นายกรัฐมนตรี พอใจสถานการณ์ลงทุนอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุนใหม่ ยอดขอบีโอไอทั้งไทยต่างชาติโตสูง ตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อนโยบายที่รัฐบาลได้วางฐานไว้
วันนี้ (24 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมโดยต่อเนื่อง เพื่อทราบถึงประสิทธิผลของนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการเติบโตที่รวดเร็ว เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมใหม่ เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม, การบินโลจิสติกส์, ชีวภาพ, ดิจิทัล และต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ท่องเที่ยวเชิงสุภาพ, เกษตรชีวภาพ, แปรรูปอาหาร
ในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลโดยหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์สถานการณ์การแข่งขันระหว่างประเทศ แนวโน้มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทั่วโลกเพื่อกำหนดเป็นชุดนโยบายส่งเสริมทั้งที่เป็นมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รายงานข้อมูลให้นายกรัฐมนตรีรับทราบผลของนโยบายเป็นระยะ
“นายกรัฐมนตรีพอใจต่อสถานการณ์ในภาพรวม ที่ตอนนี้ทั้งไทยและต่างชาติสนใจการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือ New S-Curve ทำให้อุตสาหกรรมไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ขณะที่ตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นการย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่รัฐบาลวางพื้นฐานไว้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานบีโอไอ ได้เปิดเผยถึงสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาส 1/66 (ม.ค.- มี.ค.) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 มูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 77
ในจำนวนข้างต้นเป็นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 205 โครงการ มูลค่ารวม 154,414 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หากแยกตามกลุ่มนักลงทุนแล้ว พบว่า เป็นคำขอรับการส่งเสริมของต่างชาติ 211 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เงินลงทุน 155,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 โดยชาติที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี 31,400 ล้านบาท สิงคโปร์ 29,742 ล้านบาท จีน 25,001 ล้านบาท และ ญี่ปุ่น 24,771 ล้านบาท โดยจะเห็นว่า มูลค่าการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลี และสิงคโปร์ สูงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโครงการใหญ่ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ แต่ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กล่าวคือเพิ่มขึ้นร้อยละ 87 สำหรับการลงทุนจากจีน และร้อยละ 147 สำหรับญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเลือกไทยเป็นฐานผลิตสำคัญ