xs
xsm
sm
md
lg

นี่ต้นเหตุแล้ว! กสทช.จุดพลุยืนยันตัวสางปมซิมม้า 16 ม.ค. มั่นใจไม่ได้แก้ปลายเหตุ-โอเปอเรเตอร์ไม่หนักใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. ประเดิมมาตรการแรกสางปมซิมม้ารับปี 67 จี้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไปมายืนยันตัวตนแสดงความขาวสะอาด ขีดเส้นระงับการใช้งาน-เพิกถอนหากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด 2 ช่วงหลังบังคับใช้วันที่ 16 ม.ค.67 ไม่เห็นด้วยเสียงวิจารณ์แก้ปัญหาปลายเหตุเพราะการยืนยันตัวจะป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ได้จริง ด้านโอเปอเรเตอร์ยอมรับผู้ร้ายมักไม่มา แต่การยืนยันตัวครั้งนี้จะทำให้มีไวท์ลิสต์เห็นกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นคนดี เบื้องต้นไม่หนักใจแต่ห่วงว่าลูกค้าอาจตื่นตระหนก

พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ กล่าวระหว่างการแถลงถึงมาตรการของ กสทช. ในการกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนเกิน 5 เลขหาย (ตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป) มายืนยันตัวตน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ม.ค.67 นี้ ว่าเป็นการแก้ปัญหาซิมม้าที่ต้นเหตุเพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ และมาตรการนี้จะสามารถกำจัดซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองของมิจฉาชีพได้

"ปลายเหตุคือการติดตามจับกุม ลักษณะของอาชญากรรมออนไลน์จะเกิดไร้พรมแดน คนร้ายอยู่ประเทศหนึ่ง เหยื่ออยู่อีกประเทศหนึ่ง การดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ยากที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาดำเนินคดี ตรงนี้คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบ เพื่อป้องกันอาชญากรรมก่อนที่อาชญากรรมนั้นจะเกิดขึ้น"

2 ส่วนสาระสำคัญของประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 16 มกราคม 2567 คือ 1.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และ 2.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน หากไม่มายืนยันตนในกำหนดจะถูกพักใช้ ระงับการโทร.ออกและการใช้อินเทอร์เน็ต ยกเว้นโทร.เบอร์ฉุกเฉิน และมีเวลาอีก 30 วัน หากยังไม่มีการยืนยันตนจะถูกเพิกถอนการใช้เบอร์ของซิมการ์ดที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมด

จากขวา พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร และนายวรุณเทพ วัชราภรณ์
หากแปลเป็นภาษาชาวบ้าน การออกประกาศนี้ถือเป็นการเรียกผู้ถือซิมการ์ดจำนวนมากมาลงทะเบียนซ้ำเพื่อจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงินที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ซึ่งการลงทะเบียนซ้ำจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถขยายผล เมื่อซิมการ์ดโทรศัพท์ใดถูกนำไปใช้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่กลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทร.หาเหยื่อ การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงก์ โอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ใช้บริการที่อยู่ในข่ายต้องยืนยันตัวตนมีประมาณ 3 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดในทุกเครือข่าย นอกจากนี้ ภายหลังจากที่มาตรการมีผลบังคับใช้ เชื่อว่าการกำหนดให้ผู้ถือครองซิมจำนวนมากมายืนยันตัวตน จะทำให้กระบวนการสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"จะทราบตัวผู้ใช้งานที่แท้จริง หากไม่มายืนยันตนในกำหนด ซิมการ์ดนั้นจะถูกระงับการใช้งานและถูกเพิกถอนจากระบบไปในที่สุด เพราะซิมการ์ดเหล่านั้นอาจตกอยู่ในความครอบครองของพวกมิจฉาชีพแล้ว ทำให้จำนวนซิมผีในตลาดมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเมื่อมีคดีเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่สามารถขยายผลจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ลงทะเบียน รวมไปถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีม้า ไปถึงตัวการใหญ่ได้ต่อไป" พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวเพิ่มเติม "ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละค่ายจะเป็นผู้พัฒนารูปแบบและวิธีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้าของตน และมีหน้าที่ต้องแจ้งเตือนให้ผู้ถือครองซิมการ์ดที่เข้าข่ายให้มาดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้กระทบต่อผู้ใช้บริการที่สุจริตน้อยที่สุด"

  นายวรุณเทพ วัชราภรณ์
ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 พบว่ามีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย จำนวนมากถึง 286,148 ราย และมีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไปถึง 7,664 ราย ส่วนใหญ่เป็นตู้จำหน่ายที่เหมาซื้อซิมเป็นจำนวนมากและชาวต่างชาติ

***ผู้ร้ายมักไม่มา? เอไอเอส-ทรู-เอ็นที ขานรับ

นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ปัญหาการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่สร้างความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง AIS จึงมีความห่วงใยลูกค้าและประชาชนในประเด็นนี้อย่างยิ่ง ที่ผ่านมาจึงมุ่งมั่นสื่อสาร สร้างองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลในการรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ ทั้งฝ่ายความมั่นคง อย่างตำรวจไซเบอร์ กระทรวงดีอี และ กสทช. เพื่อดูแล ปกป้องความปลอดภัยของลูกค้าและประชาชน

"เราจะดำเนินการส่ง SMS แจ้งเตือนไปยังหมายเลขที่เข้าข่ายต้องดำเนินการยืนยันตัวตน ในวันอังคารที่ 16 มกราคม 2567 เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและป้องกันการถูกระงับใช้งานชั่วคราว ลูกค้าสามารถดำเนินการยืนยันตัวตนได้ภายในเวลาที่กำหนด ผ่าน AIS Shop, AIS Telewiz และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นจุด"

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เชื่อว่าผู้ประสงค์ร้ายมักไม่มายืนยันตัว ประกาศการยืนยันตัวครั้งนี้จึงทำให้ประเทศไทยมี "ไวท์ลิสต์" เพื่อแสดงให้เห็นกลุ่มผู้ใช้ซิมจำนวนมากที่เป็นคนดีและสามารถดำเนินการได้ถูกต้องตามประกาศ ซึ่งจะมีขั้นตอนดำเนินการกับผู้ร้ายต่อไป

"ใครที่เลือกใช้บริการมากกว่า 5 ซิม ถือเป็นลูกค้าชั้นดีที่เชื่อมั่นในโอเปอเรเตอร์รายนั้น" นายจักรกฤษณ์ระบุ "เราไม่หนักใจ แต่ห่วงว่าลูกค้าอาจตื่นตระหนก และรีบมาที่ชอปเพื่อยืนยันตัว ขอบอกว่ามีเวลา 180 วัน เชื่อว่าทุกค่ายทำขั้นตอนเหมือนกัน คือสามารถยืนยันตัวได้ทั้งที่สาขาและยืนยันด้วยตัวเอง"

  นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์
สิ่งที่สังคมไทยต้องจับตามองต่อไปหลังจากการยืนยันตัวของผู้ถือซิมการ์ดมากกว่า 6 เลขหมาย คือการเร่งระงับเบอร์ และขยายผล สืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีจากเบอร์ และชื่อเจ้าของเบอร์ ที่ได้จากการแจ้งความออนไลน์ ว่าเป็นเบอร์คนร้ายที่ใช้ในการหลอกลวง รวมถึงเบอร์ที่ผู้ให้บริการสื่อสารตรวจพบเองจากระบบ fraud detection และ สนง.กสทช. แจ้ง ว่าเป็นเบอร์ที่ใช้โดยคนร้าย และเบอร์ที่ต้องสงสัยที่ใช้กับอุปกรณ์ซิมบ็อกซ์ (SIM BOX) ซึ่งในเฟสแรก กสทช. วางเป้าหมายระงับซิมต้องสงสัยให้ได้ 4 หมื่นเลขหมายก่อนจะขยายให้ครอบคลุมที่ได้รับแจ้งรวม 1 แสนเลขหมาย

เบื้องต้น การดำเนินคดีกับนายหน้าซิมม้า ผู้จัดหาซิมม้า ผู้ขายซิมม้า รวมทั้งผู้ยินยอมให้คนร้ายใช้ซิมตนเองหรือซิมม้า นั้นมีโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี สำหรับนายหน้า ผู้จัดหาซิมม้า และจำคุก 3 ปี สำหรับเจ้าของซิมม้า หรือผู้ยินยอนให้ผู้อื่นใช้ซิมไปใช้ทำผิดกฎหมาย

นอกจากซิมม้า กสทช. ยังคงมุ่งสกัดการทำงานของสถานีวิทยุคมนาคมเถื่อน โดยเฉพาะการจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต ซึ่งนายจักรกฤษณ์ เชื่อว่าการตั้งเสาของโอเปอเรเตอร์ไทยส่วนใหญ่ถูกกฎหมาย

"การตั้งเสาสัญญาณต้องถูกกฎหมาย ต้องมีใบตั้งเสา ใบใช้งาน และ กสทช. ต้องอนุมัติก่อนถึงจะตั้งได้ ปัจจุบันเชื่อว่าทุกค่ายปฏิบัติตาม กสทช. เสาในชายแดนอาจมีข้อจำกัดหรือข้อกำหนดว่าส่งสัญญาณล้ำไปได้เท่าไหร่ อาจมีความต้องการใช้โทรศัพท์ในบางจุด แต่เชื่อว่าไม่มีปัญหาเสาสัญญาณผิดกฎหมาย โดยเฉพาะทรูดีแทคไม่มีแน่นอน"


กำลังโหลดความคิดเห็น