ทรู-ดีแทค แจ้งตลาดหลักทรัพย์เริ่มกระบวนการควบรวมตั้งบริษัทใหม่ ชื่อเดิม ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ โดยทางเครือซีพี และเทเลนอร์ ถือหุ้นฝั่งละประมาณ 30% ยืนยันคงการทำตลาดแยกแบรนด์ทรู และดีแทค คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1
สำหรับรายละเอียดการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า คณะกรรมการของทั้ง 2 บริษัทฯ ได้มีมติให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อพิจารณาและอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท ทั้ง 2 บริษัทจะดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ จนกว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ ทั้ง 2 บริษัทจะคงแยกกันดำเนินธุรกิจ โดยให้บริการลูกค้าตามปกติและไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
โดยที่ทั้งแบรนด์ทรู และดีแทคเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในขณะที่แบรนด์ทรูยังเป็นที่รู้จักครอบคลุมถึงธุรกิจบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล ทั้งนี้ หลังจากการควบรวม แบรนด์ดีแทคและทรูจะยังคงแยกกันให้บริการลูกค้าของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังเตรียมเสนอรายชื่อคณะกรรมการบริษัทใหม่ เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมพิจารณาและอนุมัติ โดยประกอบด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ นางกมลวรรณ วิปุลากร นายกลินท์ สารสิน นางปรารถนา มงคลกุล นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข ดร.เกา ถงชิ่ง นางทูเน่ ริปเปล นายลาส์ เอริค เทลแมนน์ และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนาย ชารัด เมห์โรทรา ได้รับการเสนอชื่อเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยนายนกุล เซห์กัล และ น.ส.ยุภา ลีวงศ์เจริญ เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ในบริษัทใหม่
สำหรับทุนจดทะเบียนของบริษัทใหม่จะอยู่ที่ 138,208,403,204 บาท ซึ่งเท่ากับทุนชำระแล้วทั้งหมดของดีแทค กับทรู รวมกัน โดยแบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวนทั้งสิ้น 34,552,100,801 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 4 บาท
แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคมให้ความเห็นว่า การตั้งบริษัทใหม่ในครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการขยายโครงข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีความต้องการในการใช้งานเพิ่มขึ้น และกลายเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เทเลนอร์จะถอนตัวจากการที่เข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคม สู่การปรับตัวเป็นนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นแทน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วในมาเลเซียที่รวม Celcom และ Digi มาให้บริการแก่ลูกค้าแทน
จุดที่น่าจับตามองเมื่อเป็นบริษัทใหม่ เมื่อมีการลงทุนของกลุ่มเทเลนอร์ ที่ได้รับเงินบางส่วนจากรัฐบาลนอร์เวย์ ทำให้มีการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจที่เข้มงวด และเน้นความโปร่งใส เนื่องจากถูกจับตาจากหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ทำให้กลายเป็นว่า บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมานี้จะช่วยทำให้แบรนด์ใหม่ที่เกิดจากการควบรวมนี้มีความเป็นธรรมาภิบาลมากขึ้นด้วย
ในอีกมุม การนำมาตรฐานบริการของดีแทค อย่างคอลเซ็นเตอร์ หรือการนำเสนอแพกเกจเฉพาะบุคคลเข้าไปเสริมการบริการของกลุ่มทรู จะช่วยยกระดับบริการให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับการที่แบรนด์ดีแทค จะมีช่องทางในการทำตลาดเพิ่มขึ้นร้านค้าในกลุ่มซีพี รวมถึงการนำเสนอบริการที่ครอบคลุมนอกเหนือจากโทรศัพท์ ทั้งทรูออนไลน์ และทรูวิชั่นส์ ในลักษณะของการบันเดิลแพกเกจในการนำเสนอแก่ลูกค้า