บอร์ด กสทช. ยังไร้ข้อสรุปในการตรวจสอบเงื่อนไขควบรวมทรู-ดีแทค แจงข้อมูลที่ส่งมาไม่สามารถตรวจสอบได้ พร้อมเตรียมนำ (ร่าง) ประกาศยืนยันตัวตนถือครองซิมเกิน 5 เลขหมายยื่น ครม.เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลที่คณะอนุฯ ติดตาม และประเมินผลการรวมธุรกิจได้รับแจ้งจากทรูในเรื่องของค่าบริการ เพียงแต่ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ จึงได้มีการแจ้งให้ทางสำนักงาน กสทช. ขอข้อมูลเพื่อส่งเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติม
“ข้อมูลยังไม่ได้ยืนยันว่าตัวเลขเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ ทางสำนักงานมีกระบวนการที่ต้องตรวจสอบ และต้องมีคณะที่ปรึกษามายืนยันว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง ทำให้ตอนนี้ยังไร้ข้อสรุปในเรื่องของการทำตามมาตรการควบรวมในเรื่องของการลดราคา จึงทำได้เพียงรับทราบข้อมูลดังกล่าว”
โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งให้ทรู คอร์ปอเรชั่น นำส่งข้อมูลแพกเกจที่สามารถตรวจสอบได้มาเพิ่มเติมภายในสัปดาห์หน้า (28 ธ.ค.) หลังจากนั้นถึงจะนำข้อมูลเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ด กสทช. ยังได้เตรียมนำ (ร่าง) ประกาศเรื่องการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรี ใน 2-3 วันข้างหน้า เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไป
สำหรับเงื่อนไขของประกาศการยืนยันตัวตนด้วยวิธีการพิสูจน์ตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า (Biometrics) จะกำหนดให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ดระหว่าง 6-100 เลขหมาย มาลงทะเบียนภายใน 180 วัน กรณีที่ถือครองเกิน 101 เลขหมายขึ้นไป จะต้องมายืนยันภายใน 30 วัน
***เปิดข้อมูลคณะอนุฯ ข้อมูลแพ็ฝกเกจยังต้องตรวจสอบ
นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มติของที่ประชุมอนุฯ ได้สรุปว่าไม่สามารถตรวจสอบยืนยันความถูกต้องการรายการส่งเสริมการขายบางรายการ จึงได้แค่การรับทราบผลการตรวจสอบอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% เท่านั้น
“รายการส่งเสริมการขายบางรายการไม่สอดคล้องกับประกาศ กสทช. ที่ระบุว่าต้องตรวจสอบได้ผ่านศูนย์บริการ หรืออยู่ในเว็บไซต์ แต่ทางทรู แจ้งว่าเป็นแผนส่งเสริมการขายแบบเฉพาะบุคคลทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการถ่วงน้ำหนักได้ ซึ่งนับเป็นโปรที่ซ่อนอยู่ในตลาดให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น”
คณะอนุฯ จึงได้มีการเสนอให้ปรับปรุงวิธีการเสนอ และตรวจสอบ ให้รายงานเฉพาะรายการส่งเสริมการขายที่มีลิงก์ปรากฏในเว็บไซต์ที่ตรวจสอบได้เท่านั้น รวมถึงการปรับวิธีการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก เนื่องจากการคำนวณตามจำนวนผู้ใช้บริการอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องเฉลี่ยจากปริมาณการใช้งานด้วย
“ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ให้บริการมีการเพิ่มบริการเสริมฟรีเข้าไปเพื่อให้เฉลี่ยค่าบริการแบบถ่วงน้ำหนักต่ำลง และทางสำนักงาน กสทช. ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละแพกเกจได้จริง ทำให้ต้องมีการปรับเกณฑ์ใหม่เหมาะสมในการตรวจสอบต่อไป”
นอกจากนี้ ประธานคณะอนุฯ ยังชี้ให้เห็นถึงวิธีการต่อแพกเกจบริการเสริมที่หมดอายุซึ่งขัดกับประกาศของ กสทช.ที่ตามกำหนดต้องมีการต่ออายุอัตโนมัติถ้าผู้บริโภคไม่ได้แจ้งให้เปลี่ยนแปลงแต่กลายเป็นว่ารูปแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นให้ผู้บริโภคที่ต้องการใช้งานต่อต้องตอบรับกลับไปแทนทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ