TikTok เตรียมแพลตฟอร์มรับมือเลือกตั้ง ห้ามพรรคการเมือง นักการเมืองโฆษณาผ่านแพลตฟอร์ม พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อมูลป้องกันการบิดเบือน และนำเสนอข้อมูลเท็จ ภายใต้มาตรฐานหลักเกณฑ์ชุมชนที่เข้มงวด
ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย กล่าวถึงหลักการทำงานเบื้องต้นของ TikTok ในช่วงสถานการณ์การเลือกตั้ง จะเริ่มตั้งแต่การคัดแยกบัญชีผู้ใช้งานในลักษณะของ GPPPA (Government, Politician, and Political Party Account) หรือบัญชีที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง
โดยจะครอบคลุมบัญชีทั้งกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานท้องถิ่น ผู้สมัครรับการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง โฆษกพรรคการเมือง บัญชีเหล่านี้จะไม่สามารถสร้างรายได้บนแพลตฟอร์ม และไม่สามารถโปรโมตเนื้อหาบน TikTok ได้
“การดูแลเนื้อหาบน TikTok จะมีทั้งการใช้ Machine Lerning และ Moderator ในการดูแลแพลตฟอร์ม ที่จะคอยรับข้อมูลรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง Election Report จากผู้ใช้ เพื่อคอยคัดกรองเนื้อหาเหล่านี้ต่อไป”
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของ TikTok เกี่ยวกับการรับมือการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไทย ได้มีการนำประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเลือกตั้งมาก่อนหน้านี้ทั้งในมาเลเซีย และฟิลิปปินส์มาปรับใช้ เพื่อป้องกันในแง่ของปฏิบัติการทางด้านข้อมูลข่าวสารบนโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้น
จุดประสงค์หลักของแคมเปญในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ให้แสดงผลเนื้อหาอย่างสุจริต ทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้มีความโปร่งใสมากที่สุด โดยเนื้อหาหลักที่ทาง TikTok จะนำเสนอจะใช้การอ้างอิงข้อมูลจาก กกต. และทำงานร่วมกับทางโคแฟค (COFACT) ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ
จิรภัทร หลี่ หัวหน้าฝ่ายกำกับนโยบายชุมชน TikTok ประเทศไทย ให้ข้อมูลเสริมว่า ด้วยการที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้ผู้ใช้สร้างสรรค์เนื้อหาได้อย่างเต็มที่ และผู้ใช้งานสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ที่ผ่านมาจึงได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline) เพื่อดูแลเนื้อหาที่มีความบิดเบือน เป็นอันตราย หรือละเมิดหลักเกณฑ์ เพื่อให้เนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถือ
“ในช่วงไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา มีการลบวิดีโอจากนโยบายเชิงรุกบนแพลตฟอร์มมากกว่า 96.5% โดยเป็นการลบออกภายใน 24 ชั่วโมงแรง 92.7% และกว่า 89.5% ถูกลบก่อนมียอดเข้าชม เพื่อแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของทีมงาน และความร่วมมือจากผู้ใช้”