xs
xsm
sm
md
lg

ซีคอนฯ สีเขียว ‘ต้นแบบศูนย์สรรพสินค้า พลังงานสะอาด’ ด้วยโซลาร์รูฟท็อปใหญ่สุดในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อะไรที่ดี ทำไปเถอะ ไม่ต้องคิดถึงผลตอบแทน เดี๋ยวมันกลับมาเอง ถึงไม่กลับมาอย่างน้อยก็จะรู้สึกดีในสิ่งที่ทำ เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดถึงตัวเองก่อนคิดถึงส่วนรวม แต่เชื่อสิว่าเป้าหมายของทุกบริษัทต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต่อชุมชน” ถือเป็นประโยคที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการบริหาร ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ ของ ‘ดร.พรต ซอโสตถิกุล’ รองกรรมการผู้จัดการสำนักปฏิบัติการ ที่จะพัฒนาศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ สู่ศูนย์สรรพสินค้ายุคใหม่ที่พร้อมตอบแทนสังคม

หนึ่งในความน่าสนใจของการลงทุนช่วงที่ผ่านมาของซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ คงหนีไม่พ้นการทุ่มงบประมาณกว่า 350 ล้านบาท เพื่อติดตั้งหลังคาโซลาเซลล์บนศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ สาขาศรีนครินทร์ ซึ่งกลายเป็นโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ ด้วยจำนวนแผงโซลาร์เซลล์กว่า 15,000 แผง ภายใต้โซลูชันด้านพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ย

พร้อมกันนี้ ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันอย่างบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) เพื่อที่จะให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนในประเทศไทยที่สนใจที่จะเริ่มใช้งานพลังงานสะอาดเข้ามาได้ศึกษาเพื่อให้เห็นภาพของการใช้งานจริง รวมถึงสะท้อนให้เห็นทั้งต้นทุน และการประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระยะยาว ตรงกับจุดยืนของหัวเว่ยในฐานะผู้นำด้านโซลูชันพลังงานสีเขียว และความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างประเทศไทยอัจฉริยะที่มีการเชื่อมโยงถึงกันอย่างชาญฉลาดเต็มรูปแบบ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเทคโนโลยี Digital Power และสร้างความยั่งยืนให้ประเทศไทยไปพร้อมกัน


ดร.พรต ให้ข้อมูลย้อนไปถึงในมุมของการก่อตั้งบริษัท เชื่อว่าทุกคนจะมีอยู่ 4 เป้าหมายหลักด้วยกันคือเรื่องของ 1.การสร้างรายได้ และผลกำไร 2.การดูแลผู้ถือหุ้น และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะในอีกมุมบุคคลเหล่านี้ก็คือเจ้าของบริษัท 3.การดูแลพนักงาน ที่สำคัญคือต้องพัฒนาให้ก้าวหน้า และ 4.เป้าหมายในความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

***ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน

ประกอบกับการที่ปัจจุบันภาครัฐได้เริ่มเข้ามาสนับสนุนเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (BCG) ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งในฝั่งของซีคอนฯ เริ่มดำเนินการแล้วในหลายภาคส่วน


ตั้งแต่เรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างการเป็นศูนย์สรรพสินค้าแห่งแรกของไทยที่แยกขยะอาหาร ที่ปัจจุบันแยกได้วันละประมาณ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม ซึ่งกว่า 90% มาจากร้านอาหารที่อยู่ภายในศูนย์ เมื่อแยกออกมาแล้วสามารถนำไปต่อยอดอย่างการเปิดให้ฟาร์มปลาจากต่างจังหวัดมารับเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารปลา หรือการจัดการสิ่งปฏิกูลจากผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์สรรพสินค้า ซึ่งปัจจุบันจะใช้จุลินทรีย์ไปช่วยขจัด แต่ในอนาคตมีโอกาสที่จะเพิ่มถังเก็บเพื่อสิ่งปฏิกูลเพื่อนำไปผลิตเป็นก๊าซมีเทนเพื่อนำไปใช้งานต่อได้

ขณะที่ในมุมของเศรษฐกิจสีเขียว เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากการเลือกใช้พลังงานสะอาด ซึ่งในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วนหลักๆ คือ น้ำ ลม และแสงอาทิตย์ ซึ่งกลายเป็นว่าโอกาสที่จะนำพลังงานน้ำ และพลังงานลมมาใช้ในไทยอาจจะไม่สามารถผลิตพลังงานได้เทียบเท่ากับในฝั่งยุโรป แต่ในเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศไทยนับเป็นภูมิภาคที่เหมาะสมมาก

***โซลาร์รูฟท็อป ตอบโจทย์พลังงานสะอาด

ดาดฟ้าของศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ บางแค ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
พร้อมกันนี้ กลายเป็นว่าการเลือกใช้พลังงานสะอาด จะเข้ามาตอบโจทย์เป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายของศูนย์สรรพสินค้า ซึ่งกลายเป็นว่า ‘ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน’ กลายเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายฟิกซ์คอสที่เกิดขึ้นในทุกๆ เดือน เดือนละราว 17-20 ล้านบาท เมื่อรวมแล้วทำให้ค่าไฟในแต่ละปีมีโอกาสสูงขึ้นไปหลัก 200 ล้านบาท ทำให้ที่ผ่านมา เริ่มดำเนินการอย่างการเปลี่ยนหลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ บันไดเลื่อนต่างๆ ให้กลายเป็นอินเวอร์เตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน แต่ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

พื้นที่ดาดฟ้าของศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ กว่า 40 ไร่ ทำให้กลายเป็นโซลาร์รูฟท็อปที่ใหญ่สุดในอาเซียน
ดร.พรต กล่าวต่อว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้มองว่าจะเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของทางกลุ่มซีคอนฯ ที่จะลงทุนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว จึงเริ่มเข้าไปศึกษาถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาใช้งานทั้งที่ศรีนครินทร์ในปี 2021 และบางแค ปี 2022

“ก่อนหน้านี้เชื่อว่าหลายคนอาจจะมองว่าเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ รวมถึงอินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในการแปลงไฟกระแสตรงเป็นกระแสสลับ จะคิดว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าของเยอรมนีดีที่สุด แต่กลายเป็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีตัวแปลงกระแสไฟฟ้าของจีนดีที่สุด และที่สำคัญคือราคาไม่แพง”

เครื่อง Inverter สำหรับแปลงไฟ ของ HUAWEI
ก่อนที่จะเข้าไปศึกษาร่วมกับหัวเว่ย ประเทศไทยที่มีโครงการเกี่ยวกับ Digital Power ในการนำพลังงานสะอาดมาใช้งาน พร้อมกับไปเห็นโครงการที่หัวเว่ยทดสอบระบบโซลาร์เซลล์ด้วยการนำไปแช่ในน้ำ และการทดสอบกับความร้อน แสดงให้เห็นถึงทั้งประสิทธิภาพ และความทนทานของแผง พร้อมกับระบบอินเวอร์เตอร์ที่มีความอัจฉริยะของหัวเว่ย

หลังจากนั้น ซีคอนฯ ได้เปิดให้บริษัทที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบโซลาร์เซลล์ (Power Purchase Agreement : PPA) ระยะเวลา 12-15 ปี ด้วยการนำจุดเด่นในเรื่องของการมีพื้นที่ขนาดใหญ่บนชั้นดาดฟ้าของศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ กว่า 31,000 ตร.ม. (40 ไร่) เพื่อติดตั้งโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์โดยมีเงื่อนไขหลักว่าจะเปิดให้ทางซีคอนฯ เป็นผู้เลือกอุปกรณ์ที่ใช้งาน ซึ่งได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 5MW ไปกว่า 15,000 แผ่น เพื่อใช้งาน


อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารซีคอนฯ ให้คำแนะนำถึงผู้ที่สนใจเลือกติดตั้งโซลาร์เซลล์ ให้ลองศึกษาถึงคุณภาพของแผงโซลาร์ให้ดี เพราะด้วยภูมิอากาศของประเทศไทยที่มีความร้อนชื้น ทำให้ต้องหาแผงที่เหมาะสม มีความสามารถทั้งในการกันน้ำ และระบายความร้อนได้ดี พร้อมยกตัวอย่างถึงแผงที่ใช้งานบนศูนย์สรรพสินค้าที่สามารถใช้งานได้ยาว 25-30 ปี ซึ่งตามปกติแล้วในแต่ละปีแผงจะสามารถผลิตพลังงานได้น้อยลง แต่ทางผู้ผลิตการันตีว่าเมื่อถึง 30 ปี จะมีกำลังการผลิตลดลงเพียง 13% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน รูปแบบของการติดตั้งมีส่วนเพิ่มเติม เพราะอย่างบนดาดฟ้าศูนย์สรรพสินค้า เมื่อติดตั้งโครงโซลาร์รูฟท็อปเข้าไปทำให้มีพื้นที่จอดรถในร่มข้างใต้แผงเพิ่มเติม พร้อมกับช่วยลดความร้อนที่เข้าสู่อาคารไปในตัว ซึ่งจะเข้าไปช่วยในเรื่องของการควบคุมเครื่องปรับอากาศที่จะใช้พลังงานน้อยลงด้วย และในอนาคตมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของการควบคุมพลังงานภายในศูนย์สรรพสินค้า


ผลที่ได้หลังจากติดตั้ง 3 เดือนคือค่าไฟฟ้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ซีคอนฯ มองว่าในระยะเวลาเพียง 4-5 ปีสามารถคืนทุนได้ จึงได้เจรจากับทางบริษัทที่เข้ามาทำโครงการเพื่อขอซื้อโปรเจกต์ในราคากว่า 165 ล้านบาท ทำให้กลายเป็นว่าที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ปัจจุบันได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) ที่ผู้ติดตั้งสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อรวมกับการติดตั้งโซลาร์ฯ แบบ PPA ที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ บางแค จะช่วยประหยัดค่าไฟปีละกว่า 47 ล้านบาท

“เมื่อปรับมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติลดการใช้ไฟฟ้าไปปริมาณสูงมากๆ เมื่อคำนวณแล้วเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เป็นแสนๆ ต้น ถ้าคิดเป็นแต่ละปีก็เท่ากับลดคาร์บอนไปได้หลายตัน ซึ่งในมุมหนึ่งกลายเป็นผลในการตอบแทนสังคมด้วย”


นอกจากนี้ ทางซีคอนฯ ยังได้ขยายโครงการโซลาร์เซลล์ในการทำป้ายรถเมล์ติดแอร์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของโลก ที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ด้วยงบประมาณกว่า 3 ล้านกว่าบาท เพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่ลูกค้าโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีแผนจะต่อยอดด้วยการป้ายรถเมล์ที่ใช้พลังงานสะอาดในลักษณะเดียวกันที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ บางแค ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น