xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส-5 หน่วยงาน เร่งนำระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีม้า สกัดมิจฉาชีพออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส เอ็มโอยู 5 หน่วยงาน สำนักงานตํารวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย นำระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี และธุรกรรมต้องสงสัย (CFR) ช่วยป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอดๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด

ที่ผ่านมา ดีอีเอสไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการหารือกับภาคสถาบันการเงิน และตำรวจมาโดยตลอด จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดมาตรการ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ขึ้น ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดระบบ หรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามที่กำหนด ในมาตรา 4 ของพระราชกำหนด

ทั้งนี้ ในมาตรา 4 ของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี และธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่วมกัน


“วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของความร่วมมือของ 5 หน่วยงาน โดยมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกันปราบปรามแก้ไขปัญหาการถูกหลอกลวงของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สถาบันการเงินได้มีการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน Central Fraud Registry (CFR) และจะมีการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในระยะถัดไป”

สําหรับการนำระบบ Central Fraud Registry (CFR) มาใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงินจะแบ่งเป็น 2 ระยะในเบื้องต้น โดยเริ่มจากการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่างสถาบันการเงินผ่านฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้สถาบันการเงินปลายทางรับ ข้อมูลไปตรวจสอบและระงับธุรกรรมต่อไป

ส่วนในอนาคต รองรับกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างสถาบันการเงินผ่านช่องเว็บไซต์ ที่ระบบจะแจ้งเตือนไปสถาบันการเงินปลายทางได้โดยอัตโนมัติ และสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างรายงานเส้นทางการเงินได้


กำลังโหลดความคิดเห็น