xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์เส้นทางบิน ‘SKY’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเส้นทางเติบโต ‘สกาย กรุ๊ป’ ผ่านสายตา ‘สิทธิเดช มัยลาภ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ทะยานไม่ยั้งทั้งแนวลึกและแนวราบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ AIT เพื่อความเข้มแข็งและขยายฐานลูกค้าของ TKC การซื้อบริษัท SAMCO ของเมทเธียร์ผนวกเทคโนโลยีแพลตฟอร์มซิเคียวริตีเข้ากับแรงงานคน บันเดิลเป็นแพกเกจบริการเจาะลูกค้าเอกชนขนาดใหญ่สร้างรายได้รายเดือนประจำสม่ำเสมอ นำระบบ Biometric เสริมระบบ CUPPS เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวออกบัตรโดยสารที่ตู้คีย์ออสก์ เพื่อความสะดวกทุกขั้นตอนจนถึงประตูบินออกนอกประเทศ พร้อมแผนเด็ดซื้อบริษัทด้าน Aviation Software ระดับโลกที่มีฐานลูกค้า 350 สนามบินทั่วโลก ก้าวสู่ระดับโกลบอลแบรนด์

ผลประกอบการสกาย กรุ๊ป ครึ่งแรกของปี 2566 ทำรายได้ 1,762 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 39% คิดเป็นกำไรสุทธิ 203 ล้านบาท เติบโต 26% หลังเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการเกี่ยวกับสนามบินที่เติบโตมากขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเติบโตของสกาย กรุ๊ปที่ชัดเจนตอนนี้เกิดจากการซื้อบริษัทและการต่อยอดบริการปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ที่ซื้อบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT บริษัท เมทเธียร์ จำกัด ที่ซื้อบริษัท รักษาความปลอดภัยและบริหารธุรการ สยาม จำกัด หรือ SAMCO

‘สิทธิเดช’ กล่าวว่า ‘เรียกได้ว่าปีนี้เป็นปีที่มีการเปลี่ยนมากพอสมควร ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งที่เศรษฐกิจชะลอตัว ความน่าสนใจของการเข้าไปซื้อ AIT อยู่ตรงที่ AIT เป็นเจ้าตลาดที่ใช้ซิสโก้เป็นหลัก เป็นนัมเบอร์วันของซิสโก้ที่ทำตลาดภาครัฐได้ใหญ่ที่สุดสัดส่วนการถือหุ้นใน TKC ที่ลดลงมันน้อยกว่าผลกำไรที่ได้รับกลับมา’

*** เมทเธียร์ขยายธุรกิจด้วยเทคโนโลยีบวกกำลังคน


เมทเธียร์ที่เข้าไปซื้อบริษัท รักษาความปลอดภัยและบริหารธุรการสยาม (SAMCO) เพื่อขยายธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีบวกกับกำลังคน จากเดิมที่เมทเธียร์ทำเรื่องทศกัณฐ์ ทำแพลตฟอร์มระบบรักษาความปลอดภัย เรื่องสมาร์ท ซิเคียวริตี เอา AI มาใช้ทำเรื่อง Face Recognition (ระบบจดจำใบหน้า) รวมทั้งจะทำเรื่องหุ่นยนต์ Surveillance (เฝ้าระวัง) เพื่อใช้แทนคนในบางจุดที่ใช้ได้เพื่อลดจำนวน รปภ. คือไม่ได้ตัดงาน รปภ.แต่ปัจจุบันเรื่องแรงงานมีปัญหามากในตลาดโดยการเอา รปภ.ที่หายากไปทำโครงการใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์

ทั้งนี้ ธุรกิจ รปภ.หรือแม่บ้านเป็นธุรกิจกินหัวคิว คิดเป็นกำไรต่อหัว ส่วนมากกำไรไม่เกิน 5% แต่ถ้าเอาแพลตฟอร์มมาจับ บางจุดติดกล้องใช้ Face Recognition แทนที่ต้องให้ รปภ.เดินลาดตระเวน แล้วรายงานเข้ามาที่ Command Center เท่ากับเป็นการลดจำนวน รปภ.ลงแล้วใส่เทคโนโลยีเข้าไปแทน

‘เราจะเปลี่ยนบิสิเนสโมเดลจากการนับหัว รปภ.ที่ทำงานในพื้นที่นั้นเป็นการนับ Service Level ไม่นับจำนวน รปภ.แต่บวกบริการรักษาความปลอดภัย มีกล้องพร้อมระบบจดจำใบหน้า ดูได้ 24 ชม.7 วัน ดึงข้อมูลเข้าไป Command Center เป็นการบันเดินแพกเกจบริการเข้าไป’ สิทธิเดช กล่าวพร้อมระบุว่า ‘เราพยายามทำตลาดใหม่ให้เมทเธียร์ ที่ผ่านมาเมทเธียร์เรามีแพลตฟอร์มแล้ว เรามีระบบการติดตาม (track) เรามี Command Center แล้ว เหลือ รปภ.ที่เป็นแมนเพาเวอร์ แต่เมื่อซื้อ SAMCO เราก็มี รปภ. เราก็เอา รปภ.มาใช้แพลตฟอร์มนี้บันเดิลเป็นแพกเกจขาย เน้นลูกค้าภาคเอกชนขนาดใหญ่อย่างวัน แบงค็อก รวมถึงห้างสรรพสินค้า หรือกลุ่มที่ต้องใช้งาน รปภ.ในพื้นที่ใหญ่ๆ ขนาดกว้าง อย่าง BTS MRT โรงงานอุตสาหกรรม แนวทางนี้จะทำให้มีรายได้สม่ำเสมอ (recurring) ปีหน้าเมทเธียร์จะทำตลาดอย่างจริงจัง’

ส่วน PRO INSIDE มีงานภาครัฐอยู่แล้วเพิ่งประมูล 2 โครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วยระบบคลาวด์สาธารณสุข และศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ 191 ทั้ง 2 โครงการนี้มูลค่าประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ถ้าประมูลชนะจะเริ่มรับรู้รายได้ปีหน้า

*** สกาย ไอซีที ทะยานไม่ยั้ง


สกายมีรายได้จากระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องด้วยตัวเอง หรือ Common Use Passenger Processing System (CUPPS) ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า หรือ Advance Passenger Processing System (APPS) ,Airport Free Wifi ระบบตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง หรือ Passenger Baggage Reconciliation System (PBRS) และแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่พลิกฟื้น การกลับมาของการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้ช่วงก่อนโควิด จากที่มีการเดินทางเข้าออกประเทศทั้ง 6 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวง เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่) ประมาณ 2.2 แสนคนต่อวัน ปัจจุบันเดือน ส.ค.นี้มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.8 แสนคนต่อวัน จากเมื่อต้นปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนคน แสดงว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวโตขึ้นตลอด คาดว่าสิ้นปีน่าจะแตะ 2 แสนคนต่อวันได้

‘ขนาดจีนยังไม่เปิดประเทศเต็มที่นะ เพราะการอนุมัติวีซ่าออกนอกประเทศช้าลง จีนต้องการให้คนเที่ยวในประเทศ ใช้จ่ายในประเทศมากกว่า แต่โชคดีที่เรามีนักท่องเที่ยวจากอินเดีย จากรัสเซีย ตัวเลขขึ้นจากเมื่อก่อนทำให้มาบาลานซ์คนจีนที่ไม่มากเท่าที่ควรได้ดีขึ้น’

APPS (สิ้นสุดสัญญาปี 2570) กับ CUPPS (สัญญา 10 ปีถึงปี 2573 สกายลงทุนประมาณ 2,300 ล้านบาท) ถือเป็นรายได้หลักของสกายกว่า 85% เมื่อนักเดินทางเติบโต เป็นผลดีกับสกายตอบรับกับแนวทางการเป็น Aviation Tech ซึ่งเน้นงานด้านสนามบินกับ System Service อย่างเรื่อง CUPPS ที่เน้นการออกบัตรโดยสารให้เร็วขึ้น คนเข้าไปใช้เคาน์เตอร์น้อยลง ปัจจุบันคนมาใช้ตู้คีย์ออสก์ ประมาณ 20% เทียบกับสนามบินทั่วโลกที่ 40-60% แสดงว่ายังสามารถโตได้อีก

‘เราจะเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้คนมาใช้ตู้คีย์ออสก์ อย่างในเดือนต.ค.จะให้สายการบินต่างๆ มาทดลองใช้ระบบ Biometric (การตรวจพิสูจน์บุคคล) เช่นที่ตู้คีย์ออสก์ เอาพาสปอร์ตมาสแกนจะขึ้นข้อมูลการเดินทางเลยไปสายการบินอะไรไฟลต์อะไร ถ้าจองที่นั่งแล้วก็บอกว่าเลขที่อะไรแล้วออกบอร์ดดิ้งพาสได้เลย แล้วระบบจะเก็บหน้าไว้แล้วจะจำพอเดินไปถึงส่วนซิเคียวริตีก็จะจำหน้าเรา ประตูจะเปิดอัตโนมัติไม่ต้องเอาบอร์ดดิ้งพาสมาแสดง ไปจนถึงเกตขึ้นเครื่องบินเลย’ สิทธิเดชกล่าว และระบุว่า ‘ตอนนี้ระบบพร้อมแล้ววันที่ 5 กันยายนนี้จะมีการประชุมในที่ประชุม AOC (Air Operator Certificate) เพื่อบอกว่าเรามีระบบนี้และชวนสายการบินเข้ามาทดสอบระบบกับเราโดยจะเริ่มทดสอบระบบ 1 ตุลาคมนี้ แล้ว 1 มกราคม 2567 พร้อมให้บริการทันที’

ระบบนี้ทำร่วมกับซิต้าซึ่งเป็น Aviation Software ติด 1 ใน 3 ของโลกที่ทำเรื่องคีย์ออสก์เรื่องการออกบัตรโดยสารอัตโนมัติซึ่งทำแล้วที่สนามบินชางฮี สิงคโปร์ อินชอน เกาหลีใต้ และแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา แสดงว่าคนไทยเรามีระบบนี้ใช้เทียบเท่าสนามบินอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว

ลักษณะการทำงานจะเป็นเหมือนหน้าจอคอมพิวเตอร์กลาง ซึ่งต้องให้สายการบินมาลงแอปพลิเคชัน ทำให้ผู้โดยสารสายการบินนั้นๆ ใช้งานได้ ปัจจุบันที่ใช้ได้อย่างแอร์เอเชีย การบินไทย ไทยสมายล์ และค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คงไม่ใช่ 100% อย่างมากสุด ที่ญี่ปุ่นมีการใช้ประมาณ 60% สหรัฐอเมริกาประมาณ 50% เพราะยังมีสายการบินที่ไม่พร้อมใช้อยู่

สกายยังอยู่ระหว่างการนำเสนอเทคโนโลยีระบบใหม่ๆ ให้การท่าอากาศยาน ทั้งระบบบริหารจัดการสนามบิน ระบบบริหารจัดการหลุมจอดที่จะสร้างประสิทธิภาพให้มากขึ้น การท่าฯ เหมือนร้านอาหารถ้ามีลูกค้าเข้าออกบ่อยๆ ก็มีรายได้มาก สายการบินเมื่อเอาเครื่องบินมาจอด ยิ่งเสียเวลาจอดน้อยที่สุด ก็ประหยัดต้นทุนค่าที่จอดได้มากที่สุด ทั้ง 2 ด้านสามารถสร้างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่างคนต่างได้ ด้วยการนำระบบมาให้บริการแทนที่จะใช้แมนนวลคนมานั่งดู

‘ระบบบริหารจัดการหลุมจอด ทั้งของแต่ละหลุมจอดของแต่ละสายการบิน เวลาในการจอด บริหารให้ถูกต้องสายการบินไหนมาตอนไหนควรจะจอดหลุมไหน ควรสลับกับสายการบินไหน’

*** เหินฟ้าสู่โกลบอล แบรนด์


สกาย ไอซีที นอกจากให้บริการสนามบินในประเทศแล้ว ยังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อบริษัทด้าน Aviation Software เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ เนื่องจากซอฟต์แวร์นี้มีการใช้ในสนามบินทั่วโลก เท่ากับสกายจะขยายธุรกิจไปสนามบินทั่วโลกทันที และบริษัทนี้มีฐานธุรกิจอยู่ในยุโรปและแอฟริกาทำให้สกายสามารถนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวมาขยายฐานในเอเชียได้

‘ซอฟต์แวร์บริษัทนี้หลักๆ คือ CUPPS แล้วทำ Biometric ได้ ระบบ Airport Management System ก็มี เมื่อเราซื้อบริษัทนี้เท่ากับเรามีครบวงจรเป็นโกลบอลแบรนด์เลย เป็นเบอร์ 1 ของประเทศกับเอเชีย และท็อป 3 ของโลก’

สิทธิเดชกล่าวสรุปถึงภาพสกาย กรุ๊ปว่า ‘มีการเติบโตที่มั่นคงด้วยบิสิเนสโมเดลที่หลากหลาย โฟกัสในสิ่งที่เราทำจริงๆ สกาย ไอซีทีลักษณะธุรกิจจะเป็นสัมปทานที่ลงทุนเอง รายได้มาจากการท่องเที่ยวกับการท่าฯ โปร อินไซด์เป็นโครงการภาครัฐ รายได้เป็นแคชคาว โครงการหลักพันล้าน เมทเธียร์ ไปเรื่องซิเคียวริตีแพลตฟอร์ม เป็น Security as a Service มีทั้งคน เทคโนโลยีหุ่นยนต์เป็นรายได้สม่ำเสมอรายเดือนกับภาคเอกชน สกายเป็นบริษัทคนรุ่นใหม่ที่ทำเพื่อประเทศชาติจริงๆ เราไม่ต้องการทำมาร์จิ้นสูงๆ แต่ต้องการทำงานให้ได้ มาร์จิ้นน้อยก็ไม่เป็นไร เอาของดีให้ แต่ประเทศได้ เราตอบโจทย์ได้ เราพอใจแล้ว’


กำลังโหลดความคิดเห็น