17 ตุลาคม 2565 ดร.จวง ซั่วฮั่น ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เผยแพร่บทความ เรียกร้องประชาคมโลก หวังผลักดันแผนเข้าร่วมองค์กรตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL)
เนื้อหาบทความ ดังนี้
การปราบปรามอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติยุคหลังโควิด การมีไต้หวันเข้าร่วมจะทรงพลังมากยิ่งขึ้น
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำลายเศรษฐกิจยุคหลังโควิด
ยุคหลังสถานการณ์โควิด ผู้คนส่วนใหญ่เคยชินกับการใช้ชีวิตด้านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน การซื้อสินค้าและการค้าขายอื่นๆ บริการทางการเงินออนไลน์ซึ่งสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งคริปโตเคอร์เรนซีซึ่งกำลังเป็นตลาดที่ร้อนแรงในระยะนี้ จึงกลายเป็นเป้าหมายการฉ้อโกงของแก๊งอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ การก่ออาชญากรรมที่ไร้พรมแดนเช่นนี้ยังความยากลำบากแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนจับกุมมากกว่าเดิม จากสถิติ พบว่าตลอดปี พ.ศ.2564 ไต้หวันประสบความเสียหายสูงถึงห้าพันหกร้อยล้านเหรียญไต้หวัน จากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ปัญหาที่ตามมาอันได้แก่ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การฟอกเงินและการหลบเลี่ยงภาษีอากร ยังได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติอย่างร้ายแรง และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ เราเชื่อว่ามีเพียงการร่วมมือของตำรวจประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด จึงจะสามารถลดคดีผู้เสียหายและช่วยรัฐบาลประเทศต่างๆ เพิ่มสมรรถภาพในการดำเนินนโยบายของรัฐต่อไป
ร่วมกันกวาดล้างการฟอกเงินโดยอาศัยคริปโตเคอร์เรนซี
คริปโตเคอร์เรนซีเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะทางการค้าแบบ “ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูง” ในขณะที่ตลาดการลงทุนกำลังร้อนแรงขึ้นทุกที มีผู้คนจำนวนมากไม่เข้าใจระบบการดำเนินการของคริปโตเคอร์เรนซีมากนัก จึงเป็นช่องว่างเปิดโอกาสให้แก๊งอาชญากรรมฉ้อโกงได้ฉกฉวย แก๊งอาชญากรรมส่วนใหญ่มักล่อลวงให้เหยื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี ให้เหยื่อโอนเงินให้เพื่อลงทุนหรือไม่ก็หลอกลวงด้วยผลตอบแทนสูงลิ่วจากการซื้อขายที่ไม่มีมูลความจริง ขอให้เหยื่อซื้อคริปโตเคอร์เรนซีจากแพลตฟอร์มอื่นแล้วโอนเข้าลงทุนในวอลเล็ตของบุคคลตามที่ระบุให้ เนื่องจากปัจจุบันกฎระเบียบด้านคริปโตเคอร์เรนซีของแต่ละประเทศยังไม่เป็นเอกภาพ บวกกับคริปโตเคอร์เรนซีขยายตัวโดยไม่มีศูนย์กลาง จึงไม่มีกลไกการรับรองด้วยการยืนยันตัวตน กอปรกับไม่มีเพดานจำนวนเงินและไม่จำกัดพรมแดน จึงกลายเป็นเครื่องมือที่กลุ่มมิจฉาชีพเลือกใช้ฟอกเงินเป็นอันดับแรก ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือข้ามชาติเท่านั้นจึงจะปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ได้
แก๊งฉ้อโกงมักพัวพันกับการค้ามนุษย์ เป็นภารกิจสำคัญของฝ่ายตำรวจในการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ผลจากสถานการณ์โควิดทำให้มีผู้หางานเพราะตกงานโดยไม่ใช่เกิดจากความต้องการของตนเพิ่มมากขึ้น ระยะนี้แก๊งอาชญากรรมจึงมักล่อลวงด้วยคำพูดประเภท “งานสบาย” “เป็นอิสระทางการเงินอย่างรวดเร็ว” เป็นต้น เพื่อรับสมัครผู้คนสัญชาติต่างๆ ไปทำงานในประเทศอื่นโดยผ่านสื่อโซเชียล แต่เมื่อคนหางานเหล่านี้เดินทางไปถึงจุดหมายแล้ว จึงได้ทราบว่าที่แท้เป็นฐานที่มั่นของการฉ้อโกง มิหนำซ้ำยังเกิดกรณียึดพาสปอร์ต จำกัดเสรีภาพส่วนบุคคล หากปฏิเสธหรือทำงานไม่ได้ตามเป้าก็ถูกทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือร้ายกว่านั้นคือขายต่อให้บริษัทอื่น หากต้องการออกจากงานก็ต้องชดใช้ด้วยเงินจำนวนสูง หรือถูกข่มขู่ว่าจะตัดอวัยวะเพื่อใช้หนี้ ปัจจุบันการรับสมัครงานของแก๊งอาชญากรรมฉ้อโกงได้กลายเป็นการค้ามนุษย์ไปแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกต้องร่วมกันปราบปรามและแก้ไขต่อไป
ทางการตำรวจไต้หวันได้ทุ่มเทให้การปราบปรามคดีฉ้อโกงข้ามชาติเหล่านี้เสมอมา และพบว่ามีคดีไม่น้อยที่พัวพันกับแก๊งค้ามนุษย์ เมื่อปี พ.ศ.2562 ทางการตำรวจไต้หวันได้ร่วมมือกับทางการตำรวจไทย และเวียดนาม จับกุมฐานปฏิบัติการใหญ่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในเวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งเจาะจงเป้าหมายในการหลอกลวงเหยื่อชาวไทย ปี พ.ศ.2564 ไต้หวันได้ร่วมมือกับทางการตำรวจเวียดนามจับกุมฐานปฏิบัติการคอลเซ็นเตอร์ที่เจาะจงเหยื่อชาวเวียดนาม ปี พ.ศ.2565 ได้ร่วมมือกับทางการตำรวจสิงคโปร์ จับกุมฐานปฏิบัติการคอลเซ็นเตอร์ที่เจาะจงเหยื่อชาวสิงคโปร์ คดีดังกล่าวข้างต้นมีผู้เสียหายมากกว่าหนึ่งพันราย จำนวนเงินความสูญเสียมากถึงหลายร้อยล้านเหรียญไต้หวัน จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การปราบปรามอาชญากรรมจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือซึ่งกันและกันของทุกประเทศทั่วโลก เราจึงควรพยายามมากยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
คุณูปการของไต้หวันเป็นประโยชน์ต่อโลก
ไต้หวันให้ความสำคัญกับการปกครองด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างสูง รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน สิทธิประโยชน์และเสรีภาพของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง รัฐบาลดำเนินการอย่างเข้มงวดในการปราบปรามการละเมิดสิทธิประโยชน์ของผู้อื่น ปัจจุบันอาชญากรรมฉ้อโกงก้าวข้ามพรมแดนประเทศมานานแล้ว จนกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่สมบูรณ์แบบ ไม่เพียงท้าทายต่ออำนาจอธิปไตยของทุกประเทศ ขณะเดียวกัน เป็นภัยร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตและความปลอดภัยของสังคมโดยรวม ไต้หวันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับมิตรสหาย ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของคดีที่ปราบปรามเป็นผลสำเร็จ เพื่อช่วยทุกประเทศในการยับยั้งอาชญากรรมนอกพรมแดนและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมในการกระทำมิชอบในอาณาเขตประเทศของตน
เจ้าหน้าที่ตำรวจมีภารกิจสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและการปกครอง ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอันดับแรก การที่วิธีก่ออาชญากรรมพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นนี้ บวกกับอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวพันถึงประเทศและดินแดนจำนวนมาก จึงทำให้การสืบสวนเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรืออาจขาดการเชื่อมโยง เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสภาพการณ์ใหม่ของการก่ออาชญากรรม จึงจะสามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้น รับมือความเปลี่ยนแปลงและปราบปรามลงได้ ซึ่งในอนาคตทางการตำรวจไต้หวันยินดีที่จะร่วมมือและร่วมแรงร่วมใจกับมิตรสหายทั่วโลกพยายามต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันสถานการณ์โรคระบาดหรือการปราบปรามอาชญากรรม ล้วนไม่ควรมีช่องว่างทางภูมิศาสตร์ และยิ่งไม่อาจขาดทีมงานไต้หวันได้