จากความกังวลในการเข้าไปกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ปัจจุบันเข้ามาให้บริการในประเทศไทย และสร้างผลกระทบทั้งต่อผู้บริโภคที่ได้รับการกระตุ้นจากเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม จนถึงบรรดาผู้ประกอบการ SME จากการนำสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาทำตลาดในไทย
ที่สำคัญคือประเทศชาติเสียหายจากการที่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ จึงทำให้ความหวังสำคัญคนไทยขึ้นอยู่กับการทำงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ที่เริ่มก้าวแรกในการเปิดให้แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแจ้งข้อมูลภายใต้กฎหมาย DPS (พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565) ซึ่งได้รับการตอบรับจากแพลตฟอร์มทั้งรายใหญ่ และรายย่อยที่ให้บริการในไทย
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กล่าวว่า หลังจากที่แพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามาลงทะเบียนแล้วจะเริ่มขั้นตอนถัดไปอย่างการนำข้อมูลมาใช้เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมว่ามีมากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ที่มีรายได้แต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มคือช่วยให้การบริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น
“ในอำนาจหน้าที่ ETDA สามารถขอให้หน่วยงานที่ลงทะเบียนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ เพียงแต่จะเป็นในลักษณะของการดำเนินงานโดยภาพรวมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทั้งผู้ใช้ และผู้ให้บริการ เมื่อได้ข้อมูลมาเพิ่ม ทาง ETDA จะดูว่ามีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการอะไรเพิ่มเติม”
อย่างในประเทศไทยอาจจะต้องดูบริบทในการออกมาตรการ โดยจะใช้ข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่อาจเกิดขึ้น หลังจากนั้นค่อยดูว่าในแต่ละประเด็นมีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบ อย่างกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ หรือทาง ETDA สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ในตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น
“คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2567 เพราะต้องยอมรับว่า ETDA ใหม่สำหรับงานแบบนี้ แต่เมื่อมีกฎหมาย DPS สิ่งที่เกิดขึ้นคือถ้าเป็นแพลตฟอร์มที่มีนิติบุคคลในไทย หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะสามารถเข้าไปบังคับใช้ได้ ส่วนแพลตฟอร์มที่อยู่ต่างประเทศ การบังคับใช้จะค่อนข้างยาก”
สิ่งที่ DPS มีตอนนี้คือมีช่องทางติดต่อที่เป็นทางการ เพื่อแจ้งข้อมูล ประเด็นปัญหาทางกฎหมาย เพื่อให้แพลตฟอร์มปฏิบัติตาม ซึ่งถ้าช่องทางเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ถือว่าจบ แต่ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้จะต้องมีการยกระดับอย่างการออกกฎหมายลูกมาควบคุมดูแลต่อไป
ด้านฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมค้าปลีกไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงแนวทางที่สามารถทำได้เพื่อคุ้มครองทั้งผู้ประกอบการและการเก็บภาษีคือให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกำหนดให้ผู้จำหน่ายสินค้าต้องจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยอย่างถูกต้อง เพื่อให้สินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษีได้ทั่วถึง รวมถึงศึกษาแนวทางให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเป็นผู้จัดเก็บและนำส่งกรมสรรพากร
“ความท้าทายของหน่วยงานภาครัฐที่มีความรับผิดชอบในการกำกับดูแลจะต้องมีนโยบายและมาตรการทุกแพลตฟอร์มที่มีการขายของออนไลน์อย่างเท่าเทียมกัน อยู่บนกฎระเบียบข้อบังคับเดียวกันเพื่อคัดกรองความปลอดภัยของสินค้าให้ผู้ซื้อทุกคน”
แน่นอนว่า หนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่โดนจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ หนีไม่พ้น TikTok ที่ขยายจากผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่มีการนำอัลกอรึธึมมาใช้ในการนำเสนอเนื้อหา หรือคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของผู้บริโภคในลักษณะของวิดีโอสั้น ที่ปัจจุบันคนไทยมีความนิยมใช้งานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อ TikTok กระโดดเข้ามาร่วมในตลาดอีคอมเมิร์ซผ่าน TikTok Shop พร้อมดำเนินการในลักษณะของอีโคซิสเต็มครบวงจรตั้งแต่การเปิดร้านค้า ทำตลาดผ่านโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์ม แจกส่วนลดให้ผู้ใช้ จนถึงกระบวนการโลจิสติกส์ ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา แต่เพิ่งเข้าไปจดทะเบียนบริษัท ติ๊กต็อก ช็อป (ประเทศไทย) จำกัด กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนครบกำหนดที่ ETDA ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลจดแจ้งตามกฎหมาย DPS เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2566 ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าแล้วรายได้ที่เกิดจากการให้บริการก่อนหน้านี้มีการเสียภาษีให้ประเทศไทยด้วยหรือไม่
รวมถึงแนวทางการทำงานของ TikTok ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดการขายสินค้าที่ผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์ม ซึ่งนับเป็นหน้าที่ของแพลตฟอร์มที่จะต้องปิดกั้น และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการทางกฎหมายด้วย
ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ (Head of Public Policy) บริษัท TikTok ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าไปดูระบบหลังบ้านของทุกแพลตฟอร์มเชื่อว่า TikTok แน่นมาก จนกลายเป็นจุดอ่อน เพราะระบบจะไม่มีการปล่อยปละละเลย เมื่อร้านค้าทำผิดจะมีบทลงโทษที่ชัดเจนหรือถ้าลูกค้าไม่ได้รับสินค้าตามมาตรฐานจะมีการคอมเพลนเข้ามาในระบบให้เข้าไปตรวจสอบ
“TikTok ยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎหมายไทยในการควบคุมสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์ม แต่เนื่องจากด้วยการที่เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าขึ้นมาจำหน่ายได้เอง ทำให้อาจจะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบทั้งจาก AI และทีมงาน ซึ่งในกรณีที่ได้รับการประสานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำลงจากแพลตฟอร์มทันที”
ส่วนร้านค้าที่ทำตลาดกับ TikTok Shop จะต้องมีการลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือใช้เลขนิติบุคคล และมีเอกสารบัญชีธนาคารในประเทศไทย แสดงว่าผู้ประกอบการที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าต้องผ่านกฎหมายไทยมาแล้ว ทำให้โอกาสที่จะมีสินค้าจำนวนมากจากจีนทะลักเข้ามาเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องผ่านการตรวจสอบมาก่อนแล้ว
ผู้บริหาร TikTok ยังมองว่า ในมุมของผู้บริโภคด้วยกัน ทุกคนชอบสินค้าราคาถูก แต่ถ้าถูกแล้วไม่ดี หรือรีวิวไม่ดีผู้บริโภคก็มีสิทธิในการตัดสินใจที่จะไม่ซื้อ ที่กลายเป็นระบบคัดกรองโดยธรรมชาติ
ขณะที่ในแง่ของการกำกับดูแลในอนาคต ทุกแพลตฟอร์มจะต้องมีการคุยกับหน่วยงานกำกับดูแลอยู่เสมอ อย่างในการออกกฎหมาย หรือข้อบังคับ เมื่อมีการทำประชาพิจารณ์ ในมุมของแพลตฟอร์มจะให้ความเห็นว่าสามารถทำได้หรือไม่ ทำแล้วจะเป็นการเพิ่มภาระ หรือปรับลดลงมาให้
“ความตั้งใจของทุกแพลตฟอร์มที่เข้ามาให้บริการ เชื่อว่าต้องการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ถ้าเกิดอะไรที่มันมีการกำกับดูแลเยอะเกินไป ก่อให้เกิดปัญหา คิดว่าทางหน่วยงานรัฐก็ไม่อยากทำ” ผู้บริหาร TikTok กล่าวทิ้งท้าย