xs
xsm
sm
md
lg

HP มองไทย “ปีนี้ไม่ง่าย” หมดยุคโฟกัสสินค้ากลุ่มเดิม!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์” กรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของเอชพีประเทศไทย
เปิดมุมมอง “วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์” กรรมการผู้จัดการ เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) ผู้บริหารหญิงคนแรกของเอชพีประเทศไทยในรอบ 30 ปี ซึ่งประเมินแล้วว่าการทำตลาดอุปกรณ์ไอทีเมืองไทยในปีนี้ไม่ง่าย แถมยังท้าทายหลายด้านจนทำให้ไม่อาจโฟกัสสินค้ากลุ่มเดิมได้อีกต่อไป โดยมีการตกผลึกเป็น 3 กลยุทธ์ที่เอชพีประเทศไทยจะเดินหน้าเต็มที่ เพื่อผลักดันบริษัทให้เติบโตขึ้นอีกในปี 2566

ประเด็น “ความยากของตลาด” ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก โดยเฉพาะเมื่อข้ามไปดูข้อมูลจากการ์ทเนอร์ ซึ่งเผยผลคาดการณ์ยอดการจัดส่งอุปกรณ์ไอทีปี 2566 ว่าจะลดลง 4% ทั่วโลก (ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์พีซี แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ) ถือเป็นยอดที่จะลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยยอดจัดส่งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลปีนี้มีแนวโน้มลดลง 7% ขณะที่ปริมาณพีซีคงเหลือ (Inventory) จะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

แนวโน้มนี้สอดคล้องกับผลประกอบการของเอชพี ซึ่งรายงานรายได้รวมไตรมาส 4 ปี 2565 จากทุกตลาดทั่วโลกว่าลดลง 11% คิดเป็นมูลค่า 14,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยทำได้ 16,700 ล้านเหรียญ โดยรายได้หลักของเอชพียังคงมาจากธุรกิจ PS หรือ Personal Systems ธุรกิจที่ครอบคลุมยอดขายคอมพิวเตอร์พีซีนี้กลับทำเงินลดลง 13% เป็น 10,300 ล้านเหรียญ ขณะที่ธุรกิจ Print เครื่องพิมพ์ทำรายได้ให้เอชพีราว 4,500 ล้านเหรียญ ซึ่งไตรมาส 4 ที่ผ่านมาทำยอดลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 65 ราว 7% 

รายได้ทั่วโลกปี 2565-2566 ของ HP สะท้อนการหดตัวของยอดขายอย่างชัดเจน โดยเฉพาะไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ HP เพิ่งประกาศว่ามีรายได้รวมลดลง 18.8% ผลจากธุรกิจ Personal Systems ที่มียอดขายลดลง 24% และธุรกิจ Printing ที่ทำรายได้ต่ำลง 5%
***ยากเพราะทุกอย่างเปลี่ยน

MD หญิงคนใหม่ของเอชพีประเทศไทยมองว่าปี 2566 เป็นปีที่ตลาดเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าแม้จะเป็นปีที่มีสัญญาณชวนให้เหนื่อยใจ แต่ธุรกิจงานพิมพ์และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังเป็น 2 ขาธุรกิจหลักที่เกื้อหนุนและควรอยู่ด้วยกัน เนื่องจากพีซีมีรอบวงจรการขายผลิตภัณฑ์ที่เร็ว ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์มีรอบเวลาที่ค่อนข้างตายตัว อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของตลาดทำให้โฟกัสของเอชพีประเทศไทยในตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่สินค้าเดิมเท่านั้น แต่ขยายไปคลุมชุดโซลูชันที่เน้นตอบความต้องการที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลจากการที่เอชพีทุ่มเงิน 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อกิจการโพลี (POLY) มาเมื่อปีที่แล้ว

“ปีนี้ไม่ง่าย เพราะ 2-3 ปีที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนชัดเจนในตลาด ทั้งซัปพลายเชน รูปแบบความต้องการ และอีกหลายปัจจัยที่เปลี่ยนไป ดังนั้นในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ เอชพีประเทศไทยจะโฟกัส 3 เรื่องเป็นหลัก คือ 1.เรื่องสินค้า เราจะไม่โฟกัสสินค้ากลุ่มเดิม แต่จะรองรับการทำงานแบบไฮบริดเวิร์ก คู่กับการให้ความสำคัญกับบริการด้านซิเคียวริตีและเซอร์วิสอื่นเพื่อให้ตอบโจทย์มากขึ้น 2.เรื่องการดำเนินงานในองค์กรที่จะต้องปรับรูปแบบและหาโซลูชันที่สอดคล้องกับตลาดที่มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการประสานงานภายในซัปพลายเชนที่ต้องปรับใหม่ และ 3.ด้านบุคลากร ที่จะเน้นโปรโมตผู้หญิง และพัฒนาคนในองค์กรตลอด 3 ปีจากนี้”

เอชพีทุ่มเงิน 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อกิจการโพลี (POLY) มาเมื่อปีที่แล้ว
หากพิจารณาโฟกัสแรกที่เรื่องสินค้า ปัจจุบันเอชพีแบ่งสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ PS, Print และ Workforce Services & Solutions โดย 2 กลุ่มแรกยังเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเอชพีได้ดี สังเกตได้จากภาพรวมยอดขายทั้งปี 2565 ของเอชพีที่มีตัวเลขรายได้รวม 63,000 ล้านเหรียญ คงที่จากปี 2564 ที่ทำได้ 63,500 ล้านเหรียญ ซึ่งในจำนวนนี้เอชพียังทำรายได้จากธุรกิจ PS ทั้งปีได้มากกว่า 44,100 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 2% ขณะที่รายได้จากธุรกิจพรินเตอร์ทำรายได้ทั้งปี 65 ราว 18,900 ล้านเหรียญ เป็นสัดส่วนลดลง 6%

สินค้ากลุ่มที่ 3 Workforce Services & Solutions ถือเป็นกลุ่มที่น่าจับตาเป็นพิเศษ เพราะปีนี้คือปีที่เอชพีจะรับเอาสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ต่อพ่วงและโซลูชันไฮบริดเวิร์กเพื่อการทำงานจากทุกมุมโลกของโพลีมาจำหน่ายอย่างจริงจังหลังจากปิดดีลเรียบร้อยเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว ผลจากดีลนี้ทำให้เอชพีมีโอกาสเข้าถึงตลาดอุปกรณ์ต่อพ่วงทั้งเว็บแคม หูฟัง ลำโพง ไมโครโฟน และอุปกรณ์อื่น ซึ่งเป็นเซกเมนต์ที่คาดกันว่าจะมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตมากกว่า 9% ต่อปี

นอกจากอุปกรณ์ต่อพ่วง เซกเมนต์ workforce solution ยังถูกประเมินว่ามีแนวโน้มเติบโต 8% ต่อปี คิดเป็นมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐด้วย สถิตินี้สวนทางกับการคาดการณ์ของการ์ทเนอร์ที่ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะส่งผลทำให้ความต้องการพีซี แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือมีอัตราเติบโตลดลงต่อเนื่องในปี 2566 จนอาจทำให้ปริมาณการใช้จ่ายในกลุ่มอุปกรณ์ไอทีของผู้ใช้ทั่วไปลดลง 5.1%

อุปกรณ์ต่อพ่วงและ workforce solution จะเป็นทางหนีให้เอชพี ในวันที่ภาวะการใช้จ่ายลดฮวบเกิดขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อและพิษเศรษฐกิจถดถอย เอชพีจะสามารถหนีรอดจากฝันร้ายที่การ์ทเนอร์เคยประเมินว่าในปี 2566 ยอดการจัดส่งพีซีจะยังลดลงต่ำสุดในทุกกลุ่มอุปกรณ์ โดยคาดว่าจะลดลง 6.8% ในปี 2566 จากเดิมในปี 2565 ที่ลดลงถึง 16% นอกจากนี้ ผู้จำหน่ายพีซีจะลดจำนวนสินค้าคงคลังลงด้วยหลังจากผู้จำหน่ายประเมินความต้องการของตลาดสูงเกินไป ซึ่งอาจต้องรออีกหลายเดือนกว่ายอดพีซีคงคลังจะกลับมาเป็นปกติในช่วงครึ่งปีหลัง

ตัวอย่างอุปกรณ์ต่อพ่วงและโซลูชันไฮบริดเวิร์กเพื่อการทำงานจากทุกมุมโลก

HP จะไม่โฟกัสสินค้ากลุ่มเดิม แต่จะรองรับการทำงานแบบไฮบริดเวิร์ก คู่กับการให้ความสำคัญกับบริการด้านซิเคียวริตี และเซอร์วิสอื่นเพื่อให้ตอบโจทย์มากขึ้น

อุปกรณ์ต่อพ่วง เซกเมนต์ workforce solution ถูกประเมินว่ามีแนวโน้มเติบโต 8% ต่อปี
การ์ทเนอร์ให้เหตุผลกรณีผู้จำหน่ายพีซีประเมินความต้องการของตลาดสูงเกินไปว่า เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ตกต่ำ รวมถึงอุปสงค์ที่ลดลงอย่างมาก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางมนต์ที่ไม่ขลังของ Windows 11 ที่ไม่สามารถกระตุ้นยอดจำหน่ายให้กลับมาคึกคักเท่าช่วงปี 2563-2565 ทำให้ผลของอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังคืบคลานเข้ามาไม่ได้เกิดการลดการใช้จ่ายเท่านั้น แต่กลุ่มผู้บริโภคและธุรกิจจะปรับขยายรอบการเปลี่ยนอุปกรณ์พีซีและแท็บเล็ตออกไปอีกหลายเดือนในช่วงปีนี้

***ยังมีพื้นที่โต

ท่ามกลางสัญญาณลบมากมาย วรานิษฐ์ ยังแสดงความมั่นใจว่าจะพาเอชพีประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งตลาดคอนซูเมอร์ รวมถึงกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ (สัดส่วน 40:60) โดยกลุ่มคอนซูเมอร์มีแผนเน้นที่กลุ่มสินค้าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งและพรินเตอร์แท็งก์ รวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงหลากหลายที่จะตอบความต้องการใช้บริการรูปแบบใหม่

“เทรนด์ใหม่ที่มาแรงในปี 2566 คือรูปแบบสมัครสมาชิก ผู้ใช้ที่เป็นองค์กรอาจคุ้นเคยกับการเช่าใช้เครื่อง ตอนนี้รูปแบบนี้เข้ามาที่กลุ่มคอนซูเมอร์ แนวโน้มดีในหลายประเทศ เพราะลดค่าใช้จ่าย และรับบริการได้ง่าย คาดว่าจะเห็นการขยายตัวในตลาดไทยที่เพิ่งเริ่มต้นให้บริการ” วรานิษฐ์ กล่าว “อีกเทรนด์คือสินค้ากลุ่มพรินเตอร์ เราเห็นความต้องการใหม่ที่ไม่เคยเกิดในกลุ่มตลาดงานพิมพ์ เราจึงวางแผนที่จะเติบโตและพร้อมลงทุนเต็มที่”

วรานิษฐ์ไม่เผยตัวเลขเป้าหมายการเติบโตที่หวังไว้ แต่ระบุว่าจะลงทุนกับทุกสินค้าที่เอชพีโฟกัส โดยมีแผนลงทุนแคมเปญทำการตลาด และทำโปรแกรมกับพาร์ตเนอร์เพื่อกระตุ้นให้ขายสินค้าได้ดีขึ้น การลงทุนของเอชพีประเทศไทยในปีนี้ยังจะครอบคลุมพนักงาน 150 คน ซึ่งประกอบด้วยพนักงานเอชพีหลักร้อยคน และบุคลากรของศูนย์บริการโพลีในประเทศไทยอีกหลายสิบคน

การจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรถือเป็นส่วนหนึ่งของโฟกัสที่ 2 ซึ่ง วรานิษฐ์วางแผนให้เอชพีประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ด้านการบริหารกว่า 23 ปีที่เอชพีประเทศไทย ทำให้วรานิษฐ์ให้ความสำคัญกับการยกระดับโอเปอเรชัน หรือการทำงานภายในองค์กรที่จะต้องทำให้พนักงานสามารถขับเคลื่อนเอชพีให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ในช่วงเวลาที่ปัญหาวิกฤตสินค้าขาดแคลนเริ่มบรรเทา พร้อมกับที่เอชพีมีการปรับระบบซัปพลายเชนหลังบ้านแบบทั่วโลก

ในกลุ่มคอนซูเมอร์ HP มีแผนเน้นที่กลุ่มสินค้าโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง

กลุ่มสินค้าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งคือพื้นที่ที่ยังสร้างการเติบโตให้ HP

ตลาดอุปกรณ์ต่อพ่วงทั้งเว็บแคม หูฟัง ลำโพง ไมโครโฟน และอุปกรณ์อื่น เป็นเซกเมนต์ที่คาดกันว่าจะมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตมากกว่า 9% ต่อปี
ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วทั้งงานขาย การตลาด ไปจนถึงงานดูแลภาพรวมธุรกิจเครื่องพิมพ์และพีซี วรานิษฐ์ย้ำว่าปี 66 คือปีที่จะเน้นการเดินสายขอความเห็นและหารือร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีรวมกว่า 600 ราย เพื่อสื่อสารถึงภาวะที่ดีขึ้นในห่วงโซ่การผลิตหรือซัปพลายเชน โดยเอชพีพบว่าพันธมิตรล้วนเข้าใจว่าปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเอชพี และได้มีความพยายามอัปเดตข้อมูลและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

“ปีนี้ท้าทายทุกส่วน ด้านดีคือการกลับมาจากโควิด ธุรกิจท่องเที่ยวดีขึ้นผิดหูผิดตา แต่ส่วนที่ท้าทายก็มี สำคัญคือจะต้องทำงานอย่างไรให้เราเติบโตในพื่นที่นั้นได้” วรานิษฐ์กล่าว “ความท้าทายมีในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งพรินเตอร์ เกม การควบรวมกับโพลี บริการสมัครสมาชิก ทุกอย่างไม่เกิดขึ้นได้ในทันที แต่ต้องสื่อสาร และต้องทำงานหนักขึ้นกว่าช่วงโควิด-19 ทำอย่างไรให้ทุกส่วนทำงานร่วมกันได้ตามแผน เพราะเรามีแผนการโต และลงทุนชัดเจน”

ในมุมของการแข่งขัน วรานิษฐ์ กล่าวในฐานะ MD เอชพีไทยว่าจะไม่มองคู่แข่งเป็นหลัก เนื่องจากคู่แข่งเปลี่ยนไป แต่เอชพีเลือกมองลูกค้าเป็นหลักว่าลูกค้าต้องการอะไร ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์

“ธุรกิจการพิมพ์ก็เปลี่ยนไป กลุ่มที่เคยพิมพ์อาจไม่พิมพ์ แต่กลุ่มที่ไม่เคยพิมพ์กลับเปลี่ยนมาพิมพ์ทั้งกลุ่มพ่อแม่ นักศึกษา คนทำงาน ขณะเดียวกัน การพิมพ์รูปแบบใหม่ก็เกิดขึ้น เช่น การพิมพ์ผ่านโทรศัพท์ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากโซลูชันการพิมพ์ที่ง่าย ช่วยขยายฐานให้ผู้ใช้กว้างขึ้น”

ในส่วนแผนการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ วรานิษฐ์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากแต่คุ้มค่า แผนของเอชพีคือการเข้าให้ถึงลูกค้าที่อัปเกรดความต้องการผ่านศูนย์บริการที่จะเพิ่มประสบการณ์ครบวงจรให้การซื้อสินค้าเอชพีตอบโจทย์ได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยจะเปิดให้ลูกค้าแชร์ประสบการณ์ซื้อและใช้เอชพีได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน จะเดินนโยบายตั้งราคาแบบไม่ดูที่โครงสร้างราคาเท่านั้น แต่จะพิจารณาจากผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการทำโปรโมชันที่ดึงดูดลูกค้ายิ่งกว่าเดิม

***work happy ไม่ลดคน

โฟกัสที่ 3 สำหรับเอชพีประเทศไทยของวรานิษฐ์ คือการพัฒนาบุคลากร โดยเอชพีประเทศไทยยังไม่มีแผนปรับลดพนักงานตามบริษัทแม่ที่ประกาศเลิกจ้างในระยะ 3 ปี
“3 ปีจากนี้จะเน้นให้พนักงานเรียนรู้และเข้าใจ” วรานิษฐ์เล่าถึงอิสระในการบริหารเอชพีประเทศไทย “เรามีพันธกิจทำให้ธุรกิจเติบโตตามแผนที่วางไว้ เอชพีประเทศไทยได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากบริษัทแม่ ให้เราโฟกัสกับงานขายโดยตรง เราเผชิญกับการแข่งขันมาตลอด แต่เราก็มั่นใจในแผน ขอเพียงทำอย่างไรให้เดินไปตามแผนได้ดีที่สุด เรามองที่อนาคต และรู้ว่าต้องทำอะไร”

“วรานิษฐ์ อธิจรัสโรจน์” กรรมการผู้จัดการ เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย)
ที่สุดแล้ว วรานิษฐ์เชื่อว่าภาพรวมการทำงานในฐานะ MD เอชพีไทยช่วงปีแรกจะอธิบายได้ด้วยคำว่า “work happy” เพราะเมื่อมีความสุขในการทำงาน สภาพแวดล้อมของการทำงานที่ดีจะเกิดขึ้น ทำให้คนที่ร่วมเดินทางมากับวรานิษฐ์ “แฮปปี้” ไปด้วย

แม้ว่าปีนี้จะไม่ง่าย และเต็มไปด้วยงานหินก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น