‘แกร็บฟู้ด’ ไม่หยุดแค่ตลาดฟูดเดลิเวอรีออนไลน์ หลังเห็นช่องทางขยายสู่บริการรับเองที่ร้าน (Self Pick-Up) รวมถึงทานที่ร้าน (Dine In) ที่ผลตอบรับจากลูกค้าดีขึ้น ท่ามกลางพฤติกรรมสั่งอาหารเดลิเวอรีน้อยลงหลังโควิด หวังตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการทำธุรกิจของแกร็บ หลังจากนี้จะเน้นไปที่การปรับภาพให้ครบวงจรมากขึ้น ไม่ใช่แค่การให้บริการเรียกรถ และส่งอาหารอีกต่อไป ซึ่งจะเป็นการเสริมบริการใหม่เข้ามาเพื่อเพิ่มรายได้ให้เติบโตแบบยั่งยืนมากขึ้น
“จากข้อมูลที่แกร็บแจ้งตลาดหลักทรัพย์แนสแดค ว่าจะผ่านจุดคุ้มทุนในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ และเริ่มทำกำไรทำให้แกร็บต้องเริ่มมองหาแนวทางเพิ่มเติมในการสร้างรายได้นอกเหนือจากในตลาดขนส่ง และฟูดเดลิเวอรี”
ในช่วงที่ผ่านมา แกร็บเน้นนำเสนอบริการใน 3 โฟกัสหลักๆ ประกอบด้วย การนำเสนอบริการที่มีคุณภาพและความหลากหลาย (Quality & Wide Selection) ภายใต้แนวคิดอย่างการนำเสนอของที่ผู้บริโภคอยากกินในเวลาที่ต้องการ
ถัดมาคือการสร้างฐานสมาชิกและความภักดีของผู้ใช้บริการ (Loyalty) เพื่อให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่เป็นสมาชิก ซึ่งในปัจจุบัน 50% ของลูกค้า Grab Food อยู่ในระบบสมาชิก สุดท้ายคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งอาหารและสินค้า (Efficiency) ทั้งการทำงานในภาพรวม แพลตฟอร์ม การทำตลาดให้ได้ผลที่ดีขึ้น
ปัจจุบัน มูลค่าตลาดฟูดเดลิเวอรีจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อยู่ที่ราว 8.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่การแข่งขันในช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในระดับทรงตัวจากพฤติกรรมของผู้บริโภคหลักสถานการณ์แพร่ระบาด รวมถึงการที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้มีการปรับกลยุทธ์ ในการหาตลาดใหม่เพื่อสร้างรายได้เข้ามา
โดยในฝั่งของแกร็บ ได้นำเสนอบริการผ่าน 4 มิติ ทั้งในเรื่องของการประหยัดเวลา (Save Time) เพิ่มความสะดวกสบาย (Save Efforts) ประหยัดค่าใช้จ่าย (Save Cost) และสุดท้ายในแง่ของเทรนด์รักษ์โลก (Save the Environment) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ จุดให้บริการ Self Pick-Up ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 แห่งแรก ประกอบไปด้วย สามย่านมิตรทาวน์ อาคารเดอะปาร์ค ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และสีลมเอจ จะเห็นได้ว่าอยู่ในบริเวณตึกสำนักงาน และศูนย์การค้าที่มีร้านอาหารจำนวนมาก
“ผลตอบรับหลังจากเริ่มให้บริการอย่าง Self Pick-up หรือบริการสั่งอาหารแบบรับเองที่ร้าน ช่วยประหยัดเวลาลูกค้าไปกว่า 16 ล้านนาที ในช่วงระยะเวลาเพียง 5 เดือน และกลายเป็นว่ายอดขายอย่างร้านกาแฟสตาร์บัค และคาเฟ่อะเมซอน มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 22%”
นอกจากนี้ ยังมีบริการอย่างสั่งอาหารล่วงหน้า (Order for Later) เปิดให้ผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเที่ยงหรือเย็น ที่มีปริมาณออเดอร์เข้าไปยังร้านอาหารสูงมาก ด้วยการเปิดให้สั่งอาหารร้านที่ชอบล่วงหน้าได้มากสุดถึง 7 วัน ซึ่งช่วยให้ร้านอาหารสามารถบริหารจัดการเวลาได้ด้วย
ขณะเดียวกัน เพื่อพัฒนาแกร็บให้ครอบคลุมประสบการณ์ใช้งานมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาบริการอย่างทานที่ร้าน (Dine In) เปิดให้ร้านอาหารดังสามารถให้บริการจองโต๊ะล่วงหน้า รวมถึงการนำเสนอดีลส่วนลดให้แก่ลูกค้าที่สนใจได้ด้วย
“การเพิ่มบริการอย่าง Dine In เข้ามาทำให้ภาพที่ร้านอาหารมองบริการของแกร็บเปลี่ยนไป จากเดิมอาจจะเป็นมุมของแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการขายอาหารออนไลน์ แต่เมื่อมีบริการนี้เข้ามาจะช่วยเพิ่มลูกค้าแบบออฟไลน์เข้าไปยังร้านค้าด้วย”
ส่วนในมุมของการทำแพกเกจสมาชิก ‘GrabUnlimited’ เพื่อนำเสนอส่วนลดยังมีบริการที่เข้ามาช่วยตอบสนองเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างการนำเสนอแฟลชดีล หรือการเพิ่มตัวเลือกส่งแบบประหยัด สำหรับผู้ที่ต้องการประหยัด ซึ่งจะช่วยลดค่าจัดส่งสูงสุด 50% เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบมาตรฐาน เช่นเดียวกับผู้ที่เร่งรีบสามารถสั่งแบบ Priority เพื่อให้การจัดส่งรวดเร็วที่สุดได้เช่นกัน
สุดท้ายในมุมของการรักษ์โลก แกร็บมีการทำโครงการสนับสนุนอย่างการชดเชยคาร์บอน ที่ชวนลูกค้าบริจาคเงิน 1 บาทในทุกออเดอร์เพื่อสมทบทุนโครงการปลูกค้นไม้ไปแล้วกว่า 2 แสนต้นทั่วภูมิภาค รวมถึงโครงการอย่างการงดรับช้อน-ส้อมพลาสติก ซึ่งปีที่ผ่านมาลดขยะพลาสติกไปแล้วกว่า 8,100 ตันจากการงดแจกช้อน-ส้อมกว่า 898 ล้านชุด