับไซส์ให้ลดลงเหลือ 20 กิกะไบต์ ในราคาถูกลง ราคาเริ่มต้นประมาณ 50,000 บาทต่อเดือนสำหรับองค์กรขนาด 50-60 คน ซึ่งองค์กรที่เล็กกว่านั้นจะมีโซลูชัน B2C มารองรับ โดยจะเปิดตัวในเร็ววันนี้”



5 บริการด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีครบวงจรสำหรับโฟกัส SME ที่ฐิติรัตน์กล่าวถึง ได้แก่ 1.Security Operations Center (SOC) ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังด้านความมั่นคงปลอดภัย 2.Managed Security Services บริการ Outsource เพื่อการบริหารจัดการระบบความปลอดภัยไซเบอร์ 3.Governance Risk and Consulting บริการให้คำแนะนำปรึกษาด้านการประเมินความเสี่ยง 4.Offensive Cybersecurity บริการทดสอบเจาะระบบ และค้นหาช่องโหว่ 5.PDPA and Data Protection บริการให้คำปรึกษาในการปกป้องข้อมูลรั่วไหล และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


ฐิติรัตน์เชื่อว่าทั้ง 5 บริการนี้มีโอกาสงามรออยู่ เนื่องจากในปี 2566 ที่ผ่านมา สถิติภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ของประเทศไทยมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึงเท่าตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยเป็นเป้าหมายใหญ่ของการโจมตี รองมาคือ หน่วยงานราชการ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจค้าปลีก 

นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ยังกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของการโจมตี เนื่องจากประสิทธิภาพของระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของธุรกิจ SMEs ยังไม่เพียงพอ รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ปัจจุบัน SMEs มีความเสี่ยงที่จะเผชิญภัยคุกคามไซเบอร์สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 3 เท่าตัว

Security Operations Center (SOC) ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังด้านความมั่นคงปลอดภัย 24 ชั่วโมงของทรู ดิจิทัล
เมื่อถามถึงการลงทุนในปี 2567 ทรู ดิจิทัลยอมรับว่าจะมีการลงทุนเพิ่มแบบรวมทั้งกลุ่มทรู ดิจิทัล ซึ่งนอกจากมูลค่าการลงทุนกับบริการศูนย์ SOC และธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี ฐิติรัตน์เผยว่าจะมีการเพิ่มจำนวนพันธมิตรอีก 30% เพื่อรองรับความต้องการและตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยที่ผ่านมา ศูนย์ SOC ของทรู ดิจิทัลมีพนักงานรวม 80 คน ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากที่มี 60-70 คนใน 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของทรู ดิจิทัลคือตัวเลขงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีขององค์กรไทยที่ยังต่ำ โดยการสำรวจล่าสุดพบว่าค่าเฉลี่ยงบประมาณอยู่ในระดับ 400 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น

ทรู ดิจิทัลวางแผนเพิ่มจำนวนพันธมิตรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีอีก 30% ใน 2 ปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น