จากเป้าหมายของกลุ่มสามารถ (SAMART) ในปีนี้ที่คาดหวังอัตราการเติบโต 30% หรือรายได้รวมกว่า 13,000 ล้านบาท โดยที่กว่า 50% ของรายได้มาจากโครงการที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ ทำให้กลุ่มสามารถต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
ทำให้ในปีนี้กลุ่มสามารถมีการวางกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่าน 3 แนวทางคือ 1.นำเสนอโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ (Outsourcing Business Model) 2.ทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อแสวงหาโอกาส (Strategic Business Partner) และ 3.ขยายบริการด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ทั้งใน และต่างประเทศ
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ว่า จะเป็นปีที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากภาวะสงคราม และเงินเฟ้อ รวมถึงงบประมาณภาครัฐที่ยังไม่หมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
“เนื่องจากงบประมาณในปี 2567 มีความล่าช้า ทำให้โครงการต่างๆ ยังไม่ถูกอนุมัติ หลังรัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานประมาณ 6 เดือน แต่มีส่วนที่ดีขึ้นการมีนโยบายใหม่ๆ เข้ามา ทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณของปี 2568 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ด้วย”
สำหรับปีที่ผ่านมา กลุ่มสามารถมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่เกือบหมื่นล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้าว่าในปีนี้จะเติบโตราว 30% ขึ้นมาอยู่ที่ 13,127 ล้านบาท ซึ่งเกือบ 50% จะเป็นรายได้จาก Backlog มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้วปีนี้จะเป็นอีกปีที่สามารถทำกำไรได้สูงที่สุดหลังผ่านพ้นช่วงการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ
“การแข่งขันในปีนี้จะยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในลักษณะของปลาใหญ่กินปลาเล็ก เมื่อบริษัทขนาดใหญ่หันมาให้บริการแข่งกับรายย่อยมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยยังต้องเหนื่อต่อไป นอกจากนี้ ยังพบว่าสตาร์ทอัปไม่ได้ระดมทุนง่ายเหมือนเมื่อก่อน ต้องมีการแยกกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดแข็งของกลุ่มสามารถ ที่จะเลือกทำธุรกิจที่คู่แข่งไม่เยอะ ทำให้เชื่อว่าในปีนี้ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่แทนงบรัฐ พร้อมเพิ่มโอกาสในการได้โครงการใหญ่ จากการทำงานร่วมกับบิสสิเนสพาร์ทเนอร์ ที่จะเข้าไปต่อยอด และขยายธุรกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“ในปีที่ผ่านมา SAV สามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กลุ่มสามารถลดต้นทุนทางการเงินลง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้มองถึงการเข้าไปลงทุนในลักษณะของ Outsourcing เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ประจำของกลุ่มให้ขึ้นมาอยู่ที่ 40% ภายในปีนี้”
ทั้งนี้ วัฒน์ชัย ระบุว่า ใน 3 ธุรกิจหลักของกลุ่มสามารถ แต่ละธุรกิจจะมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ทั้งสายธุรกิจ Digital ICT Solution ที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ราว 6,000 ล้านบาท เติบโตปีก่อนหน้า 30% สายธุรกิจ Utilities & Transportations (U-Trans) ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,500 ล้านบาท เติบโต 23% และสายธุรกิจ Digital Communications ตั้งเป้ารายได้ราว 1,600 ล้านบาท
*** SAMTEL-U-Trans เน้นหาโซลูชัน สร้างรายได้ยั่งยืน
สำหรับในสายธุรกิจ Digital ICT Solution ปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.สายธุรกิจโครงสร้างเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม (Network Solution) 2.สายธุรกิจเทคโนโลยีประยุกต์ด้าน ICT (Enhanced Technology Solution) และ 3.สายธุรกิจแอปพลิเคชัน สนับสนุนด้านการประกอบธุรกิจ (Business Application) ที่ในปีนี้จะเข้าไปทำงานกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งในฝั่งของผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และโซลูชัน ไปจนถึงการนำเสนอแก่ลูกค้าที่ตรงกับความต้องการ
จง ดิลกสมบัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางของ SAMTEL ในปีนี้จะเริ่มเห็นการนำบริษัทย่อยในกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของไซเบอร์ซิเคียวริตี และการพัฒนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เข้าไปวางระบบให้แก่กรมที่ดินเพื่อลดการใช้เอกสารสู่ดิจิทัลทั้งหมด
เบื้องต้น ในสายธุรกิจนี้ SAMTEL คาดว่ามีโอกาสที่จะคว้างานโครงการมูลค่าราว 7,000 ล้านบาท จากการนำเสนอดิจิทัลโซลูชันทางด้านการเงิน การธนาคาร ที่สามารถขยายตลาดไปให้บริการบูรณาการข้อมูลระหว่างธนาคารภาครัฐ ด้วยการพัฒนาเกตเวย์ในการเชื่อมต่อ จนถึงการขยายโซลูชันบริหารจัดการองค์กร และการให้บริการเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานรัฐอย่าง Smart CCTV ที่สามารถต่อยอดไปใช้ในการตรวจสอบใบหน้า ติดตามเส้นทางบุคคลต้องสงสัย การตรวจสอบป้ายทะเบียนรถ
โดยในช่วงกลางปีนี้ SAMTEL จะมีการขยายโมเดลธุรกิจใหม่ในลักษณะของ Outsourcing เข้ามา เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นงานในลักษณะใด ซึ่งที่ผ่านมาการเข้าไปลงทุนระบบอย่าง Direct Coding ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสินค้าสุราชนิดเบียร์ ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยของสรรพสามิต ได้กลายเป็นโมเดลตัวอย่างที่จะเปิดโอกาสในการเข้าไปลงทุนระบบเพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ มาใช้งานต่อไป
ธีระชัย พงษ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสายธุรกิจ U-Trans ที่ในปีนี้ SAV ซึ่งเข้าไปบริหารจัดการจราจรทางอากาศในกัมพูชา จะมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องจากทราฟฟิกการบินที่จะทยอยกลับมาเพิ่มเติม และมองถึงโอกาสในการนำโซลูชันเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมในประเทศ
สำหรับเป้าหมายรายได้ของ U-Trans 5,500 ล้านบาท ในปีนี้ หลักๆ แล้วจะมาจาก SAV ราว 1,963 ล้านบาท TEDA ซึ่งปัจจุบันให้บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้งสถานีไฟฟ้าแรงสูง อยู่ที่ 1,507 ล้านบาท ธุรกิจ Direct Coding 981 ล้านบาท และ VISION ที่ให้บริการโซลูชันรักษาความปลอดภัย 710 ล้านบาท
*** SDC สร้างรายจากลูกค้า DTRS
สุดท้ายในสายธุรกิจดิจิทัลของสามารถ ดิจิตอล (SDC) ที่ปัจจุบันยังมีภาระขาดทุนจากการลงทุนโครงข่าย Digital Trunk Radio (DTRS) ที่ปีนี้คาดว่าจะดีขึ้น และเริ่มฟื้นกลับมาสร้างรายได้ จากการที่เริ่มรับรู้รายได้จากการใช้บริการของลูกค้าในมหาดไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกว่า 90,000 ราย
สุภวัส พรหมวิทักษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สามารถ ดิจิตอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ธุรกิจ DTRS จะเน้นการขยายไปให้บริการใน 3 กลุ่มหลักคือ สาธารณสุข (Public Safety) การปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Government) และขนส่ง (Transportation) ที่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบสื่อสารที่มีความแม่นยำ ใช้งานได้ในทุกสภาวะ โดยตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 120,000 ราย
ต่อเนื่องมาถึงธุรกิจสายมู หลังจากเปิดตลาดด้วย Lucky Heng Heng ให้บริการครบวงจรทั้งดูดวงออนไลน์ ทำบุญออนไลน์ จำหน่ายสินค้าวัตถุมงคล และการทำตลาดสายมูให้ลูกค้าองค์กรต่างๆ ที่ในปีนี้จะขยายบริการไปสู่กลุ่มอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
“โอกาสของ Lucky Heng Hang คือการขยายไปตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าจีน ฮ่องกง มาเลเซีย และไต้หวัน ที่ต้องการทำบุญ หรือแก้บน ที่ปัจจุบันรองรับการทำบุญในวัดชื่อดังกว่า 100 แห่งในประเทศไทย”
ขณะเดียวกัน จะต่อยอดการทำงานร่วมกับกลุ่มลูกค้าธนาคาร และโอเปอเรเตอร์ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมากให้เข้ามาใช้บริการแอปพลิเคชันเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำธุรกิจ Mutech ทั้งในไทย และต่างประเทศ