xs
xsm
sm
md
lg

3 แนวทางสูตรธุรกิจตอบโจทย์ความยั่งยืน / กนกกมล เลาหบูรณะกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากรายงาน “Our Common Future” ของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2530 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ความยั่งยืน ได้อย่างชัดเจนว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นต่อไปต้องลดลง”

และจากรายงาน "Fujitsu Future Insights Global Sustainability Transformation Survey Report 2023" ได้ศึกษาแนวโน้มสำคัญในโลกและความเป็นจริงเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน หรือ Sustainability Transformation (SX) ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงและผู้มีอำนาจตัดสินใจรวม 1,800 คน ใน 9 ประเทศทั่วโลก พบว่า ความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นหนึ่งใน 3 ประเด็นหลักของการบริหาร นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) และความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Experience)

แล้วความแตกต่างระหว่างการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล (DX) และการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน (SX) คืออะไร?

การปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล (DX) เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และขับเคลื่อนนวัตกรรม ด้วยการผสานรวมระบบเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบออโตเมชัน ปัญญาประดิษฐ์ และคลาวด์คอมพิวติ้งเข้าไปใช้ในด้านต่างๆ ของการดำเนินงานและในโมเดลธุรกิจของบริษัท

จุดมุ่งหมายหลัก คือ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ผลิตผล (Productivity) ความพึงพอใจของลูกค้า และทำให้เหนือคู่แข่งได้ ส่วนการปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน (SX) มุ่งเน้นไปที่การนำวิธีการและหลักการที่ยั่งยืน มาผสมผสานร่วมกับด้านต่างๆ ในการดำเนินงาน วางกลยุทธ์ และวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อตอบรับกับความท้ายทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล รวมทั้งเพื่อสร้างมูลค่าระยะยาว

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักคือ การลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมจริยธรรมทางธุรกิจและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่กับความมั่นคง การอยู่รอดขององค์กร ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั่วโลกในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต

การปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน (SX) มีความสำคัญกับธุรกิจหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นับเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก

ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบและจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยรัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบาย แก้ไขด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero ในปี 2608

ดังนั้น หลายอุตสาหกรรมจะต้องปรับทิศทางธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจนับเป็นความกดดันอีกหนึ่งประการของทุกองค์กรในการรักษาฐานลูกค้า สร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ ประหยัดต้นทุนมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง

นอกจากนี้ การค้าขายระดับโลกและมาตรฐาน ESG ต่างๆ เป็นอีกแรงกดดัน ทำให้แต่ละธุรกิจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน รวมทั้งการที่สหภาพยุโรปกำหนดให้แต่ละบริษัทรายงานเรื่องความยั่งยืนภายใต้ตัวชี้วัดด้าน ESG หรือนโยบายภาษีคาร์บอนที่มีผลบังคับใช้สำหรับสินค้านำเข้าที่ผลิตโดยการปล่อยคาร์บอนสูงเข้าไปยังสหภาพยุโรป

ในปัจจุบัน ความยั่งยืนมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ การบริหารในเชิงกลยุทธ์ จากรายงาน Fujitsu Future Insights Global Sustainability Transformation Survey Report 2023 พบว่า 70% ของผู้ตอบคำถาม ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับ Digitization หรือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และ 68% ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ความยั่งยืนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ 50% เพื่อมอบความพึงพอใจต่อลูกค้า 40% เพื่อตอบรับกับกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติของรัฐ 38% เพื่อตอบรับต่อความคาดหวังจากนักลงทุนในการลงทุนด้าน ESG

อีก 36% เพื่อเพิ่มค่าของผลิตภัณฑ์ บริการ และแบรนด์ 30% เพื่อความพึงพอใจในค่านิยมของคนรุ่นใหม่ 30% เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับคัดเลือกเป็นพาร์ตเนอร์ในระบบนิเวศ 27% เพื่อการสร้างโอกาสใหม่ๆ เชิงธุรกิจ และ 25% เพื่อการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ

สูตรแห่งความสำเร็จเดียวในการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน คือ "การเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากร” + “การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล” = การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน" หรือ "PX + DX = SX"

การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนสามารถผลักดันได้ด้วยเทคโนโลยี เมื่อภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาร่วมใช้งานในการดำเนินธุรกิจ มีการลงทุนเพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรและวัฒนธรรมองค์กร ทำให้เกิดสังคมการปฏิรูป โดยแต่ละองค์กรควรผสานความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน เป็นสังคมที่สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และเศรษฐกิจสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างดี

ความยั่งยืนกำลังเป็นประเด็นที่ท้าทายของทุกองค์กรทั่วโลก การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความโปร่งใสในธุรกิจ จึงมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดังนั้น ความยั่งยืนจึงเป็นการร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่ทำให้องค์กรสามารถทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ

วัตถุประสงค์หลักของฟูจิตสึ คือ การทำให้โลกมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยการสร้างความไว้วางใจในสังคมผ่านนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนโดยค่านิยมภายในองค์กร ได้แก่ ปณิธาน ความไว้วางใจ และความเห็นอกเห็นใจ ฟูจิตสึได้พัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนต่อธุรกิจต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก การพัฒนาสังคมดิจิทัล และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน


กำลังโหลดความคิดเห็น