xs
xsm
sm
md
lg

2C2P ขยายโฟกัสแข่งออฟไลน์ นำร่องแม่ค้ารับแตะบัตรที่มือถือ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Edited - 2C2P (ทูซีทูพี) เป็นผู้ให้บริการโซลูชันการรับชำระเงินที่ส่วนใหญ่ช่วยให้ร้านค้าอีคอมเมิร์ซรับชำระเงินออนไลน์ได้สะดวก แต่วันนี้บริษัทกำลังขยายผลมาให้บริการกับร้านค้าออฟไลน์ทั้งที่อยู่ในตลาดหรือข้างทาง ซึ่งจะทำให้แม่ค้าพ่อขายคนไทยสามารถรับจ่ายเงินจากลูกค้าทุกชาติที่ถือบัตรเครดิต ด้วยการแตะบัตรกับโทรศัพท์มือถือของร้านได้อย่างสะดวกสบาย คาดว่าจะเป็นภาพที่เกิดขึ้นกับร้านค้าขนาดย่อมของไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่งในช่วงครึ่งหลังปี 2567

การขยายวงโฟกัสครั้งนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเจ้าพ่อฟินเทคด้านเพย์เมนต์เกตเวย์ของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อ 2C2P มี Ant Group (แอนท์กรุ๊ป) ยักษ์ใหญ่ด้านฟินเทคของจีนเป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่เมษายน 2565 ผลของดีลนี้คือกลุ่มผู้ค้าของ 2C2P ถูกเสียบปลั๊กเข้ากับบริการ Alipay+ (อาลีเพย์) แบบแนบสนิท การตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีนจึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ดลใจให้ 2C2P หันมาให้ความสำคัญกับตลาดออฟไลน์ไทยที่มีโอกาสงามรออยู่มากขึ้น โดยที่ 2C2P ต้องตัดใจชะลอแผนบุกยุโรปและตะวันออกกลางที่เคยวางไว้ในปีก่อนหน้าออกไป แล้วกลับมามุ่งที่พื้นที่ไข่แดงอย่างตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบเต็มสูบ

  ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด (2C2P)
อย่างไรก็ตาม 2C2P ในประเทศไทยนั้นไปได้สวย หากไม่นับความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ยุติการทดลองใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางนาน 3 เดือนไปแล้ว ถือว่า 2C2P ท็อปฟอร์มมากด้วยรายได้ที่เติบโต 30% เบ็ดเสร็จแล้วเกินกว่า 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 700 ล้านบาทซึ่งคาดว่าจะยังเติบโตต่อไปอีกในปี 2567 จากปัจจุบันที่มีธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ผ่านระบบของบริษัทกว่า 150 ล้านรายการต่อปี ในมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนของรายการปีนี้มาจากมาร์เก็ตเพลส ฟูดเดลิเวอรี ซูเปอร์แอป สายการบิน ขายตรง และท่องเที่ยว

***ขยายอีเพย์เมนท์คลุมออฟไลน์

ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด (2C2P) เปิดแผนธุรกิจสำหรับปี 2567 ว่าบริษัทเตรียมลุยบริการใหม่ “แตะเพื่อจ่าย” หรือ tap to phone เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมประเทศไทยให้มีระบบเศรษฐกิจที่รองรับการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่ครบถ้วน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ในปี 2570 โดย 2C2P วางกำหนดเปิดฟีเจอร์ใหม่ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

“2C2P จะเริ่มจับตลาดที่ไม่ใช่ออนไลน์ นี่เป็นครั้งแรกที่จะไป เราเห็นทั้งเทรนด์และโอกาส” ปิยชาติกล่าว “ปีนี้เราเน้นลงทุนเพื่อเพิ่มความเสถียร และการรองรับของระบบเพื่อฐานลูกค้าจำนวนมากที่ Ant ส่งมา การรองรับของเราจึงต้องเพิ่มได้ ซึ่งไม่ได้ยากและเรื่องซิเคียวริตีก็จะค่อยๆ เพิ่ม”

บริการใหม่ของ 2C2P จะถูกเพิ่มเติมในรูปฟีเจอร์ของระบบชำระเงิน Qwik โดยเรียกว่า “แตะเพื่อจ่าย” หรือ tap to pay หลักการของ Qwik คือร้านค้าที่มีหน้าร้านหรือมีหลายสาขา สามารถใช้มือถือ Android ทุกรุ่นที่มี NFC ยื่นให้ลูกค้า แตะบัตรเครดิตจ่ายเงินที่หน้าร้านได้สะดวกสบาย ไม่ต้องกรอกเลขบัตร และไม่ต้องมีเครื่องอ่านข้อมูลเพิ่มเติม เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่และกลางที่มีหลายสาขา และกลุ่ม SME เพื่อเป็นตัวช่วยให้ร้านค้าสามารถปิดการขายได้ไวและง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีช่องทางรับชำระอื่น เช่น Alipay และ Wechatpay เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนด้วย

2C2P วางกำหนดเปิดฟีเจอร์ใหม่ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

tap to pay กำลังจะเป็นเครื่องมือใหม่ของธนาคาร ทำให้ธนาคารสามารถโฟกัสกับลูกค้าที่เป็นร้านค้าขนาดเล็กได้มากขึ้น
ปิยชาติเชื่อว่าข้อดีของ tap to pay จะทำให้พ่อค้าแม่ขายไทยมีรายงานการขายที่ครบถ้วนถูกต้องแบบไม่ต้องใช้มือจด ขณะที่ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเติมเงินเหมือนระบบวอลเล็ต เบื้องต้น บริษัทวางแผนจะทำตลาดร่วมกับธนาคาร ซึ่งมีสาขาและมีพนักงานขายอยู่แล้ว ทำให้ธนาคารสามารถโฟกัสกับร้านค้าขนาดเล็กได้มากขึ้น

“tap to pay จะเป็นเครื่องมือใหม่ของแบงก์ ไม่ได้มาแทน EDC เพราะ EDC สะดวกกับร้านขนาดใหญ่อยู่แล้ว เราพยายามทำโมบายแอปนี้ให้เป็นเหมือนเครื่อง EDC และเครื่อง POS ในร้านขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้เน้นเจเนอเรต QR ขึ้นมาแล้วสแกนเท่านั้น แต่เน้นรองรับลูกค้าที่บางครั้งอยากใช้บัตรเครดิต จึงพัฒนาให้ลูกค้าเอาบัตรเครดิตมาแตะที่โทรศัพท์ได้เลย”

EDC ที่ปิยชาติกล่าวถึงคืออุปกรณ์ที่อยู่ในลักษณะของเครื่องรับจ่ายเงินที่เป็นได้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต สามารถรับเงินผ่านทาง QR Code ได้ โดยจะเป็นการรับจ่ายผ่านรูปแบบ e - Wallet, Alipay หรือ WeChat เช่น การใช้แอปเป๋าตังก็ได้ เบื้องต้น 2C2P ได้รับความสนใจล้นหลามจากการสาธิตการใช้งาน tap to pay ที่งานประชุมฟินเทคในสิงคโปร์ เนื่องจากบัตรเครดิตและโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มีชิปพร้อมดำเนินการ โดยค่าธรรมเนียมบริการจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าปกติ



***วอลเล็ตหงอย เกตเวย์คึกคัก

ปิยชาติไม่ได้เอ่ยเต็มปากว่า tap to pay จะเป็นส่วนหนึ่งที่ดันให้ธุรกิจ 2C2P เติบโตมั่นคงในปี 2567 แต่ยกให้ธุรกิจเพย์เมนต์เกตเวย์เป็นพระเอกที่สร้างรายได้หลักให้ 2C2P โดยยกตัวอย่างธุรกิจวอลเล็ตที่ไม่เติบโตเท่าเกตเวย์ ว่ายังมีหลายปัจจัยที่ทำให้บริการวอลเล็ตรายย่อยไม่สำเร็จในประเทศไทย

การจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตยังคงได้รับความนิยม
“ธุรกิจชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงชัดมาก วอลเล็ตหลายเจ้าหายไป แต่ยังมีรายที่ประสบความสำเร็จ บางรายมีปัญหาเรื่องลูกค้าไม่สะดวกเดินทางมายืนยันตัวตน ไม่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ไม่มีช่องทาง และไม่มีจุดประสงค์ชัดเจนว่าทำวอลเล็ตขึ้นมาทำไม” ปิยชาติระบุ “สำหรับตลาดเพย์เมนต์เกตเวย์ปี 67 แม้จะเห็นเรื่องโควิดระลอกใหม่ แต่เรายังเห็นการเจริญเติบโต การท่องเที่ยวที่โตดุเดือดมาก ทั้งสายการบิน โรงแรม ตัวแทนทัวร์ กลุ่มนี้เป็นธุรกิจที่มียอดสูงสุดในอีคอมเมิร์ซไทย หากรัฐบาลสนับสนุนด้วยฟรีวีซ่าย่อมทำให้ธุรกิจสายการบินดีขึ้นอีก เป็นตัวกระตุ้นได้มากรวมถึงโปรแกรมช็อปดีมีคืนที่จะกระตุ้นได้อีกมากตลอดช่วง ม.ค.-ก.พ.”

ปิยชาติเชื่อว่าการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตยังคงได้รับความนิยม เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในอีคอมเมิร์ซ และการจ่ายชำระค่าตั๋วเครื่องบินล้วนเกิดขึ้นด้วยบัตรเครดิตบนมูลค่าหลักแสน อีกปัจจัยคือการผ่อนชำระออนไลน์ที่มียอดเติบโตสูงกว่า 30-40% เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและการโปรโมตของร้านค้า

รายได้จากประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 60% ของกลุ่ม 2C2P โดยธุรกิจเพย์เมนต์เกตเวย์ถือเป็นแหล่งรายได้ 70% ของรายได้รวม
ปัจจุบัน ธุรกิจเพย์เมนต์เกตเวย์ถือเป็นแหล่งรายได้ 70% ของรายได้รวม 2C2P นอกนั้นเป็นธุรกิจโซลูชันระบบตัดเงินจากบัญชีธนาคารและวอลเล็ต โดยรายได้จากประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 60% ของกลุ่ม เบื้องต้น 2C2P ไม่มีแผนระดมทุนเพิ่ม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการร่วมกับ Ant ทำให้ 2C2P มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่รออยู่ ขณะที่ Ant มีความชำนาญเรื่องวอลเล็ต ไม่ใช่เพย์เมนต์เกตเวย์ที่ 2C2P เชี่ยวชาญมากกว่า บริษัทจึงมุ่งเดินหน้าหาตลาดใหม่ เพื่อต่อยอดรายได้บนฐานลูกค้าที่มาจาก Ant ให้ได้

ประเด็นนี้ถือว่าน่าสนใจสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลในไทย เพราะการแข่งขันของค่ายฟินเทคด้านเพย์เมนต์ในไทยอาจกำลังถึงจุดที่ต้องเข้ามาป้องกันการผูกขาด เห็นได้จากแนวโน้ม “เจ้าใหญ่ซื้อเจ้าเล็ก” รวมถึงภาวะที่ผู้ให้บริการรายเล็กเริ่มไม่มีโอกาสเสนอตัวรับโปรเจกต์ แม้จะพยายามพัฒนาระบบขึ้นมาแต่โอกาสแจ้งเกิดนั้นมีน้อยมาก ซึ่งหากการแข่งขันในตลาดเพย์เมนต์ไม่เกิดขึ้นอย่างยุติธรรม แม่ค้าพ่อค้ารวมถึงลูกค้าผู้ใช้งานในอนาคตอาจต้องเจ็บจี๊ดทุกครั้งที่ติ๊ดจ่ายเงินก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น