อัปเดตชีวิต 1 ขวบของน้องใหม่ “ไซเบอร์ อีลีท” (Cyber Elite) แห่งบ้าน “บีซีจี เบญจจินดา” ระบุทีมงานใหญ่ขึ้นจนคาดว่าจะเป็นบริษัทที่มีทีมงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตียุคใหม่มากที่สุดของประเทศ มั่นใจดีมานด์ล้นทำตลาดรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ไทยปี 66 โตทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาท ฟันธงไม่ว่าเศรษฐกิจหรือการเมืองจะผันผวน แต่หน่วยงานรัฐส่งสัญญาณลงทุนซิเคียวริตีหลายร้อยล้านบาทภายในปีงบประมาณ 67
ไซเบอร์ อีลีท ไม่ได้มาตัวคนเดียว แต่จัดเต็มพันธมิตรรายใหญ่ครบมือเพื่อเป้าหมายให้บริการครบวงจรที่มีรายได้หลักพันล้านบาท ซึ่งหากทำได้ ไซเบอร์ อีลีทจะขึ้นเป็นบริษัทขนาดไล่เลี่ยกับพี่ใหญ่ “UIH” ที่พาเบญจจินดาปักหลักในธุรกิจโซลูชันและโครงข่ายดิจิทัลด้วยยอดขายรวมเกิน 2,379 ล้านบาทในปี 64 โดยจะเป็น 1 ใน 13 ธุรกิจสำคัญที่ทำเงินอัดฉีดเบญจจินดา กรุ๊ป เรียกว่ามีโอกาสจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ส่งถึงเจ้าสัว “บุญชัย เบญจรงคกุล” ผู้มุ่งลุยงานมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ในยุคที่ดีแทคควบรวม ทรู
“ศุภกร กังพิศดาร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ในกลุ่มบีซีจี เบญจจินดา กล่าวระหว่างการเปิดตัวพันธมิตรรายล่าสุดคือ “ซีสเกลเลอร์” (Zscaler) บริษัทผู้ให้บริการความปลอดภัยบนคลาวด์สัญชาติสหรัฐฯ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดไทยในปีนี้ ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ไซเบอร์ อีลีทนั้นเหมือนขึ้นรถไฟเหาะเพราะมีหลายสิ่งเกิดขึ้นมากมาย แต่ไฮไลต์ที่เด่นที่สุดคือมุมมองของตลาดที่ชี้ชัดว่า “ไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็น Big Thing” โดยเป็นความใหญ่ที่พิสูจน์ได้จากการมีกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด ทั้งที่เป็นบริษัทด้านการเงิน ด้านค้าปลีก ซึ่งส่วนใหญ่โดนโจมตี และติดต่อมาให้เข้าไปช่วย “ดับไฟ” และจากนั้น ไซเบอร์ อีลีท ก็ช่วยดูแลทำโซลูชันต่อเนื่องให้มาตลอด
***1 ปีโต 300%
ศุภกร ย้ำว่าจุดยืนของไซเบอร์ อีลีท คือการเป็นผู้ให้บริการครบวงจร บริษัทจึงตั้งตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่การรักษาความปลอดภัยของลูกค้า รูปแบบบริการนั้นเน้นให้ลูกค้ายกระดับการดีไซน์ การสร้าง และการดำเนินงานด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ผ่านสินค้า บริการ และบุคลากรที่มีความสามารถ ส่งผลให้บริษัทมีการเติบโตจากปี 64 มากกว่า 315% และคาดการณ์รายได้ช่วงปิดปี 66 ไว้ที่ 1,343 ล้านบาท
“ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเราเติบโต 315% ตามตลาดซิเคียวริตีไทยที่ขยายตัวสวนทางเศรษฐกิจ จากที่มีการประเมินตอนแรกว่า มูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท แสดงว่าธุรกิจเราในปีที่ผ่านมามีการเติบโตสูงจริงๆ ปีที่ผ่านมาเราดำเนินการมากกว่า 143 โปรเจกต์ ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม มีดีลกับลูกค้าปัจจุบันอีกเกือบ 200 ดีล เชื่อว่าการเติบโตจะยังสูงต่อในปีนี้ ทีมเราใหญ่ขึ้น คาดว่าปีนี้จะมีทีมงานด้านซิเคียวริตีเกิน 100 คน จากที่มี 80 คน น่าจะเยอะที่สุดของประเทศ”
ปัจจุบัน ไซเบอร์ อีลีทมีบริการที่ปรึกษา ซึ่งมีลูกค้าหลักคือกลุ่มสถาบันการเงินและประกัน (BFSI) บริษัทเทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐ และธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิต ครอบคลุมการทำ PDPA คลาวด์ และงาน “ดับไฟ” ขณะเดียวกัน มีธุรกิจแมนเนจเซอร์วิส (Managed Services) ที่วันนี้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า และเป็นพื้นที่ใหญ่ของธุรกิจ ไซเบอร์ อีลีท ซึ่งเชื่อว่าเป็นศูนย์ใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ ไซเบอร์ อีลีท ยังคาดหวังไว้สูงกับการสร้างโปรดักต์ของตัวเอง คาดว่าปีนี้คือปีที่จะปล่อยสู่ตลาดได้ และจะมีโปรเจกต์ต่างประเทศมากขึ้นในปีนี้
ภาพใหญ่ที่ ไซเบอร์ อีลีท หวังจะเป็นคือแชมป์ไซเบอร์ซิเคียวริตีเซอร์วิสโพรไวเดอร์ 2 แกนหลักของธุรกิจคือ แกนที่ปรึกษา ออกแบบ และสร้าง ขณะที่แกนที่ 2 คือแมเนจเซอร์วิส ซึ่งจะล้อไปกับธุรกิจโซลูชันซิเคียวริตี เบื้องต้นมีการปรับคีย์โฟกัสปีนี้ โดยเปลี่ยนจากธนาคารสถาบันการเงินไปที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมีการเตรียมตัวพร้อม และไซเบอร์ อีลีท จะมีบริการแมเนจเซอร์วิสใหม่ที่จะเริ่มทำตลาดในปี 66 เช่น ความร่วมมือกับซีสเกลเลอร์ ซึ่ง ไซเบอร์ อีลีท เชื่อว่าจะนำไปสู่แนวคิด “ทำทุกสิ่งให้เป็น managed services” ได้ง่ายขึ้น
managed services นั้นหมายถึงบริการช่วยจัดการ เพื่อให้องค์กรไม่ต้องยุ่งยากกับกระบวนการต่างๆ ในการจัดการระบบที่มี สำหรับ ไซเบอร์ อีลีท บริษัทมองว่านอกจากการมอนิเตอร์หรือการตรวจติดตามอุปกรณ์ซิเคียวริตีแล้ว ระบบควรจะมอนิเตอร์อุปกรณ์อื่นที่อยู่ในโครงสร้างด้วย ขณะเดียวกัน ควรขยายไปที่ระบบ OT (Operational Technology) หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมเครื่องจักรในองค์กร เช่น ระบบควบคุมอาคาร หรืออุปกรณ์ตรวจร่างกายในโรงพยาบาล
ตรงนี้คือโอกาสที่ไซเบอร์ อีลีท เห็นศักยภาพ เพราะตลาด OT เชื่อว่ามีขนาดเป็น 3 เท่าของตลาดเน็ตเวิร์ก SD Wan การเติบโตนี้สะท้อนเป็นเทรนด์ที่บริษัทเห็นชัดหลังจากศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยบริษัทพุ่งโฟกัสไปที่บริษัทในพื้นที่ EEC เพื่อเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่ตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะเป็นบริการลักษณะแมเนจเซอร์วิส ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้ ไซเบอร์ อีลีทได้อีก
ทั้งหมดนี้เกิดบนปัจจัยบวกมากมายในตลาด ทั้งมุมมองต่อการบริหารความเสี่ยงไซเบอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรวันนี้ให้ความสำคัญ โดยผู้บริหารบางส่วนมีความต้องการอยากเห็นความเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ และได้ตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)
ในอีกด้าน การใช้งานคลาวด์ของประเทศไทยที่ขยายตัวเกิน 30% ต่อปียังคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งหากรวมกับแผนการลงทุนในไทยที่มากขึ้นของผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลก เชื่อว่าจะผลักดันให้อัตราการใช้คลาวด์ในไทยสูงขึ้น นำไปสู่ความต้องการระบบซิเคียวริตีบนคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
“โฟด ฟารอคเนีย” (Foad Farrokhnia) หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและช่องทางจำหน่าย ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก บริษัท ซีสเกลเลอร์ ระบุว่าความต้องการคลาวด์ซิเคียวริตีนั้นเป็นเทรนด์แรงทั่วภูมิภาค เนื่องจากปัจจุบันคลาวด์ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางหลักที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ การระบาดของโควิดยังทำให้ภาพการทำดิจิทัลทรานสฺฟอร์เมชันชัดเจนว่าองค์กรจะต้องปรับให้อยู่รอดในช่วงโควิด เมื่อต้องนำระบบ IT และ IoT เข้ามา กลับต้องพบปัญหาการถูกโจมตี ซึ่งบางครั้งเป็นการโจมตีในระดับที่ลึกกว่าผู้ปฏิบัติการ และความเสียหายไม่ได้หยุดอยู่ที่องค์กรเดียว แต่อยู่ที่ลูกค้าขององค์กรนั้นด้วย
***ซีโรทรัสต์ที่แท้จริง
คาเรน ชง (Karen Chong) รองประธานซีสเกลเลอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำว่าไทยเป็นตลาดซิเคียวริตีบนคลาวด์ที่สำคัญในอาเซียน เนื่องจากมีความต้องการสูง และมีปัจจัยเสริมหลายด้านท่ามกลางช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างหลังโควิด เห็นได้จากไทยมีการตั้งศูนย์ส่งเสริมดิจิทัลนอก กทม. นโยบายส่งเสริมการพัฒนาสมาร์ทซิตี และการใช้ดิจิทัลที่มากขึ้นของประชาชน เวลานี้ทำให้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ซีสเกลเลอร์ จะมาลงทุน เพื่อตั้งทีมงานที่เป็นคนไทยมากขึ้น และเผยแพร่แนวคิดการ “แมเนจทุกอย่าง” และการเป็น “ซีโรทรัสต์ที่แท้จริง”
ซีโรทรัสต์ (Zero Trust) ที่คาเรนกล่าวถึง หมายถึงการที่ระบบจะไม่เชื่อใจใคร ยกตัวอย่างเช่น เครือข่าย VPN ที่จะไม่เปิดให้เข้าใช้งานแม้ผู้ใช้จะมีรหัสผ่าน แต่ระบบจะต้องตรวจตัวตนของผู้ใช้ทุกครั้งที่ขอเข้าใช้งาน หลักการนี้ถูกมองว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเอามาใช้บนคลาวด์ โดยไม่ต้องคิดว่าระบบนี้จะอยู่ในองค์กรหรือไม่ แต่ควรอยู่บนคลาวด์ที่เรียกใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา
ศุภกร ย้ำว่า บางองค์กรยังไม่เข้าใจแนวคิดนี้ และยังติดกับรูปแบบดั้งเดิมว่าระบบซิเคียวริตีจะต้องมีฮาร์ดแวร์จับต้องได้ แต่สิ่งที่ควรเป็น คือองค์กรจะต้องมีความสามารถในการทำระบบซิเคียวริตีที่เป็นซีโรทรัสต์ที่แท้จริง ซึ่ง ไซเบอร์ อีลีท จะเป็นพาร์ตเนอร์หลักของซีสเกลเลอร์ ในประเทศไทย เพื่อร่วมกันสร้างบริการชื่อ “แมเนจคลาวด์ซิเคียวริตี” (Managed Cloud Security)
“แต่เดิมองค์กรต้องจัดหาอุปกรณ์เอง ตั้งในองค์กรตัวเอง อาจใช้เวลาเป็นปี ตั้งแต่ของบประมาณ กว่าจะดำเนินการตามเส้นทาง แต่บริการนี้จะสร้างบริการไว้บนคลาวด์ ลูกค้าจะใช้โดยไม่ต้องใส่ใจว่าอยู่ที่ไหน ลดเวลาได้มาก” ศุภกรกล่าว “เชื่อว่าองค์กรในอนาคตจะไปที่แมเนจเซอร์วิสมากขึ้นในปีนี้ เพราะต้องการลดภาระการบริหารจัดการไซเบอร์ซิเคียวริตีลง ทำให้ไปโฟกัสงานหลักได้ ช่วยให้องค์กรปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ได้รวดเร็ว”
อีกจุดสำคัญที่จะเสริมให้ธุรกิจคลาวด์ซิเคียวริตีบูมแรงคือการใช้งานมัลติคลาวด์ที่มากขึ้นในประเทศไทย ประเด็นนี้ ศุภกรอธิบายว่าการใช้คลาวด์หลายเจ้ามากกว่า 1 คลาวด์ กำลังทำให้องค์กรพบปัญหาด้านการบริหารจัดการที่มีความซับซ้อน เพราะแต่ละคลาวด์นั้นมีการทำซิเคียวริตีที่ต่างกัน และไม่ได้ระดับความปลอดภัยที่เท่ากัน ปัญหาคือเมื่อลูกค้าเจอการโจมตี จะไม่ทราบว่าควรเริ่มที่ไหน
“ส่วนใหญ่ที่เริ่มทำคือการกู้คืน ซึ่งจะกลบร่องรอยที่เกิดขึ้นไปแล้ว” ศุภกรกล่าว “ภัยที่เกิดขึ้นคือความซับซ้อนในการใช้คลาวด์ที่มากขึ้น และการติดตามที่ทำได้ยาก เพราะแต่ละคนจะดูแค่คลาวด์ตัวเองเท่านั้น ลูกค้าจึงต้องการใครสักคนที่เข้ามาดูแลในภาพรวม นี่คือสิ่งที่เราทำให้ลูกค้า อะไรที่ผู้ให้บริการคลาวด์ทำไม่ได้ คือพื้นที่ที่เป็นโอกาสของเรา”
แน่นอนว่าโอกาสมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งกลุ่มเบญจจินดาด้วย