สภาดิจิทัลฯ ร่วมเวทีการประชุมเครือข่ายนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SVCA Conference 2023 โดยมีนักลงทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัปเข้าร่วมฟังกว่า 200 คน พร้อมชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยอีกด้วย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้แบ่งปันมุมมองบนเวที SVCA Conference 2023 โดยระบุว่า โลกปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงหลายขั้วในภูมิทัศน์โลก 2) ความเหลื่อมล้ำและความมั่นคงทางอาหาร 3) ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 4) การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลด้วย AI, IOT ผู้นำด้านนวัตกรรมและผู้ประกอบการรายใหม่ 5) พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนสู่อีคอมเมิร์ซ ประกอบด้วย C2C, Metaverse และ Social Media และ 6) สังคมสูงวัย และการดูแลสุขภาพ
ทั้งนี้ ประธานสภาดิจิทัลฯ ได้กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายในระดับโลกได้ คือ การทรานส์ฟอร์มประเทศไทย ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 5.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล มีพันธกิจยุทธศาสตร์สำคัญใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2) การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3) การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล 4) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ 5) การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค รวมทั้งการขับเคลื่อนด้านสังคมและวัฒนธรรมดิจิทัลของประเทศชาติ
ปัจจุบัน สภาดิจิทัลฯ มีความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในด้านการลงทุนและกำลังคนในมิติอื่นๆ อย่างมาตรการยกเว้นภาษี หรือ Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัปไทย ภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้สตาร์ทอัปไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งภาษีเงินได้ 17% สำหรับชาวต่างชาติทักษะสูงเมื่อทำงานในไทย
ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นใหม่สำหรับ Startup และ SME ภายใต้ชื่อ LIVE EXCHANGE และสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับค่าการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะลูกจ้าง และการจ้างงานสายเทคโนโลยี เป็นต้น ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมผลักดันให้เกิดนโยบาย และมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน จุดแข็งของประเทศไทยที่มีความได้เปรียบในการเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการลงทุน เพราะมีตลาดหุ้นที่เข้มแข็ง (Capital Market) บ่งชี้ได้จากในปี 2565 มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในอาเซียน และยังเป็นประเทศที่มีการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นออกใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ Initial Public Offering (IPO) ได้สูงสุดในอาเซียน โดยมีมูลค่ารวมถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์ จากการระดมทุน IPOs 42 ครั้งในปี 2565
นอกจากนั้น ยังมีการขับเคลื่อนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ใน Top-10 ด้านการเป็น EV hub ที่มีประสิทธิภาพของโลก 2) การเป็นฮับของอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในภูมิภาคอาเซียน (New Smart Electronic Hub) 3) การมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางการแพทย์ (Medical Hub) 4) ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร (Agriculture and Food) อย่างแข็งแกร่ง รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับกลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMV) จีน และอินเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
“สิงคโปร์และไทยต่างเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว ปัจจุบันสิงคโปร์มีสตาร์ทอัปกว่า 50,000 ราย ขณะที่ประเทศไทยมีสตาร์ทอัปค่อนข้างน้อย คือมีประมาณ 1,000 รายเท่านั้น สตาร์ทอัปไทยมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ราย หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนที่เหมาะสม และเมื่อนั้น VC จะเข้าลงทุนในสตาร์ทอัปไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งพลังที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง”