ผ่าเบื้องลึก ECT Report ระบบรายงานผลเลือกตั้ง 2566 ของ กกต. ที่ถูกเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 18.30 น.ของวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 อย่างรวดเร็วตลอดเวลาข้ามคืน โดยสามารถรอดพ้นจากการแฮก-พิษระบบล่มได้อย่างสวยงาม ล่าสุด โชว์ผลคะแนนรวม 99% ได้ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง
กกต. หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นประกาศตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ 2566 ว่าจะรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านเว็บไซต์ ectreport.com โดยเรียกรวมว่าระบบ ECT Report พร้อมกับการันตีว่าประชาชนจะได้เห็นคะแนนแรกเมื่อกรรมการนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) นับคะแนนเสร็จ
กกต. ระบุว่า คะแนนของหน่วยแรกได้ถูกกรอกลงในระบบ ECT Report และคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ จะทยอยนำเข้าระบบ ECT Report อย่างต่อเนื่องทุก 10-30 นาที ทำให้ช่วงเวลาไม่เกิน 22.00 น. ระบบสามารถรายงานผลการนับคะแนนได้เกิน 90%
***ทำไมไม่ใช้แอปพลิเคชัน
เหตุผลที่ กกต. อธิบายว่าทำไมเว็บไซต์จึงถูกเลือกเป็นช่องทางประกาศผลคะแนนแทนที่จะเป็นแอปพลิเคชัน คือบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา กกต. ระบุว่าบทเรียนนี้ทำให้ทราบถึงข้อจำกัดในการรายงานผลคะแนนว่าไม่ได้เกิดจากแอปพลิเคชัน แต่เกิดจากการกรอกคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งที่มีอยู่ประมาณ 92,000 หน่วย หน่วยละไม่น้อยกว่า 70 ข้อมูล ดังนั้น ระบบ ECT Report จึงเหมาะสมมากกว่าแอปพลิเคชัน ทำให้การรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด
จุดขายของระบบ ECT Report คือเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการกรอกคะแนนที่มีสาเหตุมาจาก 3 เรื่องหลัก คือ 1.ความล้าจากการทำงานอย่างต่อเนื่องของกรรมการนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งต้องทำงานโดยไม่มีเวลาหยุดพัก ประมาณ 15-18 ชั่วโมง เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อรับอุปกรณ์และเตรียมหน่วยเลือกตั้ง อีกทั้งยังต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดำเนินการนับคะแนนส่งมอบอุปกรณ์การเลือกตั้งและผลคะแนน ประกอบกับต้องทำงานภายใต้แรงกดดันตามสภาพของการแข่งขันทางการเมืองในแต่ละพื้นที่
2.การเลือกตั้งเป็นระบบบัตร 2 ใบ ด้วยสาเหตุตามข้อ 1. มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการกรอกคะแนนได้ และ 3.จำนวนพรรคการเมืองหรือผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีเป็นจำนวนมาก ชื่อพรรคการเมืองที่มีลักษณะชื่อพ้องกัน คล้ายกันเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการกรอกคะแนนได้
***บิ๊กดาต้าสู่แดชบอร์ด
ฟันเฟืองหลักที่ทำให้ ECT Report สามารถรายงานผลคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เป็นทางการได้นั้นมีหลายส่วน แต่มีการอ้างถึงสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ที่จะเชื่อมโยงระบบรายงานผล การเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ (Database) และนำผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ในแต่ละช่วงเวลาไปจัดทำสรุปผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ Dashboard ให้มีรูปแบบสวยงามและเข้าใจง่าย
ตรงนี้ กกต. เปิดให้สื่อมวลชนติดตามผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ ได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย เว็บไซต์รายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. ศูนย์แถลงข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเป็นไฟล์ CSV ผ่านทาง Google Share Drive เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนได้รับทราบถ้วนหน้า
ทั้งหมดนี้ กกต. ย้ำว่าเว็บไซต์ Ect Report สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการชี้แจงเพื่อหักล้างข่าวเท็จเรื่องเว็บไซต์ล่ม ที่ถูกเผยแพร่บนโซเชียลในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังปิดหีบ
การไม่ล่มและไม่ถูกแฮกของ Ect Report ถือเป็นก้าวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ประกาศข่าวโครงการทดสอบแห่งชาติสำหรับเทคโนโลยีการเลือกตั้งที่จะเปิดตัวในปลายปีนี้ โดยมีการตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อจัดทำโครงการทดสอบชุดแรกสำหรับเทคโนโลยีการเลือกตั้ง เช่น ฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เว็บไซต์รายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ และแบบสำรวจความคิดเห็นอิเล็กทรอนิกส์
โครงการทดสอบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 ซึ่งหมายความว่าเทคโนโลยีการเลือกตั้งในอนาคตจะมีพัฒนาการมากกว่านี้อีกแน่นอน