เปิดความท้าทาย AIS Points แพลตฟอร์มสิทธิประโยชน์ที่ดูแลลูกค้าเกือบ 50 ล้านคน จากผู้ใช้งานบริการของ AIS ทั้งโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตบ้าน ต่อเนื่องไปถึงการเชื่อมระบบกับ 3BB เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในทุกกลุ่ม บนเป้าหมายเพิ่มปริมาณลูกค้าที่เข้ามารับสิทธิพิเศษขึ้น 30% จากปีที่ผ่านมา 23 ล้านราย
ในยุคที่การแข่งขันของผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่คุณภาพในการให้บริการสินค้าและบริการเพียงเท่านั้น แต่การดูแลให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกค้า กลายมาเป็นอีกหนึ่งแกนสำคัญที่ช่วยลดอัตราการย้ายค่าย (Churn rate) ที่ปัจจุบันเหลือผู้ให้บริการรายหลักเพียง 2 รายเท่านั้น
ความตั้งใจในการยกระดับแพลตฟอร์ม AIS Points ในปีนี้ของเอไอเอส จะเน้นทั้งการเพิ่มจำนวนลูกค้าที่สามารถเข้าถึงสิทธิพิเศษ พร้อมไปกับการเพิ่มพันธมิตรที่เข้ามาร่วมโดยเฉพาะในกลุ่มร้านค้าที่เข้าร่วมแคมเปญนำพอยท์ไปแลกสิทธิพิเศษ จนถึงกลุ่มที่สามารถโอนย้ายคะแนนสมาชิกมาเป็น AIS Points แบบไร้รอยต่อ (Seamless) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้ากว่า 49.1 ล้านราย
โดยปัจจุบันฐานลูกค้าของ AIS ที่มีเกือบ 50 ล้านรายจากข้อมูลในช่วงไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา มาจากทั้งธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 44.4 ล้านราย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านภายใต้แบรนด์ AIS 3BB Fibre3 อีก 4.7 ล้านราย รวมถึงลูกค้าองค์กร และธุรกิจบริการดิจิทัลต่างๆ ด้วย
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในการเชื่อมต่อระบบของ AIS Fibre เข้ากับ 3BB ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทำให้คาดว่าลูกค้าของ 3BB Fibre3 จะสามารถเปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นคะแนนสะสม AIS Points ได้ในช่วงไตรมาส 2 นี้
ใจพร ศรีสกุล หัวหน้าหน่วยธุรกิจบริหารลูกค้าและการบริการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า จุดมุ่งหมายหลักในการดูแลลูกค้าของ AIS นอกเหนือจากคุณภาพเครือข่าย การให้บริการแล้ว ยังต้องรวมถึงความพิเศษที่จะเข้าไปตอบโจทย์การใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ และการใช้งานในทุกๆ วัน
“การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แพลตฟอร์ม AIS Points จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์ในการดูแลลูกค้าผ่านการสะสมพอยท์จากการใช้งานปกติ ที่ลูกค้า AIS ทุกคนสามารถเข้าร่วมโปรแกรมนี้ได้เพียงเปิดใช้งานแอป myAIS และเริ่มการสะสมพอยท์แลกรับสิทธิพิเศษต่างๆ”
ที่ผ่านมา แคมเปญการสะสมคะแนนของเอไอเอสเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และดูแลลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลในปีที่ผ่านมามีลูกค้าเข้าร่วมโครงการสะสมพอยท์ราว 23 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 20% บนเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ขึ้นไปอีกราว 30% หรือเกือบๆ 30 ล้านราย
สิ่งสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์ม AIS Points สามารถเข้าไปตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า คือการที่เอไอเอสนำข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาวิเคราะห์ และเสริมสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับการใช้งานที่เฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้าในทุกช่วงอายุสามารถเข้าถึงสิทธิพิเศษที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ในการใช้งาน
"ช่วงปีที่ผ่านมา AIS Points จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพ และร้านค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ตรงกับเทรนด์ของสังคมผู้สูงอายุ และการที่ผู้คนมีลูกน้อยลง ทำให้หันไปเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ทำให้การแข่งขันในด้านนี้ คือการแข่งกับตัวเองว่าจะให้สิทธิประโยชน์ลูกค้าครบทุกกลุ่มหรือไม่"
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาลูกค้ามีการนำ AIS Points ไปแลกรับสิทธิพิเศษต่างๆ กว่า 1,400 ล้านพอยท์ โดยกว่า 50% จะใช้แลกรับสิทธิพิเศษที่เกี่ยวข้องกับ ‘กิน ดื่ม เที่ยว’ ของร้านค้าแบรนด์ดังต่างๆ ตามด้วย 20% ที่แลกรับส่วนลดค่าโทร. และค่าเน็ต เช่นเดียวกับการลุ้นรับของรางวัลพิเศษ โดยมีผู้ใช้ราว 10% ที่ใช้ AIS Points แทนเงินสดในร้านค้าถุงเงินที่เข้าร่วม
*** ‘รับ แลก ลุ้น’ 3 แกนสำคัญของ AIS Points
ที่ผ่านมาการที่จะได้ ‘รับ (EARN)’ คะแนนสะสมของ AIS Points จะมีเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากลูกค้าอย่างค่าบริการรายเดือน หรือการเติมเงิน ทำให้ลูกค้ากลุ่มหลักที่ใช้งานสิทธิประโยชน์จะเป็นลูกค้ารายเดือน และลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้าน หรือไฟเบอร์เป็นหลัก เพราะมีการชำระค่าบริการต่อเนื่องสะสมไปทุกเดือน ด้วยอัตราส่วน 25 บาท เท่ากับ 1 พอยท์
แต่ในปีนี้ AIS จะเพิ่มวิธีในการรับคะแนนสะสมเพิ่มเติมเข้ามา อย่างค่าใช้จ่ายที่ศูนย์บริการเอไอเอส กรณีที่ซื้อสมาร์ทโฟนสามารถสะสมคะแนนได้เพิ่มเติมทุกๆ 200 บาท รับ 1 เอไอเอสพอยท์ และมีสิทธิพิเศษเฉพาะลูกค้าเซเรเนด เมื่อซื้อสินค้าในเดือนเกิดทุกๆ 100-150 บาท จะได้รับ 1 พอยท์ (ตามสถานะเซเรเนด)
รวมถึงการเพิ่มช่องทางโอนคะแนนสะสมจากการใช้งานต่างๆ ของพาร์ตเนอร์มาเป็น AIS Points ที่ล่าสุดขยายความร่วมมือกับพอยท์เอกซ์ และ MAAI by KTC (มาย บาย เคทีซี) เพิ่มเติม ทำให้วันนี้เอไอเอสเป็นพอยท์ แพลตฟอร์มที่ลูกค้าสามารถโอน แลกคะแนนได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
“สิ่งที่เอไอเอสยึดถือคือการเชื่อมต่อระบบที่ไร้รอยต่อ และที่ทำสำคัญคือลูกค้าต้องมีความสะดวกในการแลกคะแนนสะสมเพื่อใช้งาน ทำให้แพลตฟอร์ม AIS Points สามารถเชื่อมต่อเข้าคะแนนสะสมของพันธมิตรเพื่อแลกใช้งานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมาคอยกดแลกคะแนนไปมาในทุกครั้งที่ใช้”
ถัดมาในส่วนของการ ‘แลก (BURN)’ นอกจากการใช้พอยท์เพื่อแลกรับส่วนลดสินค้า บริการ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ของ AIS แล้ว ในปีนี้ AIS Points จะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้าอย่างต่อเนื่อง จากที่ปัจจุบันมีร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมได้มากกว่า 2 ล้านร้านค้า ครอบคลุมทั้งอาหาร เครื่องดื่ม จนถึงร้านค้ารายย่อย และร้านสตรีทฟูดต่างๆ
“AIS ยังทำงานร่วมกับทางธนาคารกรุงไทยต่อเนื่อง ในส่วนของร้านค้าถุงเงิน ที่ปัจจุบันมีการเพิ่มระบบอย่าง Super QR Code ให้ร้านค้าสามารถใช้ QR Code เดียวในการรับทั้งเงินสด หรือการใช้ AIS Points ในการชำระค่าสินค้า ที่จะช่วยให้ร้านค้าขนาดเล็กมีความสะดวกในการรับเงินได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น”
ความสะดวกของ Super QR Code คือร้านค้าสตรีทฟูดสามารถใช้ QR Code นี้ ในการรับชำระ AIS Points เมื่อลูกค้าใช้แอป myAIS สแกนจ่ายได้ทันที ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นลูกค้าทั่วไปก็สามารถเข้าแอปธนาคาร เพื่อสแกนจ่ายได้ตามปกติจาก QR Code เดียวกันนี้
จุดที่น่าสนใจของร้านค้าในกลุ่มถุงเงินคือ ลูกค้าที่เข้าไปใช้คะแนนชำระค่าสินค้า อาหารต่างๆ จะเป็นกลุ่มลูกค้าเติมเงินเป็นหลัก มีอัตราการใช้พอยท์เฉลี่ยอยู่ที่ราว 90 บาท ซึ่งการที่มีร้านเล็กๆ กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ทำให้แพลตฟอร์ม AIS Points เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการจับจ่ายใช้สอยผ่านดิจิทัลได้ด้วย
สุดท้ายคือ ‘ลุ้น (EXCITEMENT)’ ที่ในปีนี้จะสร้างความต่อเนื่องจากแคมเปญ Lucky Draw ใช้พอยท์มาร่วมลุ้นทั้งสมาร์ทโฟน ทองคำ และรถยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าในปีนี้จะมีแจกด้วยกันในทุกๆ ไตรมาส