คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2561-2580) ดันดิจิทัลเป็นหัวหอกหนุนไทยขึ้นท็อป 30 ในการจัดอันดับ World Digital Competitiveness
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2561-2580) ฉบับปรับปรุง โดยมุ่งเน้นการออกแบบกรอบการดำเนินงานตามภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย ในระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2570) ให้สอดคล้องกับการพลวัตทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก และของประเทศไทย รวมทั้งแนวโน้มทิศทางการพัฒนาในอนาคต
สำหรับภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทย ในระยะที่ 3 (Digital Thailand I I : Full Transformation) จะเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ที่มุ่งเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และระยะที่ 2 การทำให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยตั้งเป้าหมายความสำเร็จของกรอบการดำเนินงานในระยะที่ 3 ว่า ภายใน 5 ปี จะสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digital Competitiveness Ranking ขึ้นไปอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน ขณะที่สถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL) ของประชาชนคนไทยมีคะแนนมากกว่า 75 คะแนน
“ในเรื่องนโยบายและแผนระดับชาติด้านการพัฒนาดิจิทัลฯ ของประเทศไทยอยากเน้นย้ำว่าควรให้ความสำคัญควบคู่กันไป ทั้งประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ จะมุ่งเพียงด้านเศรษฐกิจเป็นหลักอย่างเดียวไม่ได้ รวมถึงอยากแนะนำให้มีการประมวลผลเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ โดยทบทวนทุก 2 ปีเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2561-2580) ฉบับปรับปรุงที่เสนอที่ประชุมพิจารณาดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับการกําหนดภูมิทัศน์ดิจิทัล ครอบคลุมไปถึงระยะที่ 4 โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำที่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในระดับโลก (Global Digital Leadership) โดยภายในปี 2580 จะขยับมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศใน World Digital Competitiveness Ranking อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 2 อันดับแรกของอาเซียน และสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy) ของประชาชนคนไทย มีคะแนนมากกว่า 85 คะแนน
ทั้งนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานภายใต้ (ร่าง) นโยบายฉบับปรับปรุงใหม่ โดยมีหลักการนำทาง (Leading Principle) สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล (Data Driven Nation) การสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลรอบด้าน (Digital Resilience) และการให้ภาคเอกชนเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อน และภาครัฐสนับสนุน (Private Lead, Government Support)
ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลสรุปผลศึกษาโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2565 ที่สรุปตัวชี้วัดการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยที่สำคัญเป็นรายมิติตามกรอบตัวชี้วัดของ OECD ที่มีตัวเลขดีขึ้นหลายด้าน ทั้งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 88.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 85.2 ในปี 2564 และมิติการใช้งาน (Use) พบว่าสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยปี 2565 เท่ากับร้อยละ 85.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 84.3 รวมทั้งมิติสังคม (Society) มีสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุช่วง 55-74 ปี ในปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 63.1 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 48.8
อีกทั้งมิติความน่าเชื่อถือ (Trust) พบว่า ผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับร้อยละ 3.4 ลดลง (ดีขึ้น) จากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และมิติการเปิดเสรีของตลาด (Market Openness) พบว่าสัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ สูงถึงร้อยละ 26.3 เทียบกับปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เป็นต้น
นอกจากนี้ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) เพื่อเพิ่มแรงขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาอันดับความสามารถในการแข่งขันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
โดย สดช.ได้ร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ในระยะกลาง 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) และระยะยาว 10 ปี (พ.ศ.2566-2575) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ดังนี้
1) ยกระดับประสิทธิผลของกลไกการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล
2) ส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย โดยหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนคือ ผลักดันให้เกิดการใช้งานแอปพลิเคชัน หรือดิจิทัลคอนเทนต์ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการไทยภายในประเทศ โดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครืองมือสนับสนุน
3) บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เหมาะสม โดยจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้พร้อมรับกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต และนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
4) เสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ ที่ครอบคลุมถึงการผลิตแรงงานให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล ตั้งเป้าหมายสร้างงานจำนวน 4 ล้านคน ภายในระยะเวลา 3 ปี
5) ส่งเสริมกระบวนการ Digital Transformation ในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริม e-Government และ e-Participation ในประเทศไทยในวงกว้าง
พร้อมกันนี้ ยังได้เตรียมหารือเพื่อปรับปรุงแนวทางการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติภายในประเทศ ด้านตัวชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การเก็บชุดข้อมูลมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การจัดอันดับความสามารถของประเทศมีความถูกต้องความแม่นยำขึ้น