xs
xsm
sm
md
lg

บทใหม่เครื่องพิมพ์องค์กร ‘เอปสัน’ เลิกขายเลเซอร์พรินเตอร์ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประกาศยุติการทำตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ทั่วโลกภายในปี 2026 ของ ‘เอปสัน’ ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตในการทำธุรกิจที่ยึดหลักความยั่งยืน ด้วยการเลือกผลิตสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด พร้อมไปกับการเปิดโอกาสในธุรกิจที่ดึงจุดแข็งของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทให้มีตลาดที่กว้างขึ้น

ตลาดเครื่องพิมพ์ในกลุ่มลูกค้าองค์กรกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่ เอปสัน ต้องการบุกเข้าไปในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าธุรกิจที่แต่เดิมจะให้ความสำคัญกับเลเซอร์พรินเตอร์ พร้อมกับตั้งเป้าหมายอย่างท้าทายในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนว่า ภายในปี 2023 จะเลิกทำตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ เร็วกว่าแผนที่ทางบริษัทแม่กำหนดไว้


จุนคิชิ โยชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจเครื่องพิมพ์ บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเวลานี้ พร้อมเล่าถึงสภาพแวดล้อมบริเวณทะเลสาบซูวะ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเอปสัน ที่ปัจจุบันไม่เคยเปลี่ยนเป็นน้ำแข็งมานานหลายปีแล้ว

“จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะภาวะโลกร้อนทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเอปสัน เริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับการเปลี่ยนวิสัยทัศน์องค์กรที่มุ่งสู่การสร้างความยั่งยืน”

เป้าหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อมของเอปสัน คือการประกาศว่าในปี 2050 เอปสันจะสามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นลบ และจะไม่มีการใช้ทรัพยากรจากใต้ดินอีก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด รวมถึงการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้

โดยแนวทางที่เอปสันนำมาใช้คือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนภายในโรงงานผลิตทั่วโลกในปี 2023 ตามด้วยการหันมาใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น ทั้งการลดขนาด และน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ หันมาใช้วัสดุรีไซเคิล ซึ่งจะช่วยทั้งเรื่องของการขนส่ง การใช้พลังงานที่น้อยลง

“จุดเด่นอย่างหนึ่งของเครื่องพิมพ์ที่ใช้หัวพิมพ์แบบอิงค์เจ็ทของเอปสันคือ เทคโนโลยี Heatfree ที่ในขั้นตอนการทำงานต่างๆ มีส่วนที่ปล่อยความร้อนน้อยมาก ขณะเดียวกัน ช่วยลดการใช้พลังงาน และวัสดุหมึกพิมพ์ต่างๆ ถูกผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

***ใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท เจาะตลาดองค์กร


ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องพิมพ์ในกลุ่มองค์กรธุรกิจจะกลายเป็นธุรกิจหลักของเอปสันในอนาคต หลังจากที่ปัจจุบันได้มีการเสริมไลน์อัปสินค้าเข้ามาตอบโจทย์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่มีสามารถเข้ามาแทนที่ในกลุ่มของเลเซอร์พรินเตอร์ได้ทั้งหมดแล้ว

ในปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องพิมพ์ในองค์กรธุรกิจกลุ่มหลักจะอยู่ที่ขนาดเครื่องที่สามารถพิมพ์ได้ 31-60 หน้าต่อนาที ตามมาด้วยกลุ่ม 21-30 หน้าต่อนาที ส่วนกลุ่มเครื่องพิมพ์ 61 หน้าต่อนาทีขึ้นไปถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากในปัจจุบัน จากการที่สำนักงานยุคใหม่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นเฉพาะแผนกมากขึ้น

“กลุ่มเครื่องพิมพ์ความเร็ว 31-60 หน้าต่อนาที มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องพิมพ์ความเร็วสูง 61 หน้าต่อนาทีขึ้นไปถึง 24 เท่า โดยเฉพาะในตลาดภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญคือความต้องการของตลาดเครื่องพิมพ์ระดับนี้ในประเทศไทยถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอีกด้วย”


เพื่อที่จะเข้าไปจับตลาดนี้ เอปสันได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทในกลุ่มองค์กรรุ่นใหม่ในชื่อ Epson WorkForce Enterprise AM-Series ที่เหมาะกับสำนักงานขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือสินค้ากลุ่มนี้ตอบโจทย์สำหรับองค์กรที่มีความกังวล และห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับไฮไลต์สำคัญของเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่นี้ ประกอบด้วย 4 ส่วนด้วยกันคือ ระบบป้อนกระดาษแบบใหม่ที่ลดความซ้ำซ้อนลง ช่วยให้แก้ไขปัญหากระดาษติดได้ง่ายขึ้น หมึกพิมพ์สามารถบำรุงรักษาได้ง่าย มีถาดน้ำยาเพิ่มความชุ่มชื้นของหัวหมึกทำให้รองรับการใช้งานในระยะยาวได้ พร้อมการออกแบบให้สามารถทำความสะอาดหัวพิมพ์เฉพาะจุดได้

“เมื่อเป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท จะมีความโดดเด่นที่การซ่อมบำรุงต่ำ ตัวเครื่องมีขนาดเล็กลง และสามารถเพิ่มโซลูชันทางการพิมพ์เพื่อเข้าไปตอบโจทย์การใช้งานของแต่ละองค์กรได้”


เบื้องต้น เอปสันวางกลยุทธ์ที่จะสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีหัวพิมพ์แบบ Heat-free เน้นให้ความสำคัญของความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างช่องทางเครือข่ายที่ครอบคลุมการทำตลาดได้ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังต้องขยายเพิ่มเติมในส่วนของการเข้าถึงตลาด ด้วยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจง พร้อมนำเสนอบิสิเนสโมเดลรูปแบบใหม่ๆ ทั้งการซื้อขาด เช่าซื้อ เช่าใช้ตามปริมาณงานพิมพ์ให้เลือกหลากหลาย ตามด้วยบริการทั้งก่อนและหลังการขาย ตั้งแต่การวางระบบ ให้คำปรึกษาถึงผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน ต่อเนื่องถึงการซ่อมบำรุงที่มีพันธมิตรกว่า 85 ราย และจะขยายเป็น 110 พันธมิตรทั่วประเทศภายในปี 2023

อย่างไรก็ตาม เอปสันยังพร้อมที่จะดูแลลูกค้าที่ใช้งานเลเซอร์พรินเตอร์ต่อไปโดยกำหนดระยะเวลาเบื้องต้นในการดูแลอะไหล่ไว้ที่ 6 ปี ส่วนของหมึกพิมพ์และวัสดุสิ้นเปลืองจะอยู่ที่ 7 ปี ซึ่งไม่แตกต่างจากการดูแลจนสิ้นอายุขัยการใช้งานของพรินเตอร์อยู่แล้ว


ส่วนการทำตลาดเพื่อที่จะเรียกความมั่นใจของลูกค้าในกลุ่มนี้จะอยู่ที่การเปิดให้ลูกค้าได้ทดลองใช้งาน พร้อมนำเสนอโปรแกรมเข้าไปช่วยดูแล อย่างการเทรดอินเลเซอร์พรินเตอร์มาเป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท หรือแม้แต่การทำโปรแกรมเช่าใช้งานในรูปแบบต่างๆ

พร้อมกับเปิดบริการแบบระบบสมาชิก (Subscription) เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้งานผ่านโปร Epson EasyCare 360 ทั้งแบบเหมา เหมา ที่ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์งานทั้งสีหรือหรือขาวดำได้สูงสุดถึง 120,000 แผ่น ในระยะเวลา 24 เดือน รับเครื่องที่ใช้อยู่หลังหมดสัญญาในราคาเริ่มต้นเดือนละ 790 บาท หรือโปรแกรม EasyCare 360 Click Charged ที่ให้ผู้ใช้งานจ่ายค่าใช้จ่ายตามการใช้งานที่ใช้งานจริง โดยสามารถเลือกทำสัญญาได้ทั้งแบบเช่า หรือแบบเช่าซื้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น