เข้าสู่เฟส 2 อย่างเป็นทางการสำหรับ “แอร์เอเชีย ไรด์” (airasia ride) บริการแอปพลิเคชันเรียกรถจากสายการบินแอร์เอเชียที่เปิดให้บริการในไทยตั้งแต่กลางปี 2565 ล่าสุด airasia ride ไม่เพียงประกาศขยายประเภทรถเพิ่มจากเดิมที่ให้บริการเฉพาะแท็กซี่ แต่ยังเติมเชื้อไฟให้สมรภูมิแอปพลิเคชันเรียกรถแดนสยามยิ่งร้อนระอุขึ้นไปอีก ด้วยการชูกลยุทธ์ราคาที่มุ่งมั่นออกแบบมาให้ “มัดใจทั้งลูกค้าและคนขับ” ในประเทศไทย
กลยุทธ์ราคาของ airasia ride ส่งสัญญาณว่าคนไทยจะได้เห็นสงครามราคาในตลาดบริการเรียกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ดุเด็ดเผ็ดมันยิ่งขึ้นในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่จะมีผู้เล่นรายใหม่อย่างโรบินฮู้ด (Robinhood) มาร่วมวงเต็มตัวหลังจากประกาศว่าวางแผนเริ่มชิมลางตลาดช่วงปลายปี 65 โดย airasia ride และ Robinhood นั้นเป็น 2 ใน 6 รายที่กรมการขนส่งทางบกได้ให้การรับรองแอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วเมื่อกลางพฤศจิกายน 2565 ส่วนอีก 4 รายที่เหลือคือ ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส (Hello Phuket Service) บอนกุ (Bonku) เอเชีย แค็บ (Asia Cab) และแกร็บ (Grab)
ความมั่นใจที่ทำให้ airasia ride กล้าตะโกนเสียงดัง มาจากการเป็น “บริการเรียกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปถูกกฏหมายในไทยเพียงแห่งเดียวที่ทำธุรกิจด้านการบินด้วย” ทำให้ airasia เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะได้รับความสะดวกสบายเพราะสามารถจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรมและใช้บริการเรียกรถรับส่งได้ในแพลตฟอร์มเดียวบน airasia Super App กลายเป็นประสบการณ์เดินทางแบบครบวงจรสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้ airasia ride ขอคิดค่าคอมมิชชันจากค่าธรรมเนียมการใช้แอปพลิเคชันเริ่มต้น 15% เท่านั้น
***ราคาถูกที่สุดนาทีนี้
น ส.ณัฏฐิณี ตะวันชุลี ผู้อำนวยการใหญ่ airasia Super App ประจำประเทศไทย กล่าวว่า airasia ride ให้บริการเรียกรถแท็กซี่รับส่งคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลในไทยตั้งแต่พฤษภาคม 2565 เมื่อได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งฯ ในการให้บริการเรียกรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน บริษัทจึงต้องการสื่อสารว่านอกจากสายการบินแล้ว airasia ยังมีอีกหลายบริการ
ที่สำคัญ ณัฏฐิณี ชี้ว่า airasia ride จะเป็นบริการแรกที่มีการโฆษณาผ่านสื่อทีวี พร้อมกับมีแผนโฆษณาทั้งบนจอ LED ในอาคาร ลิฟต์ และพื้นที่นอกอาคาร พร้อมกับเน้นกลยุทธ์กำหนดราคาที่โดนใจ
“วันนี้บริษัทได้เพิ่มการให้บริการเรียกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันที่ถูกกฎหมาย เป็นทางเลือกที่พร้อมสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางสำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยราคาที่เหมาะสมและบริการที่คำนึงถึงความต้องการของผู้โดยสารเป็นหลัก” ณัฏฐิณี ระบุ “ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ชี้ว่าคนกรุงหมดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางมาเป็นอันดับ 3 รองจากค่าอาหารและที่อยู่อาศัย ด้วยเหตุนี้เราเชื่อว่าการกำหนดราคาแบบสมเหตุสมผลจะช่วยให้ทั้งคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถเข้าถึงและวางแผนการเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ราบรื่นไร้รอยต่อและลดภาระค่าครองชีพได้”
airasia ride ไม่ได้หวังลดภาระค่าครองชีพคนไทยเท่านั้น แต่วางเป้าไปถึงนักท่องเที่ยว เพราะการเริ่มจากการเป็นเจ้าของสายการบิน airasia ride จึงต้องการเป็นส่วนเติมเต็มให้แอร์เอเชียให้บริการได้ครบวง (ลูป) ทั้งทางอากาศและทางบก เชื่อว่าลูกค้าหลักคือกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองหลัก โดยที่ผ่านมา airasia ride มีฐานลูกค้าไทยคิดเป็น 50% และต่างชาติอีก 50% ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว
กลยุทธ์หลักของ airasia ride ในตลาดไทยคือการตอบความต้องการของพันธมิตร 2 ฝ่าย คือ ทั้งผู้โดยสารและผู้ขับ ความต้องการให้ทุกฝ่ายพอใจทำให้ airasia ride คิดค่าธรรมเนียมใช้แอปพลิเคชัน 15% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าทุกค่ายในขณะนี้
ในฝั่งคนขับ airasia ride มีรูปแบบการการันตีรายได้จุดนี้แอร์เอเชียเชื่อว่าผลตอบแทนที่ตอบโจทย์คนขับจะช่วยให้คนขับนำเสนอแบรนด์แอร์เอเชียในเชิงบวกซึ่งจะเสริมกับภาพความน่าเชื่อถือของแบรนด์ที่ให้บริการสายการบินมานานกว่า 20 ปี ทั้งหมดจะเป็นแต้มต่อให้ airasia ride สู้ได้ด้วยค่าบริการที่ไม่สูงและลูกค้าจ่ายได้
***เลือกคนขับได้
ไม่เพียงราคา airasia ride หวังจะตอบความต้องการเชิงลึกในมุมของลูกค้าด้วยการเปิดตัว 3 ฟีเจอร์ด้านการระบุคนขับซึ่งล้วนเกิดจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้โดยสารชาวไทยจนพบว่า ผู้โดยสารมากกว่า 73% จะมีความพึงพอใจมากขึ้นในการใช้บริการเมื่อสามารถระบุคนขับที่ตรงกับความต้องการได้เช่น คนขับผู้หญิง คนขับที่ไม่ชวนคุย และคนขับที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
airasia ride ชี้ว่า 76% ของผู้โดยสารผู้หญิง และต่างชาติรู้สึกพึงพอใจเมื่อสามารถขอเรียกคนขับที่เป็นผู้หญิงได้ โดย 92% ต้องการให้คนขับผู้หญิงในช่วงเวลาหลัง 2 ทุ่ม (20.00-01.00 น.) มากที่สุด นอกจากนี้ 100% ของผู้โดยสารชาวไทยยังพึงพอใจเมื่อสามารถเลือกคนขับที่สงบเงียบให้ความเป็นส่วนตัวขณะเดินทาง จุดนี้พบว่ากว่า 50% ของกลุ่มที่เลือกคนขับเงียบคือคนทำงาน และ 76% ต้องการความเป็นส่วนตัวในขณะนั่งรถโดยสาร เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการคุยประเด็นสุ่มเสี่ยง และต้องการผ่อนคลายระหว่างเดินทาง
สำหรับคนขับที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ การศึกษาพบว่านักท่องเที่ยว 100% พึงพอใจเมื่อสามารถระบุคนขับที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ โดย 81% ของนักท่องเที่ยวมีความกังวลใจเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษกับคนขับในขณะเดินทางสูงเป็นอันดับ 1
ทั้งนี้ บริการรถยนต์ของ airasia ride จะประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รถ Economy ขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง (ไซส์ S) รถคอมแพกต์ ขนาด 4 ที่นั่ง (ไซส์ M) รถพรีเมียม และ SUV ขนาด 6 ที่นั่ง (ไซส์ L) โดยได้ประกาศรับสมัครพาร์ตเนอร์คนขับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้วด้วยจุดขายการไม่ได้ให้แค่เงินแต่ให้ความรู้และโอกาสคู่ไปด้วย โดยหากขับได้ตามเป้าที่กำหนดจะไม่เพียงมีเงินอัดฉีดเพิ่มอีก เพราะผู้ขับกลุ่มนี้จะได้สิทธิเห็นงานก่อนกลุ่มอื่น กลายเป็นโอกาสทำรายได้สำเร็จตามเป้าหมายที่คนขับวางแผนไว้
โอกาสใหญ่ที่ airasia ride ชูขึ้นมาคือภาวะที่ปี 2566 มีแนวโน้มเป็นปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวเต็มที่คาดการณ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยไม่ต่ำกว่า 18 ล้านคน และอาจสูงถึง 30 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นกับกลยุทธ์ด้านราคาของ airasia ride จึงจะมอบประโยชน์และโอกาสให้คนขับที่เข้าร่วมเป็นคนขับของ airasia rideทั้งประเภทคนขับอิสระ และคนขับประเภท Private Plus
airasia ride อ้างผลการศึกษาพบว่า คนขับรถรับจ้างมักจะต้องเผชิญแรงกดดันและความเครียดในหลายด้าน เช่น กฎ กติกา ข้อปฏิบัติ และค่าธรรมเนียม แต่โปรแกรมคนขับไพรเวทพลัส (Private Plus) ของ airasia ride ถูกออกแบบมาให้แก้ปัญหา พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนขับผ่านการแนะแนวและสนับสนุนโดยทีมงานมืออาชีพ เพื่อให้คนขับสามารถทำผลงานได้ดี นำไปสู่การสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง โดยคนขับที่เข้าร่วมโปรแกรม Private Plus จะได้รับรายได้จากค่าโดยสารมากกว่า 80% และยังสามารถเลือกช่วงเวลาในการทำงานเพื่อให้ครบจำนวนชั่วโมง ซึ่งนำไปสู่อัตราความสำเร็จที่ทางทีมงานได้แนะนำและวางกลยุทธ์ไว้
ขณะนี้โปรแกรมคนขับ Private Plus ได้เปิดรับพาร์ตเนอร์คนขับพร้อมการการันตีรายได้ถึง 8,500 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 50,000 บาทต่อเดือน รวมเงินพิเศษ ซึ่งจะช่วยในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างความมั่นคงให้ทีมคนขับในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน
***มั่นใจดีมานด์มาก คู่แข่งน้อย
ณัฏฐิณีประเมินการแข่งขันของ airasia ride ในอนาคตว่า แม้จะมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งอยู่ในตลาดแล้ว แต่ความต้องการบริการนั้นมีสูงมาก จึงมองว่ายังมีโอกาส เนื่องจาก airasia ride ต้องการเติมเต็มการเดินทางของลูกค้าจากทางอากาศและพื้นดินให้สมบูรณ์ ซึ่งแปลว่ายังมีพื้นที่ให้แอร์เอเชียบริการลูกค้าอยู่ดี
“ลูกค้ามีชัดเจน เรารู้ว่าต้องการให้บริการกลุ่มนี้ รู้ว่าต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายแฮปปี้ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้นมากเป็นอันดับ 3 รองจากอาหารและที่พัก ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของเราอยู่แล้วในการกำหนดราคาที่จับต้องได้ เราต้องการให้พันธมิตรทำงานกับเราและได้รับรายได้ มีผลตอบแทน และแรงจูงใจ ถ้าทุกฝ่ายแฮปปี้ เราก็แฮปปี้”
ผู้บริหาร airasia ride ย้ำว่าเกณฑ์การเลือกคนขับแบบการันตีรายได้นั้นจะ “คัดเลือกที่ใจ” ขอเพียงมีอายุ 22 ปีขึ้นไป มีใจพร้อมบริการ ศาสนาใดก็ได้ และต้องมีรถที่ระบุชื่อที่ตรงกับหลักฐานการสมัคร โดยผู้สมัครจะต้องเปลี่ยนใบขับขี่จากบุคคลธรรมดา มาเป็นใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และขณะนี้ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ยังต้องรอเวลาเพิ่มยอดการสมัครที่จะจำกัดจำนวนในอนาคต คาดว่าพันธมิตรกลุ่ม Private Plus จะมีสัดส่วนราว 10% ของจำนวนรวมคนขับที่มีในประเทศไทย
สำหรับประเด็นค่าตอบแทนคนขับไทยที่ไม่สูงเท่าคนขับในมาเลเซีย ผู้บริหารระบุว่า เป็นผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งแม้ไม่ตรงกันแต่มองว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับมาเลเชีย
***ไม่มีสวัสดิการพนักงานประจำ
หากย้อนไปช่วงปลายกันยายน 2565 แอร์เอเชียได้จัดงานเปิดตัว airasia ride ในฐานะส่วนหนึ่งของ airasia Super App ซึ่งมีงานรองรับคนขับทั้งส่วน airasia food และ airasia xpress ทั้ง 2 บริการนี้มีการเสนอให้คนขับมาเป็นพนักงานประจำในมาเลเซียตั้งแต่สิงหาคม 65 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม CSR ตอบเเทนสังคมของ airasia Super App
ในอีกด้าน airasia ride ได้เสนอโปรแกรมเพิ่มเติมมาจากคนขับที่มีสัญญา (Contract Drivers Program) และพาร์ตเนอร์คนขับอิสระ (Independent Drivers program) โดยขีดเส้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 65 ให้คนขับที่ผ่านการรับรองในระบบและผู้ขับรายใหม่จะสามารถเข้าร่วมโครงการ Allstar Ride Hailing Driver หรือการว่าจ้างพนักงานอิสระสู่งานประจำได้ในมาเลเซีย ซึ่งคนขับที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนที่ช่วยให้มีรายได้ขั้นพื้นฐานต่อเดือน อีกทั้งยังมีสวัสดิการค่าน้ำมัน มีสิทธิได้ผลประโยชน์จากสวัสดิการ Allstar เช่นเดียวกับพนักงานประจำ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม ประกันรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมถึงบุตรและคู่สมรส วันหยุดประจำปี ตลอดจนส่วนลดการเดินทางสำหรับพนักงานที่เดินทางกับสายการบินของบริษัท
รายละเอียดสวัสดิการนี้ใช้กับมาเลเซียเป็นประเทศแรก และโปรแกรมมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคและประเทศ ดังนั้น ผู้ขับ airasia ride ในไทยจึงไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้
ณัฏฐิณีทิ้งท้ายว่า แม้จะเก็บค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าตลาด 15% แต่ airasia ride มั่นใจว่าบริษัทยังมีโอกาสในการทำกำไรอยู่ เชื่อว่ารายได้ 15% นี้จะหล่อเลี้ยงบริการให้เติบโตต่อไปได้บนระดับราคาที่ผู้บริโภคจ่ายได้ โดยบริษัทต้องการสร้างการรับรู้ ว่า แอร์เอเชียไม่ได้มีเฉพาะบริการจองตั๋วเครื่องบินหรือโรงแรม แต่ได้ขยายไปบริการขนส่งทั้งรถบัส รถไฟ และเรือเฟอร์รี่แล้ว
“แผนการลงทุนในไทยช่วงปีหน้าจะอยู่ที่แกนหลักคือ เทคโนโลยี เราจะลงทุนกับแพลตฟอร์ม มีการจ้างงานวิศวกรด้านข้อมูลเกิน 100 รายในปีที่ผ่านมา นอกจากการลงทุนในแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง airasia ride จะพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ความต้องการผู้บริโภค เรามีพื้นฐานสายการบินมาก่อน รู้ว่านักเดินทางมีพฤติกรรมอย่างไร มีจุดเจ็บปวดอย่างไร เราจะเน้นขยายและเรียนรู้เพื่อใส่ฟีเจอร์ใหม่ เพื่อให้ความสำคัญกับธุรกิจใหม่ที่ต้องการสร้างการเจริญเติบโต”
นอกจากจะมัดใจคนไทย airasia ride ยังมีแผนขยายบริการให้คลุมทุกพื้นที่ที่บริษัทให้บริการเที่ยวบิน เชื่อว่าถึงเวลานั้นสงครามราคาก็จะถูกระเบิดขึ้นอีกแน่นอน