ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย "ศุภชัย เจียรวนนท์” ประกาศ 7 ข้อเสนอนโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทยถึงรัฐบาลชุดใหม่ ยอมรับข้อเสนออาจไม่เกิดทั้งหมดแต่ขอเลือกให้แผน “แจกคอมพิวเตอร์เยาวชน” เกิดเป็นอย่างน้อย มั่นใจจะเป็นกลไกตลาดใหม่ที่เปลี่ยนประเทศได้หากมีการเชื่อมคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี ระบุผู้ใหญ่มีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือทำงาน แต่ทำไมไม่ให้เด็กมีเครื่องมือนั้นบ้าง?
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน "สภาดิจิทัลกับโจทย์ใหญ่ไทยแลนด์ 5.0 เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ว่าเป็นหน้าที่ของสภาที่จะแสดงสิ่งที่สภาให้ความสำคัญและเชื่อมั่นว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ประเทศไทยตอบโจทย์ในยุคแห่งข้อมูลได้ โดย 1 ใน 7 ข้อเสนอจากสภาดิจิทัลคือ การสนับสนุนผลักดันให้เยาวชนไทย 7 ล้านคนมีคอมพิวเตอร์ที่มีการคัดกรองเนื้อหาที่ดี เพื่อให้เข้าถึงการค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรม รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เยาวชนไทยมีอุปกรณ์ท่องโลกและเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้เท่าเทียม นำไปสู่การเข้าถึงแรงบันดาลใจและเกิดความรู้ที่จะลดความเหลื่อมล้ำได้
“ไม่จำเป็นต้องมอบให้เลย แต่เป็นทรัพย์สินโรงเรียนที่มอบให้เด็กใช้ เด็กควรมีคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ท่องโลก เด็กบนภูเขาจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้เหมือนกัน จะสามารถเข้าถึงแรงบันดาลใจและจินตนาการได้” ศุภชัยคำนวณ "เครื่องหนึ่งต้องมี 100-120 เหรียญ วันนี้มีเยาวชน 7 ล้านคน หากได้รับคนละเครื่องจะตก 700 ล้านเหรียญ คิดเป็นงบประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นไปได้เมื่อเทียบกับงบประมาณของกระทรวงการศึกษาธิการ แต่ต้องสอนเรื่องคุณธรรมด้วย"
***ดิจิทัลไปไกลเท่าไหร่ ไทยต้องเน้นเรื่องคุณธรรมมากขึ้นเท่านั้น
ศุภชัย เชื่อว่าการที่เด็กไทยทุกคนมีคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและคุณธรรมการใช้เทคโนโลยี จะทำให้เยาวชนไทยได้เห็นว่าโลกเป็นอย่างไร โดยที่ผ่านมา ผู้ใหญ่มีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือเมื่อทำงาน จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะเปิดให้เด็กมีเครื่องมือนั้นบ้างหากไทยต้องการเปลี่ยนประเทศ โดยยกตัวอย่างว่าคอมพิวเตอร์จะทำให้เด็กไทยสามารถเรียนภาษาอังกฤษอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องจ้างครูจากต่างประเทศเป็นงบประมาณหลักแสน แต่เด็กจะสามารถเรียนรู้ภาษาผ่านการดูคลิปแล้วเขียนเรียงความตามที่ครูมอบหมาย เด็กจะได้รับทั้งความสนุก เสียงสำเนียงจากเจ้าของภาษา คำศัพท์ และการนำเสนอ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องสอนด้านจริยธรรมและมีการป้องกันอย่างเหมาะสม
"การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่เกิดกับคนยุค 2.0 เพราะคนยุคนั้นมองว่าการเรียนเป็นการบ้านที่ต้องทำให้เสร็จ ไม่เหมือนอาหาร 3 มื้อที่ต้องรับประทานทุกวัน แนวทางปฏิรูปการศึกษาไทยนั้นเป็นไปได้หมด แต่ต้องให้เด็กมีเครื่องมือ เด็กจะเรียนรู้ได้มหาศาลผ่านอุปกรณ์ และการนั่งทำงานวิจัยศึกษาค้นคว้าย่อมทำไม่ได้ผ่านสมาร์ทโฟน ที่จะทำได้แค่คลิปวิดีโอแบบสั้นเท่านั้น"
ข้อเรียกร้องเรื่องการแจกคอมพิวเตอร์เด็กไทยของศุภชัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเสนอแรกจาก 7 ข้อที่สภาดิจิทัลเลือกแถลงในช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 2566 โดย 7 ข้อเสนอประกอบด้วย 1.การให้ภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาหลักในการศึกษาไทย โดยที่เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ดีและมีคุณธรรมการใช้เทคโนโลยี 2.การสอดแทรกคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ โดยควรมีทุนหรือรางวัล INCENTIVE เพื่อระดมสมองคนทำคอนเทนต์ไทยให้ร่วมสร้างซอฟต์เพาเวอร์ที่เปลี่ยนประเทศได้ จุดนี้ศุภชัย ย้ำว่าอิทธิพลของสื่อนั้นมีมหาศาล เชื่อว่าเนื้อหานี้จะสามารถเปลี่ยนประเทศได้ทั้งในกลุ่มสูงวัย คนทำงาน และเยาวชน โดยอาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยอยากเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ด้วย
3.การสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยี 20,000 บริษัท ที่จะช่วยเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล 1 ล้านคน 4.ยกระดับการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อสร้าง 3,000-5,000 องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน 5.0 5.ดึงดูดคนเก่งและดีเข้าสู่ราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือน เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน เพื่อรองรับการพัฒนาสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-GOVERNMENT ที่ข้าราชการจะมีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% 6.สร้าง 5 ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกในด้านชีวภาพ พลังงานและนาโนเทคโนโลยี หุ่นยนต์และดิจิทัล อวกาศ และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และ 7.ต่อยอดผู้ประกอบการไทยด้วยโครงสร้างการขับเคลื่อนระดับชาติ
“จะทำให้สินค้าเกษตรของไทยเป็นสินค้าที่ทั่วโลกยอมรับได้อย่างไร? คือเราต้องหาองค์กรที่จะสะสมแหล่งความรู้ ทำให้เกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้น เป็นแลนด์ลอร์ดให้ลูกหลานมาทำสิ่งที่อุตสาหกรรมสนใจ” ศุภชัยกล่าว “ส่วนข้าราชการระดับรองอธิบดีขึ้นไป 800 คน ถ้าปรับเงินเดือนจะสร้างความเพียงพอและพอเพียง คนกลุ่มนี้จะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้พ่อแม่ และจะทำตามบทบาทที่ควรทำกับประเทศ ขณะเดียวกัน ข้าราชการเลือดใหม่ 20% ควรจะมีทักษะดิจิทัลเพื่อช่วยพัฒนากระทรวง ซึ่งไม่ทราบว่าจะเริ่มได้ที่กระทรวงไหนก่อน”
ในส่วนการสร้าง 5 ศูนย์นวัตกรรม 5 ด้าน ศุภชัยชี้ว่าควรเป็นศูนย์ที่รวมอุปกรณ์ และนักค้นคว้าทั้งไทยเทศมาร่วมกัน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลัก ซึ่งหากรัฐบาลให้ทุนจะทำให้เกิดศูนย์วิจัยจริงจังที่จะส่งให้ไทยขึ้นสู่ระดับท็อปของภูมิภาคแน่นอน
“ถ้าไม่มี INCENTIVE เราจะเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมของบุคลากรไม่ได้ การให้รางวัลจะทำให้เกิดความพยายาม การให้สติกเกอร์ในเด็กก็เป็น INCENTIVE ที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”
***ต้องเริ่มจากผู้นำ
ศุภชัยเชื่อว่าทั้งหมด 7 ข้อนี้จะขับเคลื่อนได้เมื่อมีโครงสร้างพิเศษ โดยต้องมีกรรมการระดับชาติที่บูรณาการหลายกระทรวง มีการรวมตัวแทนเอกชน สภา ซึ่งเมื่อทุกกระทรวงให้การสนับสนุน จะทำให้ไทยขับเคลื่อนได้ เช่นเดียวกับบางนโยบายที่รัฐบาลทำไว้ดีแล้ว ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และรถพลังงานไฟฟ้า
“ที่ต้องการที่สุด จากประสบการณ์ผมคือต้องเริ่มจากผู้นำ เราทำล่วงหน้า ไม่ต้องรอให้ตลาดโลกมาบีบเรา ซึ่งโลกจะบีบอยู่แล้ว แต่หลายอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับผู้นำ ยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ ยังต้องมีกรรมการระดับชาติ หากมีกรรมการระดับชาติมาขับเคลื่อนก็จะช่วยท่านนายกฯ ได้มาก ท่ามกลางงานที่ต้องโฟกัสมากมาย จะทำเร็วได้ขึ้น และช่วยกลั่นกรองได้ ส่วนภาคเอกชนแม้จะยังต้องแข่งขันกันเอง แต่การริเริ่มจะต้องอาศัยอำนาจรัฐ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ที่ควรทำให้มีการกระจายไปที่ยุทธศาสตร์”
ที่สุดแล้ว ศุภชัยยอมรับว่าข้อเสนอแนะเหล่านี้อาจไม่สามารถแก้ทั้งหมดใน 3 ปี แต่สิ่งที่ทำได้คือการจัดอันดับความสำคัญ โดยหากทำได้ รัฐบาลใหม่ควรทำระบบนิเวศให้เสร็จใน 3 ปี ซึ่งหากมองในกรณีแลวร้ายที่สุดที่รัฐบาลใหม่ไม่อาจสื่อสารหรือสร้างสะพานเชื่อม หรืออาจหลงลืมการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยไป เชื่อว่าเอกชนไทยจะยังไปได้ต่อในยุคประเทศไทย 6.0
"ถ้าไม่มีเราก็ไปได้ แต่ถ้ามีส่วนที่เชื่อมจะไปได้เร็วขึ้น”
ศุภชัยเชื่อว่าทั้ง 7 ข้อเสนอจะตอบความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญในวันนี้ ซึ่งไม่ต่างจากความท้าทายระดับโลก ทั้งด้านความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงแหล่งทุน การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภาวะโลกแบ่งขั้ว
"โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนที่รวมถึงประเด็นซิเคียวริตี สภาพอากาศร้อนสุดขีดแล้งสุดขั้วที่กระทบโลกอย่างมหาศาล ยังมีระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องรอลุ้นว่าจะทำให้อาชีพใดหายไป หรือแม้แต่ด้านสุขภาพและการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยที่ทั่วโลกเผชิญอยู่” ศุภชัยมอง “แต่เทคโนโลยีใหม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น AI สามารถเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้เล่นหมากรุกไม่เป็น ได้ศึกษาและใช้ AI เล่นหมากรุกได้”
สำหรับการเติบโตอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยที่ยังคงเป็นเลขหลักเดียว ศุภชัยเชื่อว่าภาพรวมการเติบโตอีคอมเมิร์ซไทยจะสูงขึ้นต่อเนื่องโดยไม่มีทางหดตัว เชื่อว่าจะมีระดับไม่ต่ำกว่า 50% แต่จะไม่ถึง 100% เนื่องจากมีส่วนที่ผู้คนจะเดินทางไปจับจ่ายด้วยตัวเอง
ในประเด็น GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ศุภชัยมองว่าตัวเลขของไทยแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน และไม่ใช่เรื่องที่จะสบายใจได้ นอกจากนี้ ตัวเลขอันดับการแข่งขันในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยที่องค์กรสวิส IMD จัดให้อยู่อันดับที่ 26 และอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่อันดับที่ 40 นั้นตอกย้ำว่าประเทศไทยขาดบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลและทักษะภาษาที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ตัวเลขการลงทุนในไทยค่อนข้างต่ำ
"เรากำลังพูดถึงจำนวนประชากรที่เป็นกลุ่มแรงงาน 65 ล้านคน วันนี้ทักษะดิจิทัลระดับพื้นฐานเรามี 10% คือราว 5.5 ล้านคน และขั้นสูงมีเพียง 1% ถ้าต้องการจะเพิ่มระดับขั้นสูงที่เขียนซอฟต์แวร์และสร้าง AI ให้ได้อีก 1% เราจะต้องการคนอีกประมาณ 5 แสนคน การจะโตไปถึงระดับล้านคนไม่ใช่ทำไม่ได้"