AIS Business เปิดแผนทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศไทย และระดับโลก ยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจไทยเข้าสู่ ‘Digital Economy’ เพื่อร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต พร้อมกับผลักดันให้ธุรกิจลูกค้าองค์กรสามารถเติบโตเหนือตลาดได้ จากปัจจุบันที่มีรายได้ราว 5,300 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 26%
แม้ว่าปัจจุบันขนาดของฝั่งธุรกิจองค์กร AIS Business จะมีสัดส่วนรายได้ราว 3.9% หรือราว 5,300 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้รวม 1.85 แสนล้านบาทของ AIS แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ โดยในปี 2564 รายได้จากธุรกิจองค์กรของ AIS จะอยู่ที่ราว 4,200 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 18% ส่วนในปี 2565 ปรับขึ้นมาเป็น 5,300 ล้านบาท เติบโตถึง 26% และในปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดรวม
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า หลังจากการเตรียมความพร้อม และปรับตัวของ AIS ที่เปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม สู่ดิจิทัลไลฟ์ และปัจจุบันคือ Cognitive Tech-Co ภารกิจของทาง AIS Business คือการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าเดินหน้าต่อไปได้
“ที่ผ่านมา AIS มีการลงทุนทั้งด้านโครงข่ายไร้สาย และมีสายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพของเครือข่ายให้มีความอัจฉริยะมากขึ้นอย่าง Autonomous Network รวมถึง Intelligent IT และ AI & Data Analytics”
จากการลงทุนดังกล่าว ทำให้ AIS สามารถสร้างความชาญฉลาดของเน็ตเวิร์กใหม่ๆ เข้ามาเพื่อรองรับการเชื่อมต่อที่ในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นตามแต่ความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งในกลุ่มของคอนซูเมอร์ และภาคธุรกิจที่มีความต้องการแตกต่างกัน
การที่ AIS มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ครบ พร้อมด้วยการเปิดแพลตฟอร์มอย่าง AIS 5G NextGen จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี และโซลูชันจากพันธมิตร ผลักดันให้เกิดการนำดิจิทัลไปใช้ ต่อเนื่องไปยังการทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีการเติบโต
ปัจจุบัน AIS Business มีพาร์ตเนอร์กว่า 200 ราย ทั้งในประเทศไทย และระดับโลก ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา ลูกค้าในฝั่งของ AIS Business มีการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนการเชื่อมต่อโดยเฉพาะในกลุ่มของ 5G ที่เติบโตกว่า 40% และการเข้าใช้บริการคลาวด์ที่เติบโตมากกว่า 200%
สำหรับเป้าหมายของ AIS Business ในปีนี้จะเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของ CCIID (Cloud, Cyber Security, IoT, ICT Solutions และ Data Center) ที่เข้าไปเชื่อมกับ 5G NextGen Platform และ CloudX ทำให้สามารถรับการเติบโตของข้อมูลจำนวนมากได้ภายใน 4 อุตสาหกรรมหลักคือ การผลิต ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ที่เสริมด้วยสมาร์ทซิตี และการขนส่ง เสริมด้วยการนำโซลูชันเข้าไปตอบโจทย์ในฝั่งของธุรกิจการเงิน การธนาคาร ภาครัฐ และผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)
***เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน
แนวทางของ AIS Business ในปีนี้จะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์อย่าง ‘เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน’ ที่จะเข้าไปช่วยให้ลูกค้าภาคธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตจากการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในการเข้าถึงดิจิทัล ภายใต้การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การเข้าไปช่วยเร่งการเติบโต (Growth) ของธุรกิจจากการสร้างขีดความสามารถใหม่ในการแข่งขันด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปเสริม ตั้งแต่การเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจจาก AIS 5G และการนำแพลตฟอร์มคลาวด์เข้าไปใช้งาน
ตามด้วยการช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูล (Data) ที่มีมาใช้งานให้เกิดประสิทธิผลสูงที่สุด อย่างโซลูชันเกี่ยวกับการบริหารจัดการข้อมูลอัจฉริยะ (Data Analytics as a Service) จนถึงการช่วยให้เข้าใจลูกค้าเพื่อสร้างจุดต่างเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากโซลูชันวิเคราะห์ข้อมูล ควบคู่กับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า (Data Insight & Lifestyle as a Service)
นอกจากนี้ ยังพร้อมที่จะเข้าไปช่วยภาคอุตสาหกรรมในการนำเทคโนโลยีเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้นจากสมาร์ทโซลูชันที่ครอบคลุมทั้ง Smart Manufacturing, Smart Transportation & Logistics, Smart City & Building, และ Smart Retail
ถัดมาในส่วนของการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ปลอดภัย และเชื่อถือได้ (Trusted) ที่นำความพร้อมจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา นำเสนอบริการคลาวด์ และเน็ตเวิร์กที่มีความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ซิเคียวริตีที่ผ่านข้อกำหนดของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากความสามารถของเครือข่ายที่รวดเร็ว มีความยืดหยุ่นในการใช้งานแล้ว ยังเข้าไปตอบโจทย์ในแง่ของการยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลและระบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยขององค์กร
“การที่ AIS มีเน็ตเวิร์กที่แข็งแรง รวมถึงการเชื่อมต่อไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ หรือคลาวด์แพลตฟอร์มต่างๆ ที่ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งช่วยทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้น ยังมีในส่วนของซัปพอร์ตเซอร์วิสที่ดูแลลูกค้าเฉพาะรายทำให้มั่นใจถึงบริการที่ลูกค้าจะได้รับ”
ขณะเดียวกัน ในอนาคตข้อมูลต่างๆ ที่อยู่บนโครงข่ายของ AIS ยังสามารถนำมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้อีกมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มของรีเทล ที่สามารถนำข้อมูลการใช้งานบนเครือข่ายมาใช้วิเคราะห์ป้ายโฆษณาในแต่ละพื้นที่ว่ามีโอกาสที่ลูกค้าจะเห็นมากน้อยแค่ไหน
สุดท้าย คือการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable) ที่กลายเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องให้ความใส่ใจมากขึ้น ทาง AIS Business มีอีโคซิสเต็มให้ผู้ที่พัฒนานวัตกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมสามารถเข้ามาเชื่อมต่อภายใน AIS 5G NEXTGen Platform เปิดทางให้ลูกค้าธุรกิจสามารถนำโซลูชันต่างๆ ไปใช้งานได้
ไม่ว่าจะเป็นโซลูชันที่เข้ามาช่วยในการบริการจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยคาร์บอน การปล่อยน้ำเสียโดยใช้ข้อมูลแบบ real-time จากอุปกรณ์ IoT คาดการณ์การใช้พลังงานล่วงหน้า ให้สามารถตัดสินใจวางแผนการทำงาน หรือการผลิตได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่าง e-Waste, Academy for Thai และอุ่นใจไซเบอร์
เช่นเดียวกับในฝั่งของผู้ประกอบการรายย่อย ในปีที่ผ่านมา AIS SME 5G มีการเติบโตในส่วนของการนำ 5G ไปใช้งาน ทำให้ในปีนี้จะมีการนำคอนเซ็ปต์ที่สื่อสารไปพร้อมกับฝั่งของคอนซูเมอร์ อย่างการตอกย้ำภาพของการเป็นเครือข่ายคุณภาพ สัญญาณครอบคลุม มีโซลูชันที่หลากหลายครบวงจร เสริมความมั่นใจในแง่ของความถูกต้องของค่าบริการ บริการหลังการขาย ตามด้วยบริการดิจิทัลต่างๆ และสิทธิพิเศษเพิ่มเติมสำหรับลูกค้า SME
“สิ่งที่ยังไม่ได้เห็นมากนักคือการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในธุรกิจจริงๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการบางรายเลื่อนการลงทุนดิจิทัลออกไป แต่เชื่อว่าในปีนี้จะมีโอกาสได้นำเสนอโซลูชันเข้าไปช่วยเหลือภาค SME มากกว่าเดิม”