มีเดียเทค (MediaTek) เผยเป้าหมายธุรกิจในไทยช่วงปีนี้-ปีหน้า ชี้คาดหวังเห็นชิป Dimensity Auto แพร่หลายทั้งในยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ชาร์จ เพราะไทยเป็นฐานปฏิบัติการยานยนต์ขนาดใหญ่ และรัฐบาลหนุนเทคโนโลยี EV เต็มที่ ระบุกำลังเร่งทำงานร่วมพาร์ตเนอร์รับกระแส WIFI7 ที่จะมาไทยปี 67 ล่าสุด วางนโยบายอาสาพร้อมช่วยบริษัทไทยพัฒนานวัตกรรมฮาร์ดแวร์บนชิป MediaTek ให้ง่ายขึ้น-วางตลาดได้เร็วขึ้น
นายชุนยัน ซี (Chunyan See) ผู้จัดการฝ่ายขายประจำประเทศไทย บริษัท MediaTek กล่าวอัปเดตถึงความร่วมมือในประเทศไทยของ MediaTek ว่าบริษัทมีเป้าหมายสร้างอีโคซิสเต็มทางธุรกิจที่แข็งแรงในประเทศไทย เบื้องต้น มองความคาดหวังหลักไว้ 3 ด้าน ซึ่งแม้จะยังไม่มีแผนพัฒนาสำนักงานหลักในไทยเพิ่มเติมจากการมีวิศวกรกว่า 500 รายที่ทำงานในสิงคโปร์ แต่หากบริษัทมีโอกาสสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งแล้ว MediaTek อาจจะพิจารณาจัดตั้งสำนักงานที่ประเทศไทยในอนาคต
"สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในประเทศไทย จุดประสงค์หลักคือแม้เราจะเห็นการใช้งานชิป Dimensity Auto แพร่หลายในสินค้ากลุ่มยานยนต์แน่นอนอยู่แล้ว แต่เราอยากเห็นการใช้ชิปในอุปกรณ์ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าด้วย เรื่องที่ 2 เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเครือข่ายข้อมูลไร้สาย WIFI 7 ที่จะมาในปีหน้า MediaTek ได้ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ ร่วมทดลองกับพาร์ตเนอร์ที่ใช้ชิปอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ เรื่องที่ 3 คือการช่วยให้บริษัทไทยสามารถพัฒนานวัตกรรมบนชิป MediaTek โดยที่ผ่านมาบริษัทไทยมีแนวโน้มเน้นพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่า และหลายรายมองว่าการพัฒนาฮาร์ดแวร์นั้นทำได้ยาก เชื่อว่านโยบายนี้ของ MediaTek จะทำให้กระบวนการพัฒนาง่ายขึ้น และจะช่วยให้บริษัทไทยวางตลาดสินค้าได้เร็วขึ้น"
MediaTek มีดีกรีเป็นบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์แฟบเลสระดับโลกซึ่งขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตอุปกรณ์ที่มีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตถึง 2 พันล้านเครื่องต่อปี ชิปของ MediaTek ถูกใช้ในอุปกรณ์มือถือทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมถึงโทรทัศน์ดิจิทัล ระบบ 5G อุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearables) รวมถึงอุปกรณ์ IoT เช่น กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ทั้งหมดนี้ MediaTek ยอมรับว่าเห็นแนวโน้มการใช้ชิปที่น่าตื่นเต้นในอุตสหากรรมหลากหลายตลอดช่วงยุคทองของโลกดิจิทัล ซึ่งทำให้ปัจจุบัน MediaTek มองตลาด non smartphone เป็นตลาดใหม่ที่น่าตื่นเต้น เพราะตลาดที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนนี้มีการใช้ชิป MediaTek มากขึ้นจนเห็นการเติบโตที่สูงกว่าตลาดโมบายแล้ว คาดว่าเทรนด์นี้จะมาแรงยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ไตรมาสนับจากนี้
นายฟินบาร์ มอยนิฮาน (Finbarr Moynihan) รองประธานกรรมการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท MediaTek กล่าวว่า MediaTek มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้ 18.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 โดยปัจจุบัน ธุรกิจมือถือนับเป็นที่มารายได้ 54% ของ MediaTek ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจสมาร์ทเอดจ์ 39% และ Power IC 7%
“ขณะที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฟื้นตัวจากโรคระบาด ก็เกิดปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดตลาดตามมา ด้วยเหตุนี้รายได้ของ MediaTek ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จึงแตะ 3.3 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 11% เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2565”
Finbarr ยกข้อมูล IDC เผยว่า MediaTek มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นซัปพลายเออร์ชิปเซ็ตมือถืออันดับหนึ่งในปี 2564 และ 2565 แม้ว่าเซมิคอนดักเตอร์จะขาดตลาดช่วงปี 2564 แต่ MediaTek สามารถคงส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ที่ 41-42%
มาร์เกตแชร์เหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางชิปหลายรุ่นที่ MediaTek เปิดตัว โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา MediaTek ได้เปิดตัว Dimensity 9200 จัดเป็นรุ่นเรือธงเจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างสูง เป็นประจักษ์ในส่วนแบ่งการตลาด Dimensity 8200 รุ่นพรีเมียมที่ประกาศเปิดตัวไปล่าสุดได้รับการตอบรับอย่างดีเช่นกัน Dimensity 7200 รุ่นไฮเอนด์ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานมานี้ โดยใช้เทคโนโลยี TSMC 4nm บนแกน Armv9 CPU MediaTek ยังได้นำคุณสมบัติจากรุ่นอัลตร้าพรีเมียมอย่างกล้องมาสู่อุปกรณ์รุ่นกลางๆ
“MediaTek เล็งเห็นว่าบรรดาบริษัทพะวงเรื่องรายจ่ายและการใช้พลังงาน MediaTek จึงเปลี่ยนไปใช้โซลูชันที่ใช้ ARM อย่างที่เชี่ยวชาญ MediaTek ยังเชี่ยวชาญในสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ที่บรรดาบริษัทหันไปใช้แทนเทคโนโลยีแบบเดิมๆ : Linux, Android, การเชื่อมต่อ การเปิดรับ 5G และ Wi-Fi, AI at the Edge, กล้องอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์วิทัศน์ MediaTek มีแพลตฟอร์ม IoT คือ Genio อันเปี่ยมประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และสามารถประมวลผลขั้นสูงได้จากเทคโนโลยีแกน ARM นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับแพลตฟอร์มเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อหนึ่งที่ MediaTek ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด” Finbarr กล่าว
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 5G ยังคงเป็นตลาดหลักของMediaTek โดยนายชินลิน โลว์ (Chinlin Low) ผู้จัดการฝ่าย Technical Account ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าชิป 5G ของ MediaTek มีพัฒนาการต่อเนื่องจนล่าสุดคือ Release 17 ซึ่ง MediaTek ได้เสนอแนวคิด 5G Redcap เพื่อนำเอาประโยชน์จาก 5G แห่งอนาคต มาปรับใช้เป็นสมาร์ทโฟน อุปกรณ์สวมศีรษะหรือแว่น AR อุปกรณ์รับส่งข้อมูลและความบันเทิง และอุปกรณ์ 5G IoT ดังนั้น 5G Redcap จะแสดงถึงแอปพลิเคชนที่ได้รับประโยชน์จากคุณสมบัติของ 5G เพื่อนำความหน่วงต่ำและการเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้มาสู่ผู้ใช้งานล่าสุดMediaTek ได้ผสานรวม APU เข้ากับโปรเซสเซอร์ AI ในโมเด็ม 5G เพื่อให้ตอบสนองอย่างทันท่วงที ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น และเป็นโปรเซสเซอร์เดี่ยว
"APU จะไม่ลดทอนประสิทธิภาพ CPU และ GPU" Chinlin ย้ำ
สำหรับตลาดยานยนต์ MediaTek ได้เปิดตัว MediaTek Dimensity Auto เมื่อพฤษภาคม 2566 ที่เซี่ยงไฮ้ (งาน Auto Show 2023)จุดเด่นของชิปดังกล่าวคือการใช้เทคโนโลยี 3 นาโนเมตร และมี CPU และ GPU ล่าสุด มี 5G-NTN และ Wi-Fi 7 ครบถ้วน และที่งาน Computex บริษัทได้ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับเอ็นวิเดีย (NVIDIA) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ระบบ AI ขั้นสูง มีความสามารถในการเชื่อมต่อ และระบบคอมพิวติ้งสำหรับห้องโดยสารอัจฉริยะในอนาคต
"ประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการยานยนต์ขนาดใหญ่ และรัฐบาลยังสนับสนุนเทคโนโลยี EV ดังนั้น Dimensity Auto พร้อมด้วย Wi-Fi 7 จะมอบประสบการณ์การใช้ยานยนต์ชั้นยอด" Chunyan ทิ้งท้าย “MediaTek จะนำ Wi-Fi 7 SoC เข้าสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอนด้วยความเร็วแรงที่ 15.8 กิกะบิตต่อวินาที ตอกย้ำฐานะผู้นำตลาดชิปเซ็ต Wi-Fi ผู้ให้บริการไทยตอบรับอย่างล้นหลามในบริการบรอดแบนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Wi-Fi 6”
หากมองที่ประเทศไทย MediaTek เชื่อว่า Genio จะสามารถครองตลาดอุปกรณ์อัจฉริยะ 3 ด้าน คือ สุขภาพหรือสมาร์ทฟิตเนส บ้านหรือสมาร์ทโฮม และค้าปลีกหรือสมาร์ทรีเทล ขณะที่ส่วน IoT ผู้บริหาร MediaTek ย้ำว่าได้เจรจาทางธุรกิจกับบริษัทฟินเทคสัญชาติไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม Edge AI ของ MediaTek อย่าง NeuroPilot ถูกคาดหวังว่าจะช่วยให้การปรับแต่งเพื่อให้เข้ากับ Use case หลากหลาย เป็นเรื่องง่ายดายสำหรับนักพัฒนาชาวไทยบางส่วน ซึ่งนับจากนี้ MediaTek จะมุ่งเข้าไปมีส่วนร่วมกับบริษัทสัญชาติไทย เพื่อพัฒนาและฝึกฝนนักพัฒนาให้ใช้ชิปเซ็ต MediaTek สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทไทยต่อไป