xs
xsm
sm
md
lg

HP ขยายไลน์ ‘เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก’ รับความต้องการเปลี่ยน  (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากความคาดหวังของแบรนด์ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เมื่อในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดพีซีเกมมิ่ง และพรีเมียมถือเป็น 2 เซกเมนต์สำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เกิดการเติบโต จนมาถึงในช่วงที่ตลาดพีซีกลับมาเติบโตในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา และส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันที่กลายเป็นว่าตลาดเริ่มหดตัว อย่างในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาลดลงถึงกว่า 20%

ในขณะเดียวกัน ถ้ามองเฉพาะในกลุ่มของพีซีเกมมิ่ง สถานการณ์ของตลาดเริ่มนิ่งมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2022 และลากยาวมาถึงปัจจุบัน ซึ่งการหดตัวอยู่ที่ราว 20-30% ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนมีความเป็นไปได้ว่าสภาพตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เริ่มสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่แท้จริง

‘วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ เอชพี ประเทศไทย
เมื่อตลาดเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่มีสัดส่วนกว่า 30% เมื่อเทียบกับจำนวนพีซีเกมมิ่งทั้งหมดเริ่มหดตัว ย่อมทำให้ภาพรวมของตลาดได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะมีกำลังซื้อจากภาคธุรกิจเข้ามาช่วยเสริม แต่ในส่วนของคอนซูเมอร์ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จนทำให้กลายเป็นว่าตลาดพีซีเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจากแบรนด์ที่มีส่วนแบ่งใกล้เคียงกันในตลาด

โดยจากข้อมูล IDC ในช่วงไตรมาส 1 เอชพี ถือเป็นผู้นำในตลาดคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งราว 18.5% และเพื่อที่จะสามารถรักษาอันดับไว้ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เอชพีมีการปรับกลยุทธ์ที่จะไม่โฟกัสกับสินค้ากลุ่มเดิม แต่เลือกการขยายฐานไปยังสินค้าที่รับกับเทรนด์การใช้งานของผู้บริโภค ทั้งโน้ตบุ๊กที่ทำงานได้แบบไฮบริด โดยเฉพาะการเสริมเรื่องซิเคียวริตีเข้าไป รวมถึงการนำโซลูชันที่มีความหลากหลายมารองรับการใช้งานของลูกค้าทั้งในกลุ่มองค์กร และผู้บริโภคทั่วไป


แน่นอนว่า ตลาดพีซีเกมมิ่งถือเป็นอีกตลาดที่ เอชพีให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การแยกแบรนด์ทั้ง OMEN และ Victus เข้ามาเจาะตลาดนี้โดยเฉพาะ เสริมด้วยแบรนด์อุปกรณ์เสริมอย่าง Hyper X ทำให้ปัจจุบัน เอชพีถือเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดพีซีเกมมิ่ง ด้วยส่วนแบ่งตลาดระดับ 15-18%

ในจุดนี้ ‘วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ เอชพี ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาเอชพีเข้าไปสนับสนุนธุรกิจอีสปอร์ต และอุตสาหกรรมเกมมิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้าไปร่วมเป็นสปอนเซอร์ในการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

“ประเทศไทยถือเป็นตลาดเกมมิ่งที่มีการเติบโตสูง คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยอุตสาหกรรมเกมของไทยเติบโตสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เพียงแต่ภาพรวมตลาดในปีนี้จะค่อนข้างทรงตัว ทำให้ต้องมีการขยายตลาดให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า”

   ‘ศรัณยพงศ์ สินทิพย์’ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เกมมิ่ง เอชพี ประเทศไทย
ด้วยการที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้ง Gen Z กว่า 90% ที่ใช้เวลาเล่นเกมเป็นประจำ และ Gen Alpha ที่ระบุว่าใช้เวลา 21% ของเวลาว่างในการเล่นเกม สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้เล่นเกมในไทยจะเพิ่มเป็น 11.5 ล้านคนภายในปี 2570 จากการที่เยาวชนหันมาเล่นเกมเพื่อเชื่อมต่อกับเพื่อนๆ และสื่อสารกับผู้คนในคอมมูนิตีเกมที่สนใจเรื่องเดียวกัน

‘ศรัณยพงศ์ สินทิพย์’ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เกมมิ่ง เอชพี ประเทศไทย ให้ข้อมูลเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดเกมมิ่งตอนนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมผู้ผลิตจะเลือกนำเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้า แต่ในปัจจุบันจะเน้นฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากปัจจุบัน เกมมิ่งพีซี (Gaming PC) ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเล่นเกมเพียงอย่างเดียว จากผลสำรวจทั่วโลกพบว่ากว่า 62% นำไปใช้งานอย่างอื่น เช่น การทำพรีเซ็นต์งาน ใช้เพื่อความบันเทิงด้านอื่นๆ รวมถึงใช้สำหรับการเรียน ส่วนในประเทศไทยมีโอกาสที่สัดส่วนการใช้งานอย่างอื่นจะเพิ่มขึ้นไปเกิน 80% เพราะมีกลุ่มครีเอเตอร์ที่ต้องการใช้งานเครื่องประสิทธิภาพสูงมาใช้งานด้วย

“แนวโน้มของเกมมิ่งพีซีในช่วง 2 ปีที่แล้วจะเป็นกลุ่มเพาเวอร์ยูสเซอร์ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องราคามากนัก ก่อนขยายตลาดมากว้างขึ้นเป็น 6 เซกเมนต์ในปัจจุบันที่ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ใช้งานทั่วไป ใช้เป็นงานอดิเรก จนถึงมืออาชีพ”

เพียงแต่ว่าในปัจจุบันกว่า 65% ของผู้ใช้งานพีซีเกมมิ่งจะอยู่กับดีไวซ์ที่ราคาต่ำกว่า 30,000 บาท ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง ใช้ข้อมูลสเปกมาเทียบกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพใกล้เคียงกับเครื่องที่ราคาสูง แต่ในควมเป็นจริงดีไวซ์เหล่านั้นจะมีการจำกัดประสิทธิภาพจากเรื่องของคุณภาพ และวัสดุที่ใช้งาน

ทำให้ในปีนี้ เอชพีจะกลับมาเน้นสร้างประสบการณ์ใช้งานเกมมิ่งพีซีที่ให้ประสิทธิภาพคุ้มค่ากับราคามากขึ้น ทั้งภายใต้แบรนด์ Victus 16 ที่เป็นไฟติ้งแบรนด์ในราคาเริ่มต้น 39,990 บาท ตามด้วยแบรนด์พรีเมียมอย่าง OMEN 16 ในราคาเริ่มต้นที่ 62,990 บาท และไฮไลต์คือ OMEN Transcend 16 ที่มากับหน้าจอ miniLED ในราคาเริ่มต้น 89,990 บาท


อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาดเครื่องรุ่นเก่าที่อยู่ในท้องตลาดจะมีการปรับราคาลง ทำให้เอชพีสามารถเข้าไปแข่งขันได้ทั้งในกลุ่มที่เป็นเมนสตรีมเกมมิ่งราคาต่ำกว่า 30,000 บาท และเครื่องรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการประสบการณ์ใช้งานที่ลื่นไหล คุณภาพของวัสดุที่ใช้ และเทคโนโลยีที่ให้มา

“ปีนี้เกมมิ่งพีซีของเอชพีจะให้ความสำคัญที่ 3 องค์ประกอบหลัก เริ่มจากประสิทธิภาพ ที่เลือกใช้หน่วยประมวลผลของ Intel ในรหัสซีพียู HX ที่ให้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ตามด้วยการ์ดจอระดับสูงของ NVIDIA 4000 ซีรีส์ ตามแต่ละช่วงระดับราคา เสริมด้วยการใส่เทคโนโลยี MUX Switch เข้าไปให้การแสดงผลทำได้ลื่นไหลมากที่สุด”

นอกจากนี้ หัวใจหลักในการใช้งานเกมมิ่งพีซีคือเรื่องของการระบายความร้อน ด้วยเทคโนโลยี OMEN Tempest Cooling ที่มีการออกแบบช่องดูดอากาศแบบใหม่เพื่อดึงลมเย็นเข้าไปในเครื่องได้มากขึ้น ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ ทำให้สามารถดึงประสิทธิภาพการทำงานของซีพียูได้แรงขึ้น ประสบการณ์ใช้งานโดยรวมของผู้ใช้ก็จะดีขึ้น

สุดท้ายในส่วนของอีโคซิสเต็ม เอชพีมีการนำอุปกรณ์เสริมในแบรนด์ Hyper X เข้ามาทำตลาดไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ใช้งาน OMEN หรือ Victus สามารถเชื่อมต่อกับหูฟังของ Hyper X ได้ทันทีโดยไม่ต้องเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB และช่วยลดความหน่วงในการส่งผ่านข้อมูลด้วย

กลยุทธ์ของเอชพีในการนำเสนอเกมมิ่งพีซีคุณภาพสูง จะเข้ามาตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากแค่ไหน คงต้องจับตาดูกันในช่วงปลายปีนี้ เมื่อทุกแบรนด์ต่างอัปเกรดทั้งซีพียู และการ์ดจอรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น และผู้บริโภคจะยิ่งได้ประโยชน์จากการแข่งขันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น