สู้กันไฟลุกท่วมสังเวียนแบบเห็นได้ชัดสำหรับศึกชิงฐานผู้ใช้แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียแบบข้อความ การแข่งขันที่กำลังร้อนระอุนั้นยิ่งดุเดือดขึ้นอีกเมื่อมีผู้เล่นรายใหม่อย่างติ๊กต็อก (TikTok) เข้ามาเปิดฟีเจอร์ล่าสุดให้ผู้ใช้โพสต์แต่ข้อความได้ ในวันเดียวกับที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ทิ้งชื่อและโลโก้รูปนกของทวิตเตอร์ (Twitter) เพื่อเปลี่ยนไปใช้ชื่อ “เอ็กซ์” (X) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเดือนเดียวกับที่เมตา (Meta) ได้แจ้งเกิดสื่อโซเชียลอนาคตไกลอย่าง “เธรดส์” (Threads) ซึ่งจะแข่งขันโดยตรงกับ “คู่แข่งอดีต Twitter” ที่เปิดตัวมาก่อนอย่าง “บลูสกาย” (Bluesky) ด้วย
ไม่ว่าใครจะมีวัตถุประสงค์ในการดวลกึ๋นครั้งนี้อย่างไร แต่หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทุกรายตัดสินใจแข่งขันกันเพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่โดดเด่นเรื่องการโพสต์ข้อความ หรือ text based social media ในช่วงนี้ คือการประเมินมูลค่าแบรนด์และรายได้จากโฆษณาของเจ้าตลาดดั้งเดิมอย่าง Twitter ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเป็น X ภายใต้การนำของ Elon Musk ภาวะนี้อาจเปิดประตูให้ Threads และทุกแอปที่มีฟังก์ชันลักษณะเดียวกันได้รับแรงผลักดันจากการใช้งานในรูปโพสต์ข้อความหรือไมโครบล็อกที่จะเป็นโอกาสทองในการขยายอิทธิพลของแพลตฟอร์ม
ทำไมฟีเจอร์เรียบง่ายอย่างการโพสต์ข้อความจึงเป็นโอกาสทองในการขยายอิทธิพลแพลตฟอร์ม เรื่องนี้ Meta Platforms Inc. ที่นำโดย Mark Zuckerberg ได้บอกใบ้ไว้เมื่อครั้งเปิดตัว Threads ซึ่งเป็น “แอปคล้าย Twitter” ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อนำศูนย์กลางของวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตกลับมาที่ Meta เพราะ Threads จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถแชร์ความคิดได้อย่างรวดเร็วและกระชับ ทำให้พิมพ์และส่งเป็นข้อความได้ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับการถ่ายภาพและโพสต์วิดีโอ
ขณะที่การคัดลอกความสามารถของ Twitter ใน TikTok และ Instagram นั้นมีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงต่างกันไป ราชาคนเดิมอย่าง Twitter ก็มีเป้าหมายที่ต่างออกไปเช่นกัน เพราะ Elon Musk ตั้งใจเปลี่ยนให้ Twitter เป็น “แอปที่ทำอะไรก็ได้” หรือ anything app ที่คล้ายกับวีแชต (WeChat) ของจีน ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่ามีเหตุผลไม่ต่ำกว่า 4 ด้านที่อาจทำให้อดีต Twitter ไม่สามารถเป็น anything app ได้เหมือนต้นแบบ
***Threads ขยับรับตลาดแกว่ง
อิมแพกต์ที่ชัดเจนที่สุดในวันที่โลก microblogging มีการแข่งขันสูง คือการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในภูมิทัศน์ของโซเชียลมีเดียที่ต้องมีการปรับตัวที่รวดเร็ว
เป็นเวลาหลายปีที่ชาวโลกรู้สึกว่าภูมิทัศน์ของตลาดโซเชียลมีเดียโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีแอปพลิเคชันใหม่มา แต่แล้วก็จากไปแบบเงียบๆ และแอปล่าสุดที่สร้างรอยต่างชัดเจนในตลาดคือ ติ๊กต็อก (TikTok) ซึ่งแจ้งเกิดในปี 2020 จนในช่วง 9 เดือนนับตั้งแต่มหาเศรษฐี Elon Musk ซื้อ Twitter กิจกรรมมากมายจากหลายแอปที่ลอกถอดแบบ Twitter ถูกปล่อยออกมา เนื่องจากผู้ใช้มองหาทางเลือกอื่นเมื่อแอปนกฟ้าเปลี่ยนไปภายใต้ผู้นำคนใหม่ ซึ่ง Threads ถือเป็นคู่แข่งรายสำคัญที่สุดที่เปิดตัวโดย Meta ต้นสังกัด Facebook
Threads ประสบความสำเร็จงดงามในช่วงแรก โดยมีการลงทะเบียนมากกว่า 100 ล้านครั้งภายในไม่กี่วันหลังจากเปิดตัว นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความนิยมนี้มีศักยภาพในการสร้างรายได้ต่อปีประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์ในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมีโอกาสที่ความสามารถของ Meta ในการสร้างรายได้จาก Threads และใช้ประโยชน์จากการเป็นแพลตฟอร์มบอกเทรนด์ที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรม อาจจะช่วยให้ Meta เรียกคืนสถานะการเป็นศูนย์กลาง หรือฮับสำหรับโลกออนไลน์ได้
แม้จะเริ่มต้นได้อย่างน่าทึ่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2023 แต่ Threads กลับมีฐานผู้ใช้ลดลง นักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจเป็นเพราะขาดกลยุทธ์การหาผู้ใช้ใหม่และการรักษาผู้ใช้รายเดิม ซึ่ง Mark Zuckerberg เลือกใช้วิธีดึงดูดผู้ใช้ให้เข้ามาที่ Threads โดยการรวม “เธรดข่าว” เข้ากับฟีดผู้ใช้บน Instagram และเปิดตัวเวอร์ชันเดสก์ท็อป พร้อมกับฟังก์ชันค้นหา หรือ “Search”
การดิ้นรนของ Meta ผ่าน Threads นั้นมีเดิมพันสูง เพราะวันนี้ TikTok กลายเป็นฮับของกระแสร้อนบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงเป็นพื้นที่ปล่อยเพลงฮิตยอดนิยม ในขณะที่ Instagram เริ่มมีภาพอิทธิพลที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป การประสบกับปัญหาผู้ใช้และการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ลดลงทำให้ Meta ฝากความหวังไว้ที่ Threads ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การแชร์ส่งข้อความอย่างรวดเร็วและง่ายดาย ว่าจะสามารถดันหลัง Meta ให้คว้าโมเมนตัมในตลาดโซเชียลมีเดีย และผงาดเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งด้านวัฒนธรรมออนไลน์อีกครั้ง
*** TikTok ร่วมด้วย
ในวันเดียวกับที่ Elon Musk เปลี่ยนชื่อและโลโก้รูปนกของ Twitter เป็น X โซเชียลมีเดียน้องใหม่อย่าง TikTok ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มให้ผู้ใช้โพสต์ข้อความ หรือ text post ได้ทั่วโลก การประกาศนี้สร้างแรงกระเพื่อมชัดเพราะ TikTok ที่มีภาพเป็นแอปยอดนิยมซึ่งรู้จักกันดีในเรื่องการเต้นลิปซิงค์ และมักมี “ภารกิจท้า” หรือชาเลนจ์ที่ตลกขบขัน รวมถึงวิดีโอสั้นๆ อื่นๆ ที่เน้นมอบความบันเทิงก็ยังให้ความสนใจกับตลาด microblogging
TikTok ให้คำอธิบายเกี่ยวกับฟีเจอร์ใหม่ว่าเป็นบริการที่ “ขยายขอบเขตของการสร้างเนื้อหา” โดยเป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพิ่มความหลากหลายให้ครีเอเตอร์มีแนวทางสร้างคอนเทนต์มากขึ้น หลังจากทดลองตั้งแต่หลายเดือนก่อน ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ใช้ TikTok ตอบรับการโพสต์ข้อความมากน้อยเพียงใด และการค้นหาใน TikTok ด้วยคำว่า “text post” ก็ยังให้ผลเป็นวิดีโอยอดนิยมที่มีเอฟเฟกต์ชวนอารมณ์ดี
ฟีเจอร์ text post ของ TikTok ถูกวิจารณ์ว่ามีหน้าตาคล้ายกับการโพสต์ข้อความแบบเต็มจอใน Instagram Story ตัวฟีเจอร์เปิดให้ใช้ที่แท็บรูปกล้องถ่ายรูปหน้าสร้างข้อความจะปรากฏเมื่อคลิก ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ตัวอักษรได้ไม่เกิน 1,000 คำ นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนฟอนต์ สี ใส่กรอบตัวอักษร ใส่เพลง ติดแฮชแท็ก และใส่สติกเกอร์ได้เหมือนที่ใน Instagram ทำได้
ฟีเจอร์นี้เชื่อว่าจะมีประโยชน์กับนักแต่งกลอน ผู้เล่าเรื่อง รวมถึงคนทำเพลงที่ไม่ต้องการออกกล้อง แต่จะสามารถแสดงความคิดเห็นหรือความสามารถบางอย่างผ่านตัวอักษรได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นการหยิบ microblogging มาต่อยอดอิทธิพลของ TikTok ในด้านความบันเทิงได้
นี่คืออีกสิ่งสำคัญที่เห็นชัดในวงการโซเชียลมีเดียปัจจุบัน การแข่งขันระหว่างเบอร์ใหญ่อย่าง Meta และเบอร์รองอย่าง TikTok จะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของอัลกอริทึม และการกำหนดคุณค่าที่ไม่เหมือนใครเพื่อดึงดูดและรักษาผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้แน่ใจว่าสามารถอยู่รอดและเติบโตในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
***ปล่อยคนอื่นฟัดกัน Twitter หนีไปเทียบ WeChat
สำหรับ Twitter ซึ่งมีภาพความเป็นแพลตฟอร์มเด่นสำหรับข่าวด่วนและมีม การรีแบรนด์ Twitter ของ Elon Musk เป็น “X” นั้นกลับเบนเป้าหมายไปที่การสร้างสุดยอดแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้จะต้องเปิดทุกวัน คล้ายกับ WeChat ของจีนที่ครองตลาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนด้วยฟังก์ชันที่หลากหลาย ตั้งแต่การส่งข้อความ การชำระเงิน โซเชียลมีเดีย เกม ข่าว และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ได้วิเคราะห์ว่าการที่ Musk แสดงความสนใจในการสร้าง anything app นั้นจะนำไปสู่การดิ้นรนสุดขีดอย่างน้อย 4 ด้าน
หากต้องการเลียนแบบความสำเร็จของ WeChat จุดแรกที่ Twitter ต้องแก้ให้ได้คือประเด็นขนาดและฟังก์ชันการทำงาน ที่ผ่านมา ความสำเร็จของ WeChat มาจากความนิยมใช้งานและการให้บริการระบบการชำระเงินในช่วงแรก ซึ่งทำให้ WeChat เป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ชาวจีนจำนวนมาก ในทางตรงกันข้าม Twitter หรือ X ยังมีขนาดที่เล็กกว่ามาก และจำกัดฟังก์ชัน ทำให้ยังถูกมองว่าต้องทำการบ้านอีกมากกว่าจะเทียบชั้นกับบริการที่ครอบคลุมของ WeChat
จุดที่ 2 คือสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ หากมองที่เทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทที่อยู่เบื้องหลัง WeChat ได้พัฒนาแอปของตัวเองในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างไม่มีการควบคุม ซึ่งทำให้สามารถทดลองและประสบความสำเร็จด้วยหลายนวัตกรรม เช่น การเปิดเสรีให้ชำระเงินแบบข้ามค่าย ในทางตรงกันข้าม สภาพการกำกับดูแลในปัจจุบันของยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นมีข้อจำกัดสูงกว่า ไม่เอื้อให้บริษัทเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในหลายภาคส่วน และตัว Musk เองก็อาจถูกตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลเป็นพิเศษ
จุดที่ 3 คือความแตกต่างในพฤติกรรมของผู้ใช้ จีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากซึ่งไม่มีบัญชีธนาคาร เมื่อ WeChat เปิดตัว แอปได้กลายเป็นวิธีการชำระเงินที่ทุกคนต้องการอย่างรวดเร็ว แต่ในสหรัฐอเมริกา บุคคลที่ “ไม่มีบัญชีธนาคาร” มีจำนวนน้อยกว่า และบัตรเครดิตได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความต้องการแอปการชำระเงินอื่นเช่นแพลตฟอร์มที่ Musk อยากนำเสนอ
จุดที่ 4 คือความล้มเหลวในอดีต ตรงนี้ต้องอ้างถึงความพยายามครั้งก่อนหน้านี้ของ Musk ในการสร้างซูเปอร์สโตร์ทางการเงินกับ X.com ในปี 1999 ภาวะไม่ประสบความสำเร็จนำไปสู่การถูกรวมเข้ากับเพย์พาล (PayPal) ในที่สุด ดังนั้น Musk จึงอาจทำผิดพลาดซ้ำอีกโดยพยายามปลูกฝังบริการด้านการเงินไปยังธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้อง
แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่ต้องยอมรับว่าแนวคิดของ Musk ในการผสานรวมกลไกการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพเข้ากับเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อสร้างสุดยอดแอปนั้นไม่ใช่ไอเดียที่แย่ ซึ่งในเมื่อภาพความสำเร็จนั้นยังคงไม่แน่นอน เราจึงต้องจับตาดูการฟัดเหวี่ยงของคู่แข่ง Twitter และค่ายโซเชียลมีเดียทุกรายอย่างใกล้ชิด