บลูบิคมองธุรกิจที่ปรึกษาดิจิทัลไทยปี 66 “เหนื่อยเหมือนทุกปี” เพราะตั้งเป้าสูง ล่าสุดปรับเป้าอัตราเติบโตผลประกอบการปี 66 จากที่ประเมิน 100% เป็น 120% ต่อปี วางแผนยิงยาวโตเบาๆ 4 เท่าใน 3 ปี มั่นใจตลาดบวกเพราะเทรนด์โลกดันองค์กรไทยลงทุน 5 ด้านเพื่ออยู่รอดอย่างยิ่งใหญ่ในโลกใหม่ที่ “ดิจิทัลมาก่อน” หนึ่งในนั้นคือการลงทุนซิเคียวริตี ที่คาดว่าจะมีโมเมนตัมสูงสุดในตลาดไทยปีนี้
นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวถึงโอกาสทางธุรกิจในตลาดไทยช่วงปี 2566 ว่า การสร้างความน่าเชื่อถือและเกราะป้องกันภัยทางไซเบอร์ คือพื้นที่ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงสุดในไทย โดยไซเบอร์ซิเคียวริตีคือ 1 ใน 5 ความสามารถหรือ Capability สำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทที่จะเป็น “Digital-First Company” ซึ่งสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้ในวันที่โลกเปลี่ยนไป
"ตอนนี้ Capability ที่ใกล้ตัวที่สุดคือไซเบอร์ซิเคียวริตี เพราะข้อมูลที่มากขึ้นนำมาสู่ความเสี่ยงที่มากขึ้น วันนี้โจรไม่ดักปล้นตามซอยเปลี่ยว แต่ทำแรนซัมแวร์ และมีบริการรับจ้างโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ มีการขายข้อมูล เชื่อว่าตลาดนี้จะขยายตัวสูงมาก” พชร กล่าว "Capability อื่นไม่ได้หายไปในปีนี้ แต่ในช่วงเวลาต่างกันนั้นมีไฮไลต์ที่ไม่เหมือนกัน ปีนี้ เรื่องบล็อกเชนอาจจะเห็นการลงทุนลดลงตามกระแสชะลอตัวของคริปโตฯ ทั้งที่บล็อกเชน และคริปโตฯ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และแม้ตอนนี้จะน้อยลง แต่เชื่อว่าจะไม่น้อยลงตลอดไป"
พชร กล่าวว่า โซลูชันที่จะทำให้ธุรกิจต่อสู้ได้ในโลกอนาคตที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น และการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น คือ ธุรกิจจะต้องปรับตัว ให้ทันกับโลกที่ให้ความสำคัญกับดิจิทัลมากกว่าโลกในอดีตที่เป็นแอนะล็อก โดยบลูบิคมองว่า 5 Capability สำคัญในการขับเคลื่อน “Digital-First Company” ที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบนิเวศทางธุรกิจได้ในปีนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย 1.การพัฒนา Super App ที่สามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้จริง รวมถึงการเป็นช่องทางสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจได้ โดยบลูบิคย้ำว่าองค์กรควรไม่มองการลงทุนในแอปพลิเคชันว่ามีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะวันนี้หลายองค์กรกำลังลงทุนแอปเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
2.การใช้เทคโนโลยีขั้นกว่าของปัญญาประดิษฐ์ หรือ Augmented Intelligence อย่างมีประสิทธิภาพ โดย AI ที่เห็นในปัจจุบัน ไม่ใช่การลดงานของมนุษย์ แต่เป็นการเอาความสามารถของ AI มาทำงานร่วมกับความสามารถของมนุษย์ 3.สร้างความน่าเชื่อถือและเกราะป้องกันภัยทางไซเบอร์ หรือ Digital Immunity and Trust ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งให้องค์กร เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการโจมตีทางไซเบอร์ พร้อมสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กร
4.เทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน หรือ Sustainability Technology จุดนี้บลูบิคชี้ว่าการผลักดันการทำ ESG ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนในทุกแง่มุม เช่น การย้ายข้อมูลขึ้นระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยลดการใช้กระดาษจำนวนมหาศาล การเพิ่มช่องทางการสื่อสารและพื้นที่บนโลกออนไลน์ให้ชุมชน/สังคม และการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจด้วยด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
และ 5.Agile Operations แนวคิดการทำงานสำหรับองค์กรยุคใหม่ที่ใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกธุรกิจ ทำให้องค์กรสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัวกว่าเดิม อีกทั้งช่วยให้รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและบรรลุเป้าหมายการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้อย่างราบรื่น
บลูบิคไม่ได้กระตุ้นองค์กรไทยให้ลงทุน 5 ด้านนี้เท่านั้น แต่การมองเห็นทรนด์ธุรกิจทำให้บลูบิควางแผนกลยุทธ์ “Growth at Scale” ที่เน้นเติบโตบนการขยายตัว โดยนอกจากอาสาช่วยองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแบบต่อเนื่อง ซึ่งบลูบิคย้ำว่าจะเร่งผสานการทำงานร่วมกันระหว่างบลูบิคและบริษัทในเครือ เพื่อให้บริการครบวงจรมากขึ้นและครอบคลุมทั้งลูกค้าขนาดกลางและใหญ่ โดยสามารถรับงานขนาดมูลค่าหลักหลายร้อยล้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่ผ่านมา บลูบิคได้ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ ที่ปัจจุบันได้อนุมัติจัดตั้งบริษัทในประเทศเวียดนาม ฮ่องกง อังกฤษ และอินเดีย และกำลังศึกษาโอกาสทางธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศของบริษัทเป็น 15% จากปัจจุบัน 10%
สำหรับรายได้รวม บลูบิคสามารถทำเงินจากหลายทางได้มากกว่า 700 ล้านบาทในปี 2565 บริษัทคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวใน 3 ปี บนงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งการลงทุนภายในองค์กร การสร้างซอฟต์แวร์ รวมถึงทำการวิจัยและพัฒนา ปัจจุบัน ธุรกิจหลักของบริษัทยังเป็นงานที่ปรึกษา ซึ่งมีจุดแข็งเรื่องการได้รับตำแหน่งเป็นบริษัทไทยรายเดียวที่แข่งขันกับบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติได้ เนื่องจากมีขีดความสามารถครบ และปัจจุบันมีการขยายไปที่หลายแพลตฟอร์มและอีกหลายธุรกิจ
"เราจะไม่เป็นแค่เวนเดอร์ เพราะจะเป็นพาร์ตเนอร์ โดยเฉพาะพันธมิตรร่วมทุนที่เชื่อว่าจะมีการเพิ่มขึ้นได้อีก” พชรกล่าว “เราแตกต่างเพราะไม่แค่ให้คำปรึกษา แต่เข้ามาช่วยพัฒนา เราสามารถพัฒนาซูเปอร์แอปที่งบลงทุนต้องสูงเป็นหลัก 100 ล้านขึ้นไป การสร้างซูเปอร์แอปไม่เหมือนสร้างบ้าน แต่เหมือนสร้างตึกที่มีโครงสร้างแปลกและซับซ้อน เราไม่ทำแค่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันง่ายๆ แต่เน้นทำดิจิทัลที่ลึกซึ้ง ทำหมดทั้ง ERP, CRM และซิเคียวริตี เราพร้อมที่จะทำทุกอย่าง คู่กับการร่วมทุนใหม่ที่จะยิ่งเพิ่มศักยภาพ"
พชร ยอมรับว่า ความเสี่ยงทางธุรกิจของบลูบิคจากเทรนด์ที่เห็นมี 3 ส่วน ส่วนแรกคือเศรษฐกิจฝืดเคือง เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม แม้ระบบเศรษฐกิจของโลกจะเชื่อมกัน แต่ไทยยังมีปัจจัยบวก ทั้งการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและมีการลงทุนเพิ่ม คาดว่าปัจจัยบวกเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยไม่ซบเซามากนัก ส่วนที่ 2 คือบุคลากรที่มีจำกัด จุดนี้บลูบิคมองว่าการควบรวมกิจการทำให้เพิ่มบุคลากรได้ รวมถึงการลงทุนที่อินเดียและเวียดนามที่ยังสร้างโอกาสในการจ้างงานและทำกำไรไปพร้อมกัน ส่วนที่ 3 คือการแข่งขัน ซึ่งบลูบิคเห็นหลายบริษัทขยายลักษณะงานให้กว้างขึ้น ทำให้พบการแข่งขันเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
"วิสัยทัศน์ธุรกิจ 5 ปีจากนี้เราจะเน้นโตในขนาดที่ใหญ่ขึ้น ปัจจัยบวกคือสิทธิประโยชน์ BOI และการลดค่าใช้จ่ายจากการควบรวม เชื่อว่าโอกาสโตจะเยอะมาก" พชรสรุป "ในระยะสั้น โอกาสเติบโตของเราคือการร่วมมือกับบริษัทระดับโลก ทั้งไมโครซอฟท์ กูเกิลคลาวด์ และเซลฟอร์ซ ปัจจุบันเราได้รับการสนับสนุนมากขึ้นอย่างชัดเจน ยังมีอีกหลายบริษัท เชื่อว่าในระยะกลางจะสามารถขยายในเซกเมนต์ใหม่ ทั้งกลุ่มบริษัทระดับกลางที่มากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตอนนี้เราสำรวจตลาดอเมริกา ซึ่งแม้จะมีการเลย์ออฟจำนวนมาก แต่จะเป็นโอกาสเพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เชื่อว่าต้องมีวงจรกลับมาแน่นอน เลย์ออฟแล้วก็ต้องกลับมาจ้างใหม่ ซึ่งระหว่างนี้องค์กรในสหรัฐฯ ยังต้องการความช่วยเหลือจากบริษัทภายนอก และเรามีความสามารถ เชื่อว่าจะเข้าไปได้ ขณะเดียวกัน มีโอกาสขยายไปร่วมทุน ทั้งเรื่องความยั่งยืน บิ๊กดาต้า เป็นการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ด้วย"
สำหรับ Tech Company ที่บลูบิคเพิ่งเทเงิน 1,000 ล้านบาทซื้อมาเมื่อปี 2565 คือ บริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด (Innoviz) และบริษัท วัลแคน ดิจิทัล เดลิเวอรี่ จำกัด (VDD) ซึ่งเดิมเป็นหน่วยธุรกิจที่มีอัตรามาร์จิ้นสูงที่สุดของ MFEC จนบลูบิคได้เข้าซื้อและเปลี่ยนชื่อเป็น VDD เมื่อปลายกุมภาพันธ์ 2566 ล่าสุด การปิดดีลควบรวมกิจการ VDD และ Innoviz ที่เสร็จสิ้น ทำให้บลูบิคสามารถบันทึกรายได้และกำไรของทั้ง 2 บริษัทได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/66