xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.แจ้งเกิด "น้องกะทิ" ต้นแบบนาฬิกาติดตามข้อมูลสุขภาพสูงวัยไทย นับถอยหลังหาเจ้าภาพแจกฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. โชว์ผลงานหลังมอบทุน 15 ล้านบาทให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นปั้นระบบติดตามข้อมูลสุขภาพผู้สูงวัยในประเทศไทย แย้มแผนผลิตเพิ่มเพื่อแจกฟรีเป็นสวัสดิการรัฐลดเหลื่อมล้ำวัยเก๋าใช้เทคโนฯ ล่าสุดเดินหน้าหาเจ้าภาพจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตอุปกรณ์ IoT ของผู้สูงอายุยุค 5G ตั้งชื่อเล่นเรียกนาฬิกามอนิเตอร์พฤติกรรมประจำวัน “น้องกะทิ” หรือหัวกะทิ สื่อถึงความเก่งอัจริยะ มั่นใจปูทางไทยพร้อมสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพส่วนตัว หรือ Thailand Personal Health AI ในเฟสถัดไป

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการมุ่งยกระดับสวัสดิการผู้สูงอายุไทยผ่านโครงการชื่อยาว “โครงการวิจัยแนวทางเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ” โดยมั่นใจว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย

“สิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นคิดออกมาในโครงการนี้อาจยังมีบางคนที่ไม่เข้าใจ บางคนคิดว่าระบบแบบนี้มีขายในท้องตลาดแล้ว ทำไม กสทช. จึงมอบทุนให้? เพราะใครที่มีสตางค์ก็สามารถซื้อ Apple Watch มาใช้ได้ แต่ความจริงแล้ว คนต่างจังหวัดบางคนไม่มีเงิน การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นคิดมานี้จะผลิตเพิ่มได้เป็นสวัสดิการแห่งรัฐ เราจึงภูมิใจที่ทุนนี้สามารถตอบตรงวัตถุประสงค์ เราไม่ได้ให้เงินในการทำทุนวิจัยแบบง่ายๆ แต่มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเฉพาะโครงการที่ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง”

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
กสทช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเงิน 15 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อดำเนินโครงการวิจัยนี้ในระยะเวลา 12 เดือน โดยผลลัพธ์ของโครงการที่ยังเหลือเวลา 3-6 เดือนกว่าจะครบกำหนดนั้นจะได้เป็นแนวทางการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ด้วยสถิติผู้สูงอายุที่บันทึกได้ 13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20.2%

น้องกะทิและผองเพื่อน
สำหรับระบบ health monitoring ต้นแบบจากโครงการนี้ที่ถูกเรียกว่าน้องกะทิ ประกอบด้วยสายรัดข้อมือดิจิทัลสีดำที่รองรับซิมการ์ด รวมถึงกล่องเก็บอุปกรณ์วัดความดันเลือด เข็มวัดระดับน้ำตาลในเลือด และอีกหลายองค์ประกอบที่ถูกมองว่าจะเป็นการติดตามข้อมูลสุขภาพที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้สูงวัยในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดค่ายาและค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่คำนวณได้นับ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีในไทย

ข้อมูลจาก สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยมีปัญหาสุขภาพเรื่องการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หลายรายได้รับผลกระทบสูงมากจากโรคเบาหวาน ความดัน และมะเร็ง รวมถึงภัยจากการหกล้ม ซึ่งต้องระวังไม่ให้ผู้ป่วยเข้าผ่าตัดข้อสะโพกล่าช้าเกินไปจนอาจจะทำให้ผู้สูงวัยต้องอยู่ในภาวะติดเตียง ดังนั้น ระบบน้องกะทิจึงถูกมองว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันให้เกิดภาวะนี้น้อยลง รวมถึงช่วยให้การดูแลผู้สูงวัยต่อเนื่องยิ่งขึ้นในยุค AI ผลจากข้อมูลที่เชื่อมจากทุกระดับ และทุกหน่วยบริการ จนสามารถนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาประเมินและเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อไป

นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เชื่อว่าโปรเจกต์น้องกะทิจะทำให้ข้อมูลสุขภาพกลายเป็นข้อมูลรายบุคคล ที่สามารถส่งเข้าโรงพยาบาลซึ่งผู้ป่วยเดินทางไปรักษาตัวได้ในสถานที่พยาบาลแห่งเดียว ไม่ต้องเดินทางไปรวบรวมข้อมูลจากหลายจุด เป็นการแก้ปัญหาจากเดิมที่ข้อมูลแต่ละ รพ. ไม่เท่ากัน ซึ่งน้องกะทิ จะเป็นจุดเริ่มในการพัฒนาด้านข้อมูลเพื่อให้ทุกคนได้รู้ความเสี่ยงด้านสุขภาพของตัวเอง และเชิญประชาชนให้เข้ามารับบริการตามสิทธิที่มีอยู่แล้ว

“ปัจจุบัน ข้อมูลสุขภาพของคนไทยในระบบมีเพียงพอแล้ว เรายังอยู่ในขั้นตอนว่าจะคืนข้อมูลให้ประชาชนเป็นรายคน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิที่ตัวเองมีอยู่แล้ว แต่อาจไม่ทราบ หรือใช้ได้อย่างยากลำบาก”

น้องกะทิ
เมื่อถามว่าน้องกะทิจะลดความแออัดในงานโรงพยาบาลได้หรือไม่? นพ.สุรัคเมธ แบ่งรับแบ่งสู้ว่าการลดความแออัดในโรงพยาบาลเป็นงานหลักของกระทรวงสาธารณสุขเสมอ กระทรวงจึงต้องการให้ประชาชนสามารถใช้งานสะดวกขึ้น เบื้องต้นเชื่อว่า AI จะช่วยทำให้กระบวนการในโรงพยาบาลเร็วขึ้น จากการตอบคำถามประชาชนได้เร็วขึ้น

รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า ระบบติดตามสุขภาพต้นแบบ “น้องกะทิ” นั้นประดิษฐ์ขึ้นจำนวนหลักร้อยตัว โดยโครงการจะต้องต่อยอดให้ได้ใช้จริงและเป็นแผนปฏิบัติราชการของจังหวัด เบื้องต้นกลุ่มวิจัยมองประเทศต้นแบบของระบบสาธารณสุขดิจิทัลคือ เอสโทเนีย (Estonia) ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบันทึกข้อมูลประชาชนแบบดิจิทัลตั้งแต่แรกเกิด และสามารถต่อยอดระบบข้อมูลสุขภาพเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนได้จริง

“หน่วยงานหลักที่จะสามารถนำระบบไปใช้ได้มีหลากหลาย เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่ม อบจ. ที่ดำเนินการ รพ.สต. เบื้องต้นจะเริ่มใช้งานที่ 26 รพ.สต.ทั่วขอนแก่น และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนที่จะขยายในระดับ สปสช. เพื่อการใช้งานทั่วประเทศ”

รศ.ดร.รินา ย้ำว่าระหว่างนี้ทีมวิจัยยังอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะอัปเกรดชุดเทคโนโลยีหรือจะขยายเพิ่มจำนวน และในภาพรวม ต้นทุนการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบนั้นแบ่งออกเป็นต้นทุนการฝึกสอนให้ความรู้ และส่วนฮาร์ดแวร์ที่มีมูลค่าต้นทุนในสัดส่วนเกือบเท่ากัน

รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ หัวหน้าโครงการวิจัย
ทั้งนี้ โครงการนี้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นได้ต่อยอดจากจุดเริ่มต้นการพัฒนาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งมีการแจกสายรัดข้อมือให้ผู้สูงวัยได้ใช้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 63 อย่างไรก็ตาม โครงการกลับพบปัญหา เช่น บางหน่วยงานไม่สามารถตั้งงบประมาณจ่ายชำระค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ระบบ เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าใช้จ่ายด้านระบบอื่นๆ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อหาแม่งานในการเริ่มดำเนินการ เพื่อให้เกิดรูปแบบการจัดการงบประมาณรัฐที่สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการและมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว

รศ.ดร.รินา ทิ้งท้ายอีกว่าแนวทางการพัฒนาโครงการในอนาคตอาจมีการสปินออฟออกเป็นบริษัท เพื่อดำเนินการให้ระบบติดตามสุขภาพนี้สามารถนำร่องใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ในโรงพยาบาลที่แพทย์จะสามารถเบิกจ่ายให้คนไข้ได้ รวมถึงกรมกิจการผู้สูงอายุที่สามารถนำไปยกระดับสวัสดิการของผู้สูงอายุในประเทศไทยได้

ที่สุดแล้ว ต้นทุนราคาต้นแบบน้องกะทิมีราคาราว 3,000-4,000 บาท ซึ่งไม่รวมค่าแอร์ไทม์ เนื่องจากอุปกรณ์ใส่ซิมได้ อย่างไรก็ตาม หากโครงการนี้ได้รับการผลักดันเป็นแผนระดับชาติ เชื่อว่าจะมีแรงกระเพื่อมตามมาไม่น้อย โดยปัจจุบันไทยมีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 902 แห่งทั่วประเทศ มี รพ.สต. มากกว่า 5,000 แห่ง รวมถึงอาสาสมัครไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นหน่วยขับเคลื่อนในส่วนของนโยบายสาธารณสุขประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น