หลังอึมครึมหลายปีว่าจะเดินหน้าธุรกิจอย่างไร วันนี้ ‘ไทยคม’ อนาคตสดใส จากสัญญาณบวกตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ 78.5 และ 119.5 องศาตะวันออก อายุใบอนุญาต 20 ปี ที่ประมูลได้มาจาก กสทช. ทำให้สามารถยิงดาวเทียมกี่ดวงก็ได้ตามที่ต้องการ บนวิถีธุรกิจที่มุ่ง 3 ทิศทางคือ ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GEO) ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) และธุรกิจเกี่ยวกับ space technology พร้อมปักธงไทยคมเป็นมากกว่าแค่ satellite operator
‘ดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า หรือ Geostationary Earth Orbit Satellite (GEO) ยังมีอนาคต ดูจากทั่วโลกคนก็ยังยิง GEO โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่เมื่อดูต้นทุนต่อหน่วยมันดีมากๆ การที่เราไปใช้ LEO ข้อเสียมันคือแพงเพราะเป็นการให้บริการทั่วโลก ถ้าคุณใช้ทั่วโลกอย่างเครื่องบินคุณก็จ่ายได้ แต่ถ้าอยู่กับที่จะจ่ายแพงไปทำไม เพราะมีของถูกและประสิทธิภาพเหมือนกัน เรามองว่า LEO เป็นการเสริมกันมากกว่า’ ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าว
ไทยคมมีแผนดำเนินธุรกิจ 3 ด้านประกอบด้วย 1.การทำธุรกิจดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมหรือธุรกิจหลักของไทยคม 2.ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ และ 3.ธุรกิจด้าน space tech
‘การประมูลวงโคจรได้ทั้ง 2 ตำแหน่ง เป็นการรับประกันว่าจะไม่มีคู่แข่งในตลาดเราไป 20 ปีกับมองว่าสามารถสร้างโอกาสใหม่ได้ มันสามารถเห็นประเทศไทย อินเดีย ตะวันออกกลาง วงโคจรที่ประมูลได้จะสร้างดาวเทียมกี่ดวงก็ได้แล้วแต่เทคโนโลยี อย่างตำแหน่ง 78.5 มีดาวเทียม 6 กับ 8 อยู่ที่เดียวกันก่อนหน้าก็มีไทยคม 5 อยู่ด้วย เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ไม่ต้องขออนุญาตด้วยซึ่งเป็นโอกาสของเรา’
ไฮไลต์สำคัญของไทยคมคือการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 เมษายนที่จะถึงนี้ เป็นการขออนุมัติกรอบเงินลงทุน 15,203 ล้านบาทสำหรับดาวเทียมบรอดแบนด์ จำนวน 3 ดวง วงโคจร 119.5 องศาตะวันออก ประกอบด้วยดาวเทียมดวงใหญ่ 1 ดวง (ใช้เวลาสร้าง 4 ปีอายุใช้งาน 15 ปีราคา 8 พันกว่าล้านบาท ความจุ 100 GB) กับดาวเทียมดวงเล็ก 2 ดวง (ใช้เวลาสร้าง 18 เดือน อายุใช้งาน 8 ปี ราคาดวงละ 2 พันกว่าล้านบาท ความจุดวงละ 10 GB) พร้อมมอบอำนาจให้กรรมการตัดสินใจเรื่องรายละเอียดการลงทุน
ส่วนดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออกจะใช้เวลาศึกษาการลงทุนและรูปแบบการทำธุรกิจประมาณ 1 ปี
‘หลังได้ตำแหน่งวงโคจรมาความเชื่อมั่นกลับมาเกิน 100% เพราะคู่ค้าต่างประเทศจ้องมานานแล้วว่าไทยคมจะเอายังไงกันแน่ ซึ่งหลังจากเดือนเมษายนที่เราประกาศว่าจะใช้ดาวเทียมประเภทไหน จะสร้างเมื่อไหร่ จะทำให้ยอดขายปัจจุบันเพิ่มขึ้นด้วย เพราะยอดขายปัจจุบันขึ้นกับอนาคต ถ้าอนาคตมันชัด ลูกค้าก็จะยิงยาวอยู่กับไทยคม’
การที่จำเป็นต้องมีดาวเทียมดวงเล็ก เพราะดาวเทียมไทยคม 4 จะหมดอายุทางวิศวกรรมปลายปี 2567 ดังนั้น ต้องยิงดวงเล็กขึ้นก่อน ซึ่งดวงเล็กมีความจุเพียง 1 ใน 10 ของดวงใหญ่ จะใช้ 1 ดวงต่อ 1 ประเทศ โดยจะโฟกัสที่ไทยกับอินเดียก่อนเป็นประเทศหลัก ส่วนประเทศอื่นอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะใช้วิธีไปเช่าดาวเทียมต่างชาติชั่วคราวก่อนที่ดาวเทียมดวงใหญ่จะถูกยิงขึ้น
ทั้งนี้ ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก เป็นตำแหน่งที่มีศักยภาพ และไทยคม 4 พัฒนามายาวนานใช้ได้ตั้งแต่ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงไปถึงออสเตรเลีย เป็นกรอบความถี่ที่ใช้ได้ทันทีไม่ต้องไปประสานความถี่กับประเทศอื่น
แผนธุรกิจของดวงใหม่คือการต่อยอดด้วยการโฟกัสตลาดมากขึ้น ต่างจากไทยคม 4 ที่ยิงครั้งแรกสัญญาณคลุม 14 ประเทศไม่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้บริการได้ ก็อาจจะเหลือตลาดที่โฟกัสว่าสามารถต่อยอดและไปต่อได้จริงประมาณ 6-7 ประเทศ
‘จุดแข็งของดาวเทียมดวงใหม่คือจะใช้เทคโนโลยีสูงสุดตอนนี้ ที่เรียกว่า software defined satellite ที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้บริการได้ตลอดเวลา ถ้าตั้งไว้ 7 ประเทศ ก็อาจปรับเป็น 5 หรือ 8 ประเทศก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ที่สำคัญคือไทยคมไม่เล่น 14 ประเทศแน่นอน’ ปฐมภพกล่าวพร้อมระบุอีกว่า ‘อย่างเช่น จีน ไม่โฟกัสแน่นอน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป ตอนนี้จีนคุมเข้มเรื่องเทคโนโลยีต่างชาติ เรื่องความมั่นคง ส่วนออสเตรเลียก็คงไม่เอาเพราะมีดาวเทียมของรัฐบาลที่ยิงไปแล้ว เราไปช่วยเรื่องการบริหารดาวเทียม ส่วนญี่ปุ่นเราก็ให้ความสำคัญอยู่ โฟกัสของเราจะอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และญี่ปุ่น’
สำหรับการเลือกโฟกัส 6-7 ประเทศตรงนี้ทำให้ลงทุนได้ง่ายขึ้นและความเสี่ยงในการทำกำไรกับธุรกิจในประเทศเหล่านี้น้อยลงมาก เพราะครั้งนี้เป็นการต่อยอดกับลูกค้าที่ไทยคมมีอยู่ในมือกับตลาดที่รู้จักดี รู้ว่ามีแผนอะไรในอนาคต ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์แทบจะไม่ต้องเสียเวลาทำการตลาดเลย
‘3 ดวงใหม่รวมกันแล้วคาปาซิตี้เท่ากับ 3 เท่าของไอพีสตาร์ หรือ 120GB แต่ลงแค่ 7 ประเทศ โดยดวงเล็กยิงได้ช่วงปลายปี 2567 จนถึงต้นปี 2568 เพราะต้องต่อกับไอพีสตาร์ให้ได้ ดวงเล็กเป็นสะพานเชื่อมต่อยอดไปถึงดวงใหญ่ ถึงแม้ดวงใหญ่ให้บริการแล้วดวงเล็กก็ให้บริการคู่ขนานไปพร้อมกัน’
สำหรับเรื่องรายได้นั้น ปฐมภพ มองว่ารายได้จะโตปีละประมาณ 10% จากปี 2565 ที่ประมาณ 3,200 ล้านบาทในช่วง 1-2 ปีนี้ และจะก้าวกระโดดเมื่อมีดาวเทียมดวงใหม่
ทั้งนี้ ดาวเทียมดวงใหม่จะเป็นดาวเทียมแรกๆที่เป็น next generation ในภูมิภาคนี้จะได้เปรียบด้านเทคโนโลยีโดยการโฟกัสที่อินเดียในช่วงแรกเพราะความต้องการของตลาดอินเดียมีมากกว่าความจุของไทยคมที่ตอบสนองได้และมีลูกค้าเดิมอยู่แล้วสามารถต่อยอดด้วยดาวเทียมดวงใหม่ทันที
‘หลังได้ตำแหน่งวงโคจรและจะมีดาวเทียมดวงใหม่ ภาพไทยคมเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ผมอยากให้บริษัทโตมากกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่า ซึ่งจากวงโคจรที่ได้มา 2 ตำแหน่งจะเป็นพื้นฐานในการเติบโต’
นอกจากนี้ ไทยคมยังมีบริการบรอดแบนด์บนเรือขนส่งและเรือโดยสารบนแพลตฟอร์ม นาวา (Nava) ตอนนี้มีลูกค้าเรือ 120 กว่าลำ รายได้ลำละ 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน กำลังสู่มิติใหม่ที่โกอินเตอร์มากขึ้น เพราะก่อนนี้เคยให้บริการแถวประเทศเพื่อนบ้านแค่ญี่ปุ่น แต่มีเรือไทยไปถึงตะวันออกกลาง ไปถึงยุโรป สหรัฐอเมริกา แต่ดาวเทียมไทยคมไปไม่ถึงให้บริการไม่ได้
ไทยคมก็เลยไปเป็นพันธมิตรกับบริษัทในอิตาลีที่มีดาวเทียม แล้วไปร่วมมือกับอีกหลายๆ ดาวเทียมทั่วโลก เพื่อให้บริการทั่วโลกรวมทั้งยังร่วมมือกับบริษัทชื่อ voyager worldwide ที่ให้บริการแผนที่การเดินทะเลเรือ ซึ่งเรือทุกลำก่อนเดินทะเลต้องอัปเกรดแผนที่ก่อน ตอนนี้ให้ขายบรอดแบนด์ของไทยคมพ่วงเข้าไปด้วยซึ่งมีเรือลำหนึ่งแล้วกำลังเทสต์อยู่ และมีเรือหลายพันลำจ่อเป็นลูกค้า
***แผนบุก LEO
ถัดจาก GEO ไทยคมก็มีแผนบุก LEO ทั้งบรอดแบนด์ปกติ และ LEO ที่ให้บริการ narrow band สำหรับอุปกรณ์ IoT ที่ใช้ในโลก 5G ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกาะกับคนและสิ่งของ แต่ที่ไทยคมสนใจคืออุปกรณ์ IoT ที่ส่งสัญญาณตรงไปที่ดาวเทียมเลย ซึ่งไทยคมร่วมมือกับ global star สหรัฐอเมริกา
โดยไทยคมเป็นพาร์ตเนอร์รายเดียวที่ทำเรื่อง landing rights ในประเทศไทยให้ global star ไทยคมทำ 2 หน้าที่คือ 1.การโอเปอเรตระบบภาคพื้นดินและสร้างเกตเวย์ ซึ่งคาดว่าให้บริการในประเทศไทยราวไตรมาส 2 ปีนี้ แต่ตอนนี้เริ่มมีลูกค้าใช้งานแล้วด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและการเดินทะเล เอาอุปกรณ์ไปติดกับชูชีพ สามารถกดปุ่ม sos เมื่อมีปัญหา และ 2.การเป็นผู้จำหน่าย exclusive อุปกรณ์ในประเทศไทยซึ่งทำให้มีรายได้ทั้งการขายอุปกรณ์ (ราคา 5-6,000 บาท) และค่าบริการรายเดือน (เดือนละ 500 บาท)
‘เรื่องนี้เราตื่นเต้นมาก เพราะคนพูดแต่บรอดแบนด์ แต่ผมว่าตลาดตรงนี้จะโตมากกว่า และมันไม่แพงแต่เป็นสิ่งที่เป็นความจำเป็นและสามารถหาเคสที่จะทำได้มากกว่า กรณีบรอดแบนด์ทั้งประเทศ 95% เป็นระบบมีสายและเครือข่ายไร้สายครอบคลุมแล้ว อีก 5% สามารถใช้ไทยคม 4 หรือใช้ดวงใหม่ของเรา ถูกกว่าด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้ LEO ที่เป็นบรอดแบนด์เพราะจะเหมาะกับเครื่องบิน หรือเรือหรืออะไรที่ไปทั่วโลกจะเวิร์กมากกว่า’
***space tech คืออนาคต
ปฐมภพ กล่าวว่า ธุรกิจเกี่ยวกับ space tech ใหญ่มาก ถือเป็นโอกาสของไทยคมอย่างเช่นดาวเทียมสำรวจ เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (earth observation : EO) มีหน้าที่ถ่ายภาพอย่างเดียว ไทยคมจะมีธุรกิจเอาข้อมูลภาพถ่ายมาประมวลด้วย AI เช่น ถ่ายภาพเอามาวิเคราะห์ว่าในประเทศไทยมีพื้นที่เป็นป่า เป็นตึก เป็นแม่น้ำ ภูเขา อยู่ที่ไหนอย่างไร สามารถดูได้ว่าพื้นที่ตรงไหนน้ำท่วม พื้นที่ไหนแล้ง เพื่อเอามาบริหารจัดการหรือเรื่องที่ดิน มาบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอย การจัดเก็บภาษีที่ดิน
อีกธุรกิจคือเรื่องสภาพแวดล้อมในการจัดการเรื่องคาร์บอน ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีดาวเทียม อย่างบางอุตสาหกรรมใช้วิธีการปลูกป่าเพื่อลดคาร์บอน เดิมใช้คนวัด แต่ที่ไทยคมทำคือใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ถ่ายได้เป็นพันไร่ หมื่นไร่ หรือแสนไร่ แล้วนำมาประมวลผลว่าสามารถดูดซับคาร์บอนได้ปีละเท่าไหร่ เป็นบริการใหม่ที่ไทยคมจะทำ
โดยจะเอาวิธีการประเมินอย่างนี้ไปขอรับการรับรองที่สหรัฐอเมริกา (เรื่องวิธีการวัด AI อัลกอรึธึมที่ใช้) ส่วนในไทยก็ไปขอรับ certificate จาก TGO หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สำหรับวิธีที่ใช้การประเมินจากดาวเทียม พอได้รับใบรับรองก็จะสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า จะเป็นอีกธุรกิจที่ไทยคมสนใจเพราะเป็นเทรนด์ของโลกเรื่อง ESG (Environment Social Governance)
อีกเรื่องเกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียมคือเรื่องความมั่นคง ไทยคมสนใจพัฒนา LEO สำหรับความมั่นคง เพื่อตรวจสอบพื้นที่โดยรอบของประเทศ ไทยคมมีวิศวกรที่สามารถออกแบบดาวเทียมวงโคจรต่ำสำหรับความมั่นคง 3 ดวง 5 ดวง หรือ 10 กว่าดวงก็ได้ เป็นแนวทางที่ไทยคมสนใจที่จะร่วมมือกับภาครัฐเพื่องานความมั่นคง เป็นดาวเทียมสำหรับถ่ายภาพมี 2 แบบ ถ่ายภาพกลางวัน กับประเภทใช้กล้องที่เป็นเรดาร์ สามารถถ่ายทะลุเมฆและถ่ายภาพกลางคืนได้
‘space tech ช่วงแรกจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ของไทยคมคือ 1.วิเคราะห์พื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในเรื่องเกษตรหรือการจัดเก็บภาษี 2.ธุรกิจการประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า และ 3.เรื่องความมั่นคง’
สำหรับการเติบโตของไทยคมนั้น ปฐมภพ ระบุว่า ‘ระยะสั้นจะมาจากธุรกิจดาวเทียมปัจจุบันที่เรามีอยู่ ซึ่งจะกระเพื่อมขึ้นมาเพราะมีอนาคต อีก 2 ปี จะกระเพื่อมขึ้นอีกเพราะมีดวงเล็กขึ้นมาและจะเห็นเรื่อง LEO ครึ่งปีหลังรายได้ทยอยเข้ามา อีก 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นเรื่อง space tech ที่รายได้เข้ามา เพราะอะไรที่เกี่ยวกับอวกาศที่เป็นสาระสำคัญไทยคมอยากมีให้ครบ ไทยคมจะเป็นบริษัทอินเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ยอดขายต่างประเทศจะมากกว่าในประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 50/50 ก็จะเป็นต่างประเทศ 75% ในประเทศ 25%’
เมื่อพูดถึงผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่างบริษัท กัลฟ์ เวนเชอร์ส จำกัด ปฐมภพ กล่าวว่า ‘ผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาสนับสนุนไทยคมมาก สนับสนุนวิชันของไทยคมที่ปักธงตัวเองว่าเป็นมากกว่า satellite operator อยากให้ไทยคมเป็นบริษัทที่ใหญ่และขยายธุรกิจไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ในต่างประเทศด้วย เป็นสิ่งที่ดีมากเพราะแรงสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่จะทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้’