เอไอเอส (AIS) ประกาศเป้าหมายหวังเป็นศูนย์กลางจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย เริ่มเฟส 2 พลิกโฉมระบบนิเวศการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) บนแพลตฟอร์ม “อีเวสต์พลัส” (E-Waste+) ซึ่งจะทำให้ผู้ทิ้งติดตามได้ว่าขยะอยู่ไหนและขยะที่ทิ้งไปนั้นช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าใด หวังเฟส 3 ขยายผลรองรับขยะชิ้นใหญ่ เช่น ตู้เย็น หรืออุปกรณ์ไอทีในสำนักงาน คาดไตรมาส 3 ปีหน้าเปิดมอบคะแนนลดคาร์บอนผ่านแพลตฟอร์มได้หลายค่ายโดยไม่ต้องเป็นลูกค้า AIS วางเป้าเพิ่มปริมาณขยะจาก 397,376 ชิ้นในขณะนี้ เป็น 5 แสนชิ้นในปี 2566
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า เอไอเอสเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลเซอร์วิสโพรไวเดอร์ ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดขยะและรีไซเคิลขยะจากกระบวนการธุรกิจ เอไอเอสจึงสร้างการรับรู้มาตั้งแต่ปี 2019 อย่างไรก็ตาม การรับรู้นั้นไม่เพียงพอ เพราะจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนเป็นอีโคซิสเต็ม ทั้งการเพิ่มจุดทิ้ง การทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างความร่วมมือสีเขียวที่จะขับเคลื่อนจากการรับรู้มาสู่พฤติกรรม ล่าสุด เอไอเอสได้นำโครงข่ายของตัวเองมาผสานกับเทคโนโลยีบล็อกเชน มาพัฒนากระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ผู้ทิ้งจนถึงโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น และเห็นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บนแพลตฟอร์ม E-Waste+
"นี่คือบล็อกเชนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถทำให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ทำได้ละเอียด รวมถึงติดตามขยะว่าอยู่ที่ไหน และได้รู้ข้อมูลว่าผู้ทิ้งได้ช่วยอะไรกับโลก รู้ว่ามีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ และจะเปลี่ยนกลับมาเป็นผลตอบแทนได้"
เหตุที่ทำให้เอไอเอสวางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ มาจากสถานการณ์โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วน สิ่งที่ตามมาคือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานดิจิทัลมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้น เอไอเอสจึงทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงโทษภัยของขยะ E-Waste ในขณะเดียวกัน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดเก็บและทำลาย E-Waste อย่างถูกวิธี ทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ตั้งจุดรับทิ้ง และนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
เฟสแรกของพันธกิจนี้ คือ การพัฒนา Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน สร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ภายใต้ภารกิจ “คนไทยไร้ E-Waste” เบ็ดเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2019 กว่า 142 พันธมิตรได้เข้าร่วมในโครงการนี้ เกิดเป็น 2,484 จุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมจำนวนขยะ 397,376 ชิ้นที่ไปได้จากทั้งซาเล้งเก็บของเก่า และแคมเปญขยะแลกไข่เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจในการทิ้ง
ล่าสุด โครงการนี้เข้าเฟส 2 โดยเอไอเอสตัดสินใจนำศักยภาพ 5G อัจฉริยะมาปรุงเข้ากับเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ผู้ทิ้งจนถึงโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน หากใครเห็นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนแพลตฟอร์ม E-Waste+ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแพลตฟอร์มนี้จะเริ่มใช้งานจริงกับ 6 องค์กรนำร่อง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน และยังทำงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนแนวทางการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการรีไซเคิล E-Waste อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล
บทบาทสำคัญของแพลตฟอร์ม E-Waste+ คือการเพิ่มการมีส่วนร่วมในวงกว้างมากขึ้น เอไอเอสเชื่อว่านี่คือการขยายผลไปอีกขั้นด้วยการ Redesign Ecosystem เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถลงมือบริหารจัดการ E-Waste ในองค์กรเองได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายพนักงานและลูกค้าของแต่ละองค์กร เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะ E-Waste กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม E-Waste+ โดยเทคโนโลยี Blockchain จะทำงานผ่านกระบวนการ Track and Trace ทำให้ขยะ E-waste ทุกชิ้นสามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ จากนั้นจะคำนวณขยะ E-Waste ที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าการทิ้งชยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด
“เบื้องต้น เราได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรเครือข่าย Green Partnership ทั้ง 6 องค์กรที่จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสผ่าน Blockchain ประกอบไปด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ที่จะเข้ามาเริ่มใช้แพลตฟอร์ม E-Waste+ เพื่อส่งต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคมในวงกว้างต่อไป”
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS กล่าวเสริมว่า AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัลที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ทำให้บริษัทมองโอกาสและเห็นขีดความสามารถของ Blockchain ในการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในทางธุรกิจ ซึ่งแพลตฟอร์ม E-Waste + เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม
"ถ้าอยากให้ยั่งยืน จะต้องทำมากกว่านี้" อราคิน ระบุ” ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นโจทก์ร่วม ต้องใช้เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน เพื่อให้โปร่งใสและมีข้อมูลชัดเจนว่าไม่ใช่ AIS เอาขยะไปขายกิน เมื่อบล็อกเชนเข้ามา ทุกคนจะวางใจได้ และสามารถสร้างวงจรให้ดีมานด์และซัปพลายไปในทางเดียวกัน”
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้จะเป็นผลดีกับประเทศไทย ที่ได้ประกาศพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP27) ทั้งการปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย และเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ค.ศ.2030 ให้สอดคล้องกับการยกระดับเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 ในทุกสาขา
ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ.2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี ค.ศ.2040