เชียงราย - เอ็นจีโอ-นักวิชาการหวั่นวงจรอุบาทว์หลอกรีดค่าหัวพาแรงงานพม่าข้ามแดนก่อนปล่อยลอยแพเกิดไม่สิ้นสุด..จี้ จนท.ชะลอผลักดันเหยื่อ-ขยายผลให้ถึงแก๊งค้ามนุษย์ให้ได้
ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่กว่า 10 หน่วยงานได้ร่วมกันเข้าช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา 49 คนที่ถูกขบวนการค้าแรงงานเถื่อนหลอกข้ามฝั่งจากท่าขี้เหล็กเข้าไทย ก่อนปล่อยลอยแพอยู่ที่อาคารร้างไม่มีเลขที่ บ้านป่ารวก ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ากลุ่มแรงงานติดเชื้อโควิดด้วย 9 ราย จึงมีการตรวจคัดแยกส่งด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.เชียงราย ดำเนินคดีแล้ว
ล่าสุดนายชาตรี รุ่งศรีสุขจิต เจ้าหน้าที่โครงการสิทธิ มูลนิธิชนเผ่าลุ่มน้ำโขง อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตการสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ได้นำคณะเข้ายื่นหนังสือต่อนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ช่วยขยายการสืบสวนสอบสวนทางคดี
เนื่องจากได้สอบถามชาวเมียนมาที่ถูกดำเนินคดีผ่านล่าม ทราบว่าถูกนายหน้าชาวเมียนมาหลอก-ชักชวนมาจากหลายเมือง เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ฯลฯ ก่อนพามาส่งให้นายหน้าชาวไทย จากนั้นได้ปล่อยทิ้งลอยแพที่อาคารดังกล่าวกระทั่งเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปพบ
ในฐานะองค์กรเอกชนที่ให้การช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาจึงขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีให้ได้ โดยใช้กฎหมายการหลบหนีเข้าเมือง กฎหมายอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงสืบสวนเพิ่มเติม หากเข้าข่ายการค้ามนุษย์ก็ขอให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะเหยื่อตามกฎหมาย
อาจารย์สืบสกุลกล่าวว่าขบวนการหลอกชาวเมียนมาเข้ามาลอยแพรายนี้มีนายหน้าเป็นชาวเมียนมาด้วยกันเอง หลอกพาเหยื่อมาให้นายหน้าชาวไทย โดยเก็บเงินจากเหยื่อหัวละ 20,000-30,000 บาท อ้างว่าจะจัดทำหนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ต วีซ่า เอกสารการจ้างงานในประเทศไทยให้ ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ
แต่เจ้าหน้าที่กลับดำเนินคดีข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกับเหยื่อเท่านั้น จึงเกรงว่าเมื่อทั้งหมดถูกผลักดันกลับประเทศเมียนมา จะทำให้ถูกหลอกมาลอยแพซ้ำอีกจนกลายเป็นภาระของเจ้าหน้าที่และศูนย์ฯ อย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่ได้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องขยายผลให้ถึงที่สุด
ด้านนายสมบูรณ์ ศรีไพศาลเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.จ.เชียงราย พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย ที่เข้ารับเรื่องฯ แจ้งว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติต่อคนทั้ง 49 คนอย่างดีตามหลักสิทธิมนุษยชน
แต่เนื่องจากกลุ่มแรงงานทั้งหมดไม่มีเอกสารใดๆ และได้ตรวจสอบแล้วไม่เข้าข่ายกฎหมายการค้ามนุษย์คือ ไม่ได้ถูกกักขัง ไม่ได้ถูกข่มขู่ และไม่ถูกทำร้าย จึงนำตัวไปดำเนินคดีต่อ ตม.เชียงราย ซึ่งหมายถึงขณะนี้เรื่องผ่านพ้นขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นไปแล้ว เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินคดี แต่หากพบหลักฐานใหม่ เช่น หลักฐานการโอนเงินให้นายหน้า ฯลฯ ก็อาจนำมาขยายผลได้